เรียนรู้จากความล้มเหลว
ไม่รู้ว่าผมคิดไปเองคนเดียวรึเปล่า

ที่สมัยนี้ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หรือ สตาร์ทอัพชื่อดัง ออกมาสนับสนุนให้ทุกคน กล้าทำผิด กล้าล้มเหลวกันมากขึ้น

ราวกับว่า ถ้าไม่ลองทำผิด ชาตินี้ก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ

ฉะนั้น ก่อนจะลองทำผิด ลองล้มเหลว Marketeer อยากให้คุณได้เรียนรู้จาก 3 แบรนด์นี้ ก่อนไปเจ็บจริง

 

1.Coca-Cola

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 หลังจากที่ Jame Quincey รับตำแหน่ง CEO ของ Coca-Cola เขาก็เรียกผู้บริหารระดับสูงมาพูดคุย ว่าด้วยเรื่อง ความผิดพลาด

เป็นที่รู้กันว่า Coca Cola นั้นเป็นเบอร์ 1 ในเรื่องน้ำอัดลมมาโดยตลอด และความผิดพลาดครั้งใหญ่ของ Coke นั้นมีแค่ 2 ครั้งใหญ่ๆ เท่านั้น

ครั้งแรก ในเดือนเมษายนปี 1985 ที่มีการยกเลิก Coke สูตรเดิม และเปิดตัว New Coke ขึ้นมา ซึ่งสำหรับแฟนพันธ์แท้ของโค้ก ที่คือการหักหลังต่อผู้บริโภค เพราะ New Coke รสชาติหวานขึ้น และไม่ถูกใจผู้บริโภค ท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาผลิต Coke สูตรเดิม ในเดือนสิงหาคม ปี 1985

ครั้งที่สอง เกิดในปี 1992 ที่ Coke พยายามออกสูตร Coke II มาให้ตลาดได้ลอง (โดยไม่ได้ยกเลิกสูตรดั้งเดิม) แต่ก็ไม่สำเร็จ และยกเลิกไปในปี 2002

ความผิดพลาด 2 ครั้งนี้ ถือว่าเล็กน้อยมาก ถ้าเทียบกับบริษัทอายุ 100 ปี

หลังจากนั้น Coke ก็ออก Coke Zero ในปี 2005 และไม่ได้ไปยุ่ง ปรับสูตรอะไรกับ Coke ต้นตำรับอีกเลย..

แต่การที่คลื่นลมสงบนั้น ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะยอดขายน้ำอัดลมลดน้อยลงเรื่อยๆ จากเทรนด์สุขภาพ และเครื่องดื่มทางเลือกอื่นๆ

จนทำให้ปลายปี 2017 Coke จึงทำ Diet Coke 4 รสชาติใหม่ เพื่อกระตุ้นยอดขาย และสร้างสีสันให้ผู้บริโภค ซึ่งก็ยังตัดสินไม่ได้ว่า จะสำเร็จ หรือ ล้มเหลว แต่ก็ถือเป็นความพยายามครั้งแรกของ CEO คนปัจจุบัน ที่พร้อมจะรับความผิดพลากที่เกิดขึ้น

“ถ้าเราไม่ได้ทำผิดพลาดอะไรเลย แสดงว่าเรายังพยายามไม่มากพอ” Jame Quincey

 

2.Netflix

ในบรรดาแบรนด์ TV Streaming ชื่อดัง… Netflix เป็นแบรนด์ที่ทำคอนเทนต์ของตัวเอง (Original Content) ได้โดดเด่นที่สุด แต่สำหรับ Reed Hastings, CEO ของ Netflix นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ควรหยุดแค่นั้น

“ผมคิดว่า อัตราความฮิตของ Netflix นั้นสูงเกินไป (Hit Ratio) เราควรมีอัตราการยกเลิกรายการที่สูงกว่านี้ (Cancel Rate)” Reed กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2017

อ่านแล้วอาจจะดูหมันไส้ แต่สิ่งที่ Reed ต้องการจะสื่อ ก็คือ ตอนนี้  Netflix รู้แล้วว่าคนชอบอะไร ก็เลยทำคอนเทนต์ออกมาได้โดนใจตลอด ไม่ว่าจะเป็น แอ๊คชั่น ดราม่า แฟนตาซี ตลก.. แต่ Hit Ratio ที่สูงเกินไป หมายถึงการไม่ยอมออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง ไม่กล้าเสี่ยงอะไรใหม่ๆ

ฉะนั้นถ้า Netflix อยากหนีคู่แข่ง อยากสร้างปรากฏการณ์อะไรสักอย่าง พวกเขาต้องกล้ามากกว่านี้

“ผมพยายามผลักดันทีมคอนเทนต์ของเรามาโดยตลอด พวกเราต้องเสี่ยงมากกว่านี้ พวกเราต้องกล้าทำอะไรที่บ้ามากขึ้น ถึงแม้มันจะหมายถึง Cancel Rate ที่มากขึ้นก็ตาม” Reed Heastings กล่าว

 

3.Amazon

แบรนด์สุดท้าย พูดเลยว่า ไคลแม็กซ์ที่สุด เพราะหากจำได้ ธุรกิจแรกของ Amazon คือ เว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ จากนั้นเมื่อเห็นว่า Physical Books ไม่ใช่คำตอบก็หันไปทำ Kindle และขยายไลน์สินค้าจนครอบคลุมทุกสิ่งอย่าง ทำให้ Amazon ถูกจดจำในฐานะ แบรนด์ช็อปปิ้งออนไลน์

Jeff Bezos ยอมรับว่า เขาลงทุนผิดพลาดไปเป็นพันล้านเหรียญ นับตั้งแต่ Amazon Auctions, A9 Search Portal, Askville, Endless.com, Amazon Web Pay และที่ดังที่สุดก็คือ มือถือ Fire Phone ที่ยับเยินที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขากลัวเลยสักนิด

ถ้าคุณอยากทำอะไรที่เปลี่ยนโลกได้จริงๆ คุณต้องทำการทดลอง และถ้ามีการทดลอง คุณก็ต้องยอมรับความล้มเหลว มันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ถ้ามีความสำเร็จครั้งใหญ่เกิดขึ้น 1-2 ครั้ง มันก็ช่วยชดเชยความผิดพลาดเป็น 10 ครั้งได้นะ”

ลองมาดูเคสความสำเร็จของ Amazon บ้าง พวกเขาสร้างเทคโนโลยี Cloud ไว้ใช้ทำงานในองค์กร แต่เมื่อระบบมันดีมาก Amazon ก็เป็นผู้ให้บริการเองเลย จนตอนนี้ Amazon Web Service โด่งดัง และมีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ ถ้าตอนนั้น Amazon ไม่เสี่ยงทำเอง ไปซื้อเทคโนโลยีคนอื่นมาใช้ อาจต้องเสียเงินมากกว่านี้ และไม่สามารถใช้ข้อมูลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

และล่าสุด Amazon ก็พึ่งซื้อกิจการของ WholeFoods ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในราคา 13,400 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นดีลที่น่าสนใจมาก เพราะส่วนใจ Amazon มักสร้างธุรกิจในโลกออนไลน์ แต่การซื้อซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นออฟไลน์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการยกระดับธุรกิจออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

 

แต่ไม่ใช่ทุกความผิดพลาดทุกอันจะเป็นเรื่องดีไปซะหมด ล่าสุด GoPro ก็ประกาศขายกิจการเรียบร้อย หลังจากสู้แบรนด์ Action Camera ราคาถูกกว่าไม่ไหว มิหนำซ้ำ ยังใช้เงินไปวิจัยพัฒนาโดรน เพื่อเปิดตลาดใหม่ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด

ที่ Smith College มีโปรแกรมหนึ่งที่ชื่อว่า “Failing Well หรือ ล้มเหลวให้ดี” เพื่อสอนนักเรียนให้กล้าที่จะเรียนรู้ โดยเมื่อเข้าสู่โปรแกรม นักเรียนทุกคนจะได้ เกียรติบัตรแห่งความล้มเหลว เพื่อประกาศว่า พวกเขามีสิทธิ์ที่จะผิดพลาด ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน โครงงาน ความสัมพันธ์ และยังสามารถเป็นคนที่มีคุณค่าได้

ผลก็คือนักเรียนที่ถูกสอนให้กล้าคิด กล้าทำ ไม่เปราะบาง ในขณะที่เด็กเก่งคนอื่นจะคาดหวังความสมบูรณ์แบบ และผลงานที่ไร้ที่ติ

 

ฉะนั้นหากงานของคุณเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทำอะไรใหม่ๆ ขอให้อย่ากลัวที่จะล้มเหลว

ปล.แต่ก็ต้องรู้จักประเมิณว่าล้มเหลวแค่ไหนถึงต้องหยุด และ เรียนรู้จากความล้มเหลว นั้นเช่นกัน

 

ที่มา : Harvard Business Review



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online