ถ้าพูดถึงงาน Big Bad Wolf สำหรับนักอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ คงรู้จักกันดีในฐานะงานมหกรรมหนังสือต่างประเทศที่นำมาจำหน่ายในราคาประหยัด แทบไม่แตกต่างจากราคาหนังสือของไทย

แล้วอยากรู้ไหมว่ามหกรรมBig Bad Wolf Bangkok มีรายได้เท่าไรในแต่ละปี

รายได้งาน Big Bad Wolf Bangkok 2559 183,791,091.88 2560 199,538,255.52 ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ รายได้จาก บริษัท เรดดี้ ทูรี๊ด จำกัด

เมื่อดูจากรายได้ที่บริษัท เรดดี้ ทูรี๊ด ผู้จัดงานBig Bad Wolf Bangkok ที่แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ พบว่าเพียงมหกรรมขายหนังสือต่างประเทศเพียงปีละไม่กี่วัน จะทำรายได้เกือบ 200 ล้านบาท

เพราะอะไร

1. หนังสือลดราคา 60-80% จุดขายหลัก

จุดเด่นของมหกรรมหนังสือBig Bad Wolf Bangkok คือหนังสือต่างประเทศมือหนึ่งลดราคาพิเศษสูงสุด 60-80% และเป็นหนังสือที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือต่างประเทศทั่วๆ ไปอย่างเช่นเอเชียบุ๊คส คิโนะคูนิยะ และอื่นๆ

โดยสิ่งที่ทำให้งาน Big Bad Wolfสามารถทำให้ราคาหนังสือต่ำลงได้มาจากปริมาณการสั่งซื้อจำนวนมากๆ จากสำนักพิมพ์ และเกิดพลังในการต่อรองราคาจำหน่าย และการสั่งซื้อหนังสือบางประเภทจำนวนมากๆ เหมือนๆ กันทุกปี ทำให้สำนักพิมพ์มีต้นทุนในการพิมพ์หนังสือที่ถูกลงด้วย

ซึ่งการมาของ Big Bad Wolf Bangkok ในประเทศไทยถือว่าไม่มีคู่แข่งโดยตรง เพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่เรือร้านหนังสือลอยน้ำ Hogos Hope เรือขนาดใหญ่ที่บรรจุหนังสือภาษาอังกฤษมากกว่า 7,000 รายการ เดินทางไปยังประเทศต่างๆ และจอดแวะขายหนังสือในราคาประหยัดให้กับนักอ่านทั่วโลก เลิกเข้ามาแวะจอดขายหนังสือในประเทศไทยพอดี

2. หนังสือมากกว่า 3 ล้านเล่ม

สิ่งที่สร้างรายได้ให้กับ Big Bad Wolfอย่างดีอีกอย่างหนึ่งคือ ความหลากหลายของหนังสือที่มีมากกว่า 3 ล้านเล่ม 40 ประเภท ด้วยความหลากหลายของหนังสือที่มี ทำให้นักอ่านที่เข้ามาชอปเกิดภาวะเลือกไม่ถูก และกวาดหนังสือที่ต้องการมาทุกเล่มแทน

แต่จุดด้อยของงานนี้คือ หนังสือที่นำมาจำหน่ายในทุกๆ ปีส่วนหนึ่งจะเป็นหนังสือที่เคยนำมาจำหน่ายแล้ว ทำให้นักอ่านที่เข้ามาเลือกซื้อหนังสือเป็นประจำทุกปีอาจจะไม่ซื้อหนังสือเหวี่ยงแหเป็นจำนวนมากๆ เหมือนในปีแรกๆ

3.ใช้สื่อออนไลน์และกระแสราคาถูกในการสร้างกระแสมหกรรมหนังสือBig Bad Wolf

Big Bad Wolf เน้นการใช้สื่อออนไลน์เป็นสื่อหลักในการโปรโมตงาน ผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเองในการโปรโมตงาน และโปรโมชั่น และอาศัยพฤติกรรมคนไทยที่ชอบรีวิว โพสต์รูปสินค้าที่ซื้อมาในโลกโชเชียลตอกย้ำไลฟ์สไตล์ของตัวเอง และแม่ค้าที่ทำธุรกิจรับหิ้วสินค้าลดราคาช่วยโปรโมตงานและสร้างกระแสในวงกว้างให้เกิดแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียเงิน

4. เลือกทำเลเมืองทองเปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง

Big Bad Wolfใช้เมืองทองธานีเป็นสถานที่จัดงาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการจัดงานอีเวนต์อยู่เสมอ ทำให้ได้ลูกค้าที่มาจากงานอีเวนต์อื่นๆ แวะเข้ามาด้วย

และจุดเด่นที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ Big Bad Wolf เปิดขายตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นโมเดลมหกรรมขายสินค้าที่แตกต่างจากมหกรรมอื่นๆ  

Marketeer เชื่อว่าการที่ Big Bad Wolfเลือกเปิดขาย 24 ชั่วโมง เพราะมองว่าค่าเช่าสถานที่เปิดขายในช่วงกลางคืนด้วยมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับโอกาสจากพฤติกรรมผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีเวลาว่างเฉพาะตอนกลางคืน และผู้บริโภคที่ต้องการเลี่ยงรถติดในเมืองทองในช่วงเวลากลางวันที่มีการจัดอีเวนต์หลายๆ งานพร้อมกัน

ซึ่งกลยุทธ์เปิดขาย 24 ชั่วโมงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ Marketeer มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งาน Big Bad Wolfแจ้งเกิดในปีแรกด้วย

เมื่อพูดถึงกลยุทธ์ประสบความสำเร็จของงานนี้แล้ว Marketeer ขอเล่าถึงที่มาที่ไปของมหกรรมนี้เล็กน้อย

Big Bad Wolfเป็นงานมหกรรมหนังสือจากประเทศมาเลเซีย เริ่มต้นในปี 2552 จากดาตารัน ฮาโมดิล เจ้าของร้านหนังสือ BookXceed ที่ต้องการให้คนมาเลเซียเข้าถึงภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น และได้จัดเป็นมหกรรมหนังสือภาษาอังกฤษลดราคาสูงสุดขึ้นมา และตั้งชื่อว่า Big Bad Wolf

ซึ่งในปีแรก Big Bad Wolfถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จนมีการร่วมมือกับนักธุรกิจประเทศต่างๆ นำมหกรรมนี้ไปยังในประเทศของตัวเอง

ในประเทศไทยBig Bad Wolf Bangkok เป็นงานมหกรรมหนังสือที่จัดโดยบริษัท เรดดี้ ทูรี๊ด จำกัด ของสุรเชษฐ วรวงศ์วสุ ทายาทเจ้าของโรงแรม เอทัส โฮลเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์

Big Bad WolfBangkok เข้ามาในประเทศไทยหลังจาก สุรเชษฐ วรวงศ์วสุ ได้เห็นงาน Big Bad Wolfที่มาเลเซีย และเกิดแนวคิดการนำมหกรรมนี้เข้ามาจัดในประเทศไทยในปี 2559 จากความต้องการเห็นคนไทยอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น

อ่านคอนเทนต์การตลาด อ่าน MarketeerOnline.co

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
WebsiteMarketeeronline.co / Facebookwww.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online