ตลาดยาไทย มูลค่าเท่าไร ? วิเคราะห์อุตสาหกรรมยาในวันที่ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

อุตสาหกรรมยาไทย และการก้าวขึ้นสู่เวทีโลก

ตลาดยาไทยมีมูลค่า 1.7 แสนล้านบาท และอัตราการเติบโต 7% ต่อปี ครองตำแหน่งตลาดยาที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย พร้อมด้วยการควบคุมความปลอดภัยและมาตรฐานการผลิตที่สูงจนได้รับความมั่นใจจากนานาชาติ ซึ่งด้วยศักยภาพที่อยู่ในระดับแนวหน้า ส่งผลให้สามารถดึงงานแสดงส่วนผสมยาระดับโลกภายใต้ชื่อ ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2019 (CPhI South East Asia 2019) มาจัดเป็นครั้งแรกในไทย โดยมุ่งส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมยาไทยให้แข็งแกร่งและเป็นโอกาสที่จะพัฒนาการผลิตยาภายใต้แบรนด์ของไทยให้เวทีโลกยอมรับ

 

รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ ภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึง จุดอ่อน จุดแข็งยาไทย และการเร่งสร้างความมั่นคงทางด้านคลังยา ว่า การผลิตยาของไทย จัดอยู่ในการผลิตขั้นปลาย คือ การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แล้วผลิตยาสำเร็จรูปหรือยาชื่อสามัญออกมา โดยมักจะเป็นยาที่มีราคาถูกในท้องตลาด แต่ด้วยมาตรฐาน GMP ที่ผู้ผลิตยาไทยมากถึง 161 รายมีนั้น ทำให้ยาของไทยมีคุณภาพที่สูงมากจนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ โดยปัญหาที่สำคัญของยาไทยคือการรับรู้และการได้รับความไว้วางใจจากคนไทยเอง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคของไทยยังคงยึดติดกับแบรนด์ของต่างชาติมากกว่า เมื่อผนวกเข้ากับการที่ต้องนำเข้าส่วนผสมยาจากต่างชาติ จึงถือเป็นจุดอ่อนสำคัญที่อุตสาหกรรมยาไทยต้องแก้ไขและปฏิรูป เพื่อให้อุตสาหกรรมยาไทยมีการเติบโตจากทั้งภายในและภายนอก

นอกจากนี้ความกังวลที่มีมาอย่างช้านานจากนักวิชาการในวงการยาเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคงทางด้านคลังยา ที่หากเกิดความผันผวนทางการตลาดอย่างรุนแรง การใช้มาตรการคว่ำบาตร การปิดประเทศ ไปจนถึงการเกิดสงคราม ก็สร้างความกังวลว่าจะส่งผลต่อการนำเข้ายาและวัตถุดิบในการผลิตยาต่างๆ ก่อให้เกิดภาวะที่มีผลต่อความมั่นคงทางด้านคลังยาของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตระหนกเป็นอย่างมาก

มาตรฐาน GMP PIC/S ยอดเขาสูงที่ผู้ประกอบการยาไทยต้องฝ่า

การยกระดับมาตรฐานการผลิตของผู้ประกอบการยาไทย เป็นการสร้างความน่าเชื่อถืออย่างเป็นรูปธรรมผ่านมาตรฐานและคุณภาพที่เป็นสากล โดยเจตนารมณ์คือการผลิตยาอย่างมีคุณภาพเพื่อคนไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดตัวบนเวทีโลกที่ได้รับการจับตามอง แต่สิ่งที่มาพร้อมกับมาตรฐานระดับสูงคือต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงไปด้วย โดยบางโรงงานต้องสร้างโรงงานใหม่เพื่อให้ได้มาตรฐาน GMP PIC/S ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 500 ล้านบาท กฎเกณฑ์นี้จึงเป็นทั้งการยกระดับและยอดเขาสูงที่ผู้ประกอบการต้องฝ่าไปให้ได้

โอกาสและความท้าทายของยาไทยในการยึดตลาดอาเซียน

ร้อยละ 95 ของยาที่ผลิตในประเทศไทย จะถูกบริโภคภายในประเทศ ผ่านโรงพยาบาลรัฐ 60% โรงพยาบาลเอกชน 20% และร้านขายยาทั่วประเทศอีก 20% ซึ่งเพียง 5% ของการผลิตเท่านั้นที่จะถูกส่งออก โดยส่งออกไปยัง CLMV เป็นหลัก เนื่องจากยาของไทยมีราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับยาในมาตรฐานเดียวกันจากประเทศอื่นๆ และด้วยความนิยมในยาไทยจากกลุ่มประเทศอาเซียนนี้เอง ที่ทำให้เกิดโอกาสอันดีสำหรับการขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น ผ่านความมุ่งมั่นที่จะผลิตยาเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งปัจจัยส่งเสริมที่ก่อให้เกิดโอกาสเติบโตของยาไทยก็ได้แก่ มาตรฐาน การเป็นสังคมสูงอายุของอาเซียน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการส่งเสริมจากนโยบายของภาครัฐ อาทิ อย., BOI

เทรนด์ใหญ่กำหนดทิศทางการสร้างสรรค์และการผลิตในอุตสาหกรรมยา

1. การเข้ามาของ AI

AI จะมีความสำคัญต่ออนาคตของยาเนื่องจากปริมาณของข้อมูลและอุปกรณ์ตรวจสอบที่มีอยู่นั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในระยะสั้น AI จะมีผลกระทบต่อการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่มากมาย และระบุรูปแบบซึ่งจะสร้างข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ต่อไปศักยภาพที่แท้จริงของ AI จะช่วยควบคุมเครื่องจักรและทำให้บริษัทยามีการจัดการและการผลิตที่ฉลาดขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. การควบคุมราคา

ความสำคัญของการควบคุมราคา คือ ต้องหาจุดกึ่งกลางที่เหมาะสมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมีปัจจัยรายล้อมหลายอย่างที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือ ยา เป็นสินค้าที่ต้องใช้เครื่องมือ โรงงาน การวิจัย และนวัตกรรมการผลิตที่มีราคาสูง ในขณะที่ประเทศบางประเทศมีนโยบายควบคุมราคาที่ไม่ผ่อนปรนจนทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถรับได้ในข้อตกลงนี้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ ยาบางชนิดไม่มีใช้ในบางประเทศ เพราะผู้ผลิตไม่คุ้มทุนที่จะส่งขาย หรือยาบางชนิดไม่สามารถผลิตใช้ขึ้นเองได้ เนื่องจากต้องลงทุนสูงในขณะที่ขายได้ในราคาไม่คุ้มทุน

3. ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ชีวเภสัช

สืบเนื่องจาก API ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยานั้นมีราคาแพงมาก การเปลี่ยนผ่านมาใช้ยาจากชีวมวลวัตถุ หรือที่เรียกกันว่า Biosimilars จึงมีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ สอดรับกับจำนวนประชากรสูงอายุและพฤติกรรมรักสุขภาพของผู้ใช้ยา ที่อยากจะใช้ยาจากธรรมชาติมากกว่ายาที่มาจากสารเคมีหากสามารถเลือกได้ ยกตัวอย่างประเทศจีน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของ  Biosimilars เป็นตัวเลขสองหลัก ยอดขายเวชภัณฑ์ชีวภาพในตลาดจีนเพิ่มขึ้นจาก 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 22.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากปี 2555-2559 หรือเกือบ 25% ต่อปี และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตรานี้ ดังนั้นภายในปี 2564 คาดว่าปริมาณการขายจะสูงถึง 48.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

4. อุตสาหกรรม 4.0

เพื่อให้อุตสาหกรรมยาก้าวไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จในยุคเทคโนโลยี Industry 4.0 จำเป็นต้องมีปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การลดความเสี่ยง, คุณภาพ, ความยืดหยุ่น, ผลผลิต และความเร็ว

5. เทคโนโลยีที่มุ่งรักษาและการติดตามผล

เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเก็บรักษาบันทึกและประวัติการรักษารวมไปถึงการใช้ยาของผู้บริโภค โดยจะมุ่งใช้งานไปที่การรักษาและดูแลให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการใช้ยา ซึ่งข้อมูลอันเป็น fact ต่างๆ สามารถจัดเก็บและแสดงให้เห็นผ่านแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่าย เช่น แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน หรือการสแกน QR Code เพื่อศึกษาวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง

6. Supergenerics

เพื่อไม่ให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังความนิยม Biosimilars การยกระดับจนเกิดเป็น Supergenerics ที่รักษาได้ไว รักษาได้แรง มีประสิทธิภาพในการรักษาที่มากขึ้น และสามารถต่อสู้กับเชื้อที่ดื้อยาซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายบนโลกใบนี้จึงเกิดขึ้น

7. แพ็กเกจจิ้ง ตามที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น ว่าสังคมสูงอายุคือเทรนด์ใหญ่ที่ครอบทุกอย่างเอาไว้ ดังนั้น การออกแบบยาให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งโดสยา และยาใหม่ๆ ที่จะรักษาโรคในผู้สูงอายุ ซึ่งเรื่องของแพ็กเกจจิ้งก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องมีการออกแบบให้ใช้งานง่าย ฉีกหรือแกะได้สะดวก เห็นรายละเอียดที่ชัดเจน

ซีพีเอชไอ เซาธ์ อีสต์ เอเชีย 2019 (CPhI South East Asia 2019) หรือ งานแสดงสินค้า เทคโนโลยี และการประชุมด้านวัตถุดิบและส่วนประกอบการผลิตยาสำหรับเภสัชอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะถูกจัดขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย ในวันที่ 4-6 มีนาคม 2563 ณ อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อรองรับความต้องการและการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการเติบโตทางการตลาดและมีศักยภาพสูง จากกลุ่มประชากรทั้งหมดกว่า 650 ล้านคนที่เข้าถึงด้านการดูแลสุขภาพที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย นำไปสู่ความต้องการด้านยาที่เพิ่มขึ้นตาม อันก่อให้เกิดโอกาสที่ยิ่งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมเภสัชกรรมในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online