เวลากาแฟ โดย วิรัตน์ แสงทองคำ

ผมเคยว่าไว้ “ในช่วงเดินทาง  เวลาแวะดื่มกาแฟข้างทาง เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ค้นพบเรื่องราวที่มีสีสันเสมอ” (จากตอน เวลาเดินทาง กับร้านกาแฟอิสระ” ) ดูจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ  ยิ่งเดินทาง ดูจะยิ่งมีมิติกว่าที่คิด

ครานั้น เน้นเล่ากล่าวถึงฉากและตอนจุดประกายและเชื่อมโยงประสบการณ์กว้างๆ ของผู้ประกอบการใหม่ “เรื่องราวอันเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ แรงขับเคลื่อน โดยคนหนุ่มสาว ในฐานะ Startups บ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ  (Entrepreneurship)…. ให้บทเรียนและทักษะองค์รวม (Holistic approach) แห่งยุคสมัย เป็นวงจรอันซับซ้อนและมีค่า ตั้งแต่การออกแบบใหม่ (ทั้ง Business model และ Service design) กระบวนการกาแฟอันซับซ้อนทั้งการจัดหา การทำ การควบคุมคุณภาพ  จนถึงการบริการลูกค้า… สัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ผู้คน … ร้านกาแฟนับหมื่นๆ แห่งเกิดขึ้นทุกวัน และอาจมีอันเป็นไปทุกวัน สิ่งที่คงอยู่ คือผลึกประสบการณ์ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ … มั่นใจจะก้าวต่อไป และข้ามพรมแดนไปสู่ธุรกิจอื่นๆ”

โอกาสขับรถเดินทางไปไหนๆ มีมากขึ้น ไม่ว่าธุระ ท่องเที่ยว หรือเยี่ยมเยือนญาติมิตร โดยเฉพาะตามหัวเมืองและชุมชนต่างจังหวัด แม้มีจุดหมายปลายทางแน่ชัด แต่ก็ยินดีให้บางสิ่งพาไปเผชิญ ผจญ ความแปลกใหม่ Google map มักพาผ่านเส้นทางไม่คุ้นเคย  บางที่เปลี่ยวสู่ถนนสายเล็กเพี่อลัดทาง

เรื่องตื่นเต้นเป็นพิเศษมาเยือน เมื่อ “เวลากาแฟ” จะมาถึงในช่วงสายๆ พึ่งพา App ค้นหาคาเฟ่รายทางข้างหน้าระยะกระชั้น ไม่อ้างอิงคู่มือ คำแนะนำ จัดอันดับออนไลน์ใดๆ แค่อาศัยสัญชาตญาณตัวเอง สัมผัส ชื่อ แบรนด์ หรือตำแหน่ง ซึ่งสะดุดใน Google map บ่อยครั้งมาถึง บางที่ก็ต้องโฉบผ่านเลย บางครั้งได้แวะที่ที่ไม่อยู่ในนั้น

กฎเหล็กของการเล่าเรื่อง “เวลากาแฟ” อันเผชิญผจญ ด้วยนับถือความเป็นปัจเจก ผู้เดินทาง คอกาแฟ และผู้อ่าน จึงไม่อาจคิดเอาเองว่า มี Top list คาเฟ่ และไม่ขอตั้งตนเป็นผู้รู้รสเลิศกาแฟให้ดาวที่ใดเพื่อเชิญชวนลิ้มลอง ขณะตั้งใจและพยายามแสวงหาภาพ แม้เป็นเพียงชิ้นส่วน เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ เพื่อจับต้องจินตนาการ แรงบันดาลใจ บรรดาผู้คนธรรมดาสามัญซึ่งพานพบมากมาย

ภาพนั้นไม่ได้บรรจงวาดให้ดูดี หากตั้งใจสัมผัสเรื่องราวท้าทาย สปิริตผู้ไขว่คว้า เผชิญความเสี่ยง สนุกและผจญภัยในการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการทดลอง ลองผิดลองถูก หลายกรณีเพิ่งจะเริ่มต้น ไม่มีจุดตัด ยังไม่อาจมีบทสรุป

ที่นั่น ที่ใด ไม่สำคัญ เท่าเรื่องราวซึ่งมี “บางสิ่ง” ซ่อนอยู่ ให้ผู้อ่านเผชิญผจญเช่นกัน

สายๆ ปลายฤดูหนาว การเดินเล่นริมโขงนับกิโลช่างน่ารื่นรมย์ สัมผัสชุมชนเล็กๆ หมุดหมายนักท่องเที่ยวยอดนิยม เช้าๆ ดูเงียบสงบ ผิดกับย่ำค่ำคลาคล่ำผู้คนอย่างเมื่อวาน ฉากที่ลงตัวด้วยปลายทางมีคาเฟ่สุดท้ายเหลืออยู่ให้นั่งพัก หลังจากเดินผ่านมาหลายต่อหลายแห่ง กายสัมผัสสายลมแผ่ว ตาสัมผัสสายน้ำไหลเอื่อย แม้จะนั่งนานไปหน่อย บาริสต้าใช้ชีวิตช้าๆ เช่นกัน กว่าเธอจะมา ทำประหนึ่งให้ผู้รอ คอกาแฟ ปรับตัวให้เข้ากับจังหวะชีวิตตามช่วงเวลาของวัน สัมผัสอย่างเนิ่นนาน เข้าถึงกับหลายสิ่ง รวมทั้งคาเฟ่เรือนไม้กะทัดรัด บุคลิกสะท้อนชุมชนอนุรักษ์ยุคสมัย (ภาพ 1-3)

Virat-1-15Mar19
ภาพ 1
Virat-2-15Mar19
ภาพ 2
Virat-3-15Mar19
ภาพ 3

แตกต่างจากอีกที่ หัวเมืองใหญ่คึกคักพอควร มีคาเฟ่เล็กๆ ณ ตำแหน่งที่น่าสนใจใกล้หอพักนักศึกษา ผู้คนเกือบเต็มร้านเหมือนขาประจำ ประจำที่ ดูเงียบๆ แต่ขะมักเขม้น คอกาแฟจดจ่อกับโน้ตบุ๊ก พวกเขาและเธอดูจะใช้เวลากาแฟคุ้มค่าจริงๆ  บาริสต้าวัยเดียวกันทำงานกระฉับกระเฉง อดไม่ได้จึงยิงคำถามแบบรายการทอล์กโชว์ “บาริสต้าเป็นอาชีพในฝันไหม?” เธอยิ้ม กลั้นหัวเราะและส่ายหัว “หนูเป็นนักศึกษาเช่นกัน แค่มาหารายได้พิเศษ ทำงานบางช่วงที่ว่างค่ะ”  เพิ่งจะรู้ว่า บางทีคอกาแฟกับบาริสต้าสามารถสลับร่างกันได้

จากนั้นพุ่งความสนใจกาแฟเอสเพรสโซ่ จากออเดอร์แบบฉบับ กลับมีน้ำร้อนครึ่งแก้วกับขวดหยอดไซรัปมาด้วย (ภาพ 4) ไม่ได้ถามอีก เดาเอาว่าคงเป็นบริการ “2 in 1” เผื่อคอกาแฟเปลี่ยนใจ ก็ปรับเป็นอเมริกาโน่ได้ แค่เติมน้ำ ส่วนความหวานเติมได้ตามชอบ

Virat-4-15Mar19
ภาพ 4

เส้นทาง “เวลากาแฟ” ตื่นเต้นยิ่งขึ้น มีเรื่องราวเข้มข้นขึ้น เมื่อมาอยู่บนทางสายเปลี่ยว และห่างไกล

ถนนชนบทหมายเลข 4 ตัว ในภาคอีสานเหนือ ผ่านชุนชนเล็กตามรายทาง ฉากหลังเป็นแนวเขาลดหลั่น พืชพันธุ์เขียวเข้มปกคลุมเป็นส่วนใหญ่  ดูใกล้ๆ ทิวแถวสูงครึ้มเป็นป่ายางพารา ลดระดับลงมาคือสวนกาแฟ ริมทางโค้งซึ่งรถต้องชะลอ พบร้านกาแฟเล็กมากๆ ประหนึ่งเป็นเพิงริมทางกลมกลืนกับชุมชน แต่สิ่งโดดเด่นเป็นโลโก้ซึ่งสะท้อนความตั้งใจและมั่นใจ

บทสนทนากับคนบนโลโก้เป็นกันเอง ทั้งสนุกและตื่นเต้น ที่มาคาเฟ่เล็ก เป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับเขา จากฉากต่อสู้เพื่อ “แบรนด์” เพิ่งจะรู้ว่า “กาแฟนายูง” กาแฟอีสาน เพิ่งจะรู้จัก มี 2 แบรนด์ที่แตกต่าง  สู่เรื่องสำคัญกว่า การพัฒนา ยกระดับคุณค่ากาแฟโดยเกษตรกรท้องถิ่น ช่างเป็นไปอย่างกระตือรือร้น มีความซับซ้อนและหลากหลายอย่างเหลือเชื่อ ดูป้ายเมนู (ภาพ 5) คงจะพอเห็นเค้าโครงน่าทึ่ง ก่อนจะไปถึงบางภาพเชิงขยาย (ภาพ 6-7) อย่าง “กาแฟขี้ชะมดบ้าน” จากจุดเปลี่ยน (เมล็ดกาแฟเพิ่งผ่านกระบวนการโดยชะมดเลี้ยง) สู่ปลายทาง

Virat-5-15Mar19
ภาพ 5
Virat-6-15Mar19
ภาพ 6
Virat-7-15Mar19
ภาพ 7

จากอีสานเหนือ สู่สะดืออีสาน (ขนานนาม มหาสารคาม จังหวัดเดียวในภาคอีสานที่ไม่มีภูเขา) ไปยังทุ่งชนบท ห่างไกลพอสมควร ที่อยู่ใกล้ที่สุด ประมาณ 13 กิโลเมตรคือ พระธาตุนาดูน หมายหมุดท่องเที่ยวสักการะ และที่แห่งนี้ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 50 กิโลเมตร ที่สำคัญห่างจากต้นธารกาแฟถึง 800 กิโลเมตร

ศูนย์เลี้ยงช้างเร่ร่อนที่นี่ เชื่อมโยงกับแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้า บ้านสันเจริญ ดอยสวนยาหลวง (เพิ่งนำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว “เรื่องราวกาแฟน่าน”) นำผลกาแฟสุกได้ที่ (เรียกว่าเชอรี่) จากภาคเหนือสู่อีสานใช้เวลาเดินทางกว่า 12 ชั่วโมง ให้มาผ่านกระบวนการธรรมชาติโดยช้าง ให้กลายเป็น “กาแฟขี้ช้าง” (ภาพ 8-9) ถือเป็นตอนต่อตำนาน “กาแฟขี้ช้าง” ซึ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกในโลก ณ ภาคเหนือสุดของไทย (เชียงราย) ก่อนจะมาถึงสะดืออีสาน

Virat-8-15Mar19
ภาพ 8
Virat-9-15Mar19
ภาพ 9

“เวลากาแฟ “ขี้ช้าง เกิดขึ้นท่ามกลางฝุ่นพิษปกคลุมทั่วอีสาน Google map พาหลงทาง (มักเป็นทางมีผู้ใช้น้อย) พอเป็นพิธี กว่าจะไปถึง มาถึงก่อนพายุฝนครั้งแรกๆ ของปีที่มาเยือน ขากลับพบร่องรอยน้ำจากฟ้าฝน ป้ายหาเสียงล้มระเนระนาด ขณะนำความชุ่มเย็นมาให้ พัดพาฝุ่นเตลิดไปชั่วครั้งคราว

ดัง “เวลากาแฟ” กับเรื่องราว เผชิญ ผจญ ยังคงดำเนินต่อไป


อ่านเรื่องทั้งหมด ทั้ง 13 ตอนของ เวลากาแฟ : วิรัตน์ แสงทองคำ ได้ที่นี่


วิรัตน์ แสงทองคำ คอลัมนิสต์ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ  4 ทศวรรษกับผลงานนับพันชิ้น งานบางส่วนปรากฏใน https://viratts.wordpress.com/ และ https://www.facebook.com/วิรัตน์-แสงทองคำ ขณะ “เวลากาแฟ” ดำเนินเป็นกิจวัตร ด้วยเรื่องราว และความคิด เพิ่งจะเปิดสู่วงกว้างครั้งแรก @Marketeer online



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online