Line Man สะเทือน ! สงครามธุรกิจรับหิ้วอาหารถึงจุดเดือด เกมหั่นกำไรบางๆ เพื่อสร้างประสบการณ์และการเติบโตอย่างยั่งยืน


หิวแล้วกินอะไรดี กินร้านไหนดี เดี๋ยวสั่งผ่านแอปมากินกัน

เชื่อว่าประโยคเหล่านี้ได้กลายเป็นพฤติกรรมหลักของคนไทยในเมืองกรุง ที่ถูก App Food Delivery เข้ามาสปอยล์วิถีการรับประทานอาหารให้เปลี่ยนไปจากเดิม

และพฤติกรรมเหล่านี้ นับวันจะขยายวงกว้างตามการแข่งขันของผู้ให้บริการ App Food Delivery หลายแอป เช่น Grab Food, Get Food หรือแม้แต่ผู้ที่อยู่ในธุรกิจ App Food Delivery มานานอย่าง Food Panda ที่ต่างลงเล่นในสงครามค่าส่งด้วยการลดค่าบริการซื้ออาหาร ที่ควรคิดเป็นระยะทาง เป็นส่งฟรี หรือเหมาจ่ายขั้นต่ำ 10 บาท ในระยะทางที่กำหนด

การส่งฟรี หรือเหมาจ่ายนี้ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องคิดมากในการสั่งอาหารมารับประทาน เพราะรู้สึกคุ้มค่ากว่าการที่จะสตาร์ทรถฝ่ารถติด และอากาศร้อนในเมืองไทยออกไปรับประทานเองเป็นไหนๆ

การที่ผู้เล่นใน App Food Delivery อย่าง Grab Food, Get Food และ Food Panda ยอมเจ็บตัวในการออกค่าส่งให้มาจากเหตุผลทางธุรกิจ 3 ข้อคือ

1. ต้องการสร้างประสบการณ์ในการสั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery ให้ผู้บริโภคเกิดความคุ้นเคย เพื่อหวังในวันข้างหน้าว่า เมื่อผู้บริโภค “ติด” บริการสั่งอาหารผ่านแอปของตัวเอง ในวันนั้นแม้จะคิดบริการค่าส่งผู้บริโภคก็พร้อมที่จะยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการรับประทานอาหารที่ต้องการ

2. ต้องการ “มัดใจ” มอเตอร์ไซค์ ที่สมัครเข้ามาร่วมให้บริการในแพลตฟอร์มว่า มีลูกค้าที่เรียกใช้บริการจำนวนมาก และมากพอที่จะสร้างให้ผู้ขับมีรายได้มากกว่าแอปคู่แข่ง

ซึ่งการมัดใจผู้ขับด้วยวิธีนี้ จะทำให้ธุรกิจสามารถให้บริการได้อย่างคล่องตัว

เพราะเมื่อลูกค้ากดใช้บริการ จะมีมอเตอร์ไซค์กดรับออเดอร์ทันที โดยไม่ต้องรอนาน

ซึ่งการรอนานของลูกค้านั้นหมายถึงประสบการณ์ที่ไม่ดี และอาจจะเปลี่ยนไปใช้บริการของคู่แข่งที่มีการให้บริการที่รวดเร็วกว่า ในราคาค่าบริการที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

และเมื่อลูกค้าใช้บริการน้อยลงมอเตอร์ไซค์ก็อาจจะเปิดรับให้บริการผ่านแอปนี้น้อยลง เพราะถือว่าเป็นการเปิดรอลูกค้าแบบเสียเวลาไปฟรีๆ

3. ต้องการดึงลูกค้าจากแอปคู่แข่งมาใช้บริการแอปของตัวเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคถึงความเป็นผู้นำตลาดในการให้บริการ App Food Delivery ในประเทศไทย

 

เกมนี้ Line Man มีสะเทือน

การที่ App Food Delivery หลายต่อหลายรายลงเล่นสงครามค่าส่ง ทำให้ Line Man ที่เคยเป็นผู้นำตลาด จากการเป็นแอปแรกๆ ในธุรกิจ App Food Delivery ที่ให้บริการซื้ออาหารทั้งร้านอาหารที่มีแบรนด์ และร้านอาหารริมทางและห้องแถวที่ลูกค้าต้องการได้ในทุกทิศทั่วจังหวัดที่เปิดให้บริการ เริ่มกระอักไม่น้อย

เพราะเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา Line Man แทบไม่มีคู่แข่งที่เข้ามาลงเล่นในบริการรับซื้ออาหารตามร้านข้างทางหรือร้านห้องแถว ทำให้ลูกค้ายอมจ่ายค่าส่งอาหารตาม Business Model ของ Line Man ที่เป็นการเรียกเก็บค่าบริการซื้ออาหารตามระยะทาง ตามร้านที่ลูกค้าต้องการ และในบางร้านมีการบวกเพิ่มค่ารอในกรณีที่ต้องรอนานได้ เพื่อแลกกับความสะดวกสบายที่ไม่ต้องออกไปซื้ออาหารด้วยตัวเอง

แต่เมื่อตลาดเริ่มมีคู่แข่ง มีการขยายเครือข่ายร้านอาหารเข้าไปยังร้านอาหารที่ Line Man ให้บริการมากขึ้น

ผู้บริโภคมีทางเลือกที่จะฝากซื้ออาหารผ่านแอปอื่นๆ ที่มีค่าบริการถูกกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงหันไปใช้บริการแอปอื่นแทน Line Man

ยกเว้นว่า ร้านอาหารที่ต้องการแอปอื่นไม่มีให้บริการ เช่น อาหารตามรถเข็นที่ได้รับความนิยม หรือ อยู่ไกลเกินกว่าที่แอปอื่นๆ ให้บริการได้ ผู้บริโภคถึงจะกลับมาใช้บริการอีกครั้ง และส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการสั่งอาหารครั้งละจำนวนมากๆ  หรือรวมตัวกันสั่งเพื่อหารค่าส่ง

จนมีประโยคที่ลูกค้า Line Man พูดอยู่เสมอๆ ว่า ค่าส่ง Line Man แพงกว่าค่าอาหาร และถ้าอยากจะได้ค่าส่งที่หารออกมาถูกต้องสั่งทีละมากๆ ถึงจะคุ้ม

เกมการตลาดของ Line Manในวันนี้จึงเน้นการทำ Marketing ด้วยการมอบส่วนลดค่าส่งให้กับลูกค้าในบางโอกาส และจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อหาสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าและต่อยอดธุรกิจ

เช่น การจับมือกับร้านอาหารมอบส่วนลดในรูปแบบต่างๆ เช่น ลดเพิ่ม หรือซื้อ 1 แถม 1 และอื่นๆ

จับมือกับวงในเพื่อให้ผู้บริโภคที่อ่านคอนเทนต์อาหารในวงในและสนใจอยากลองรับประทานสามารถสั่งซื้ออาหารได้ทันทีผ่าน Line Manเป็นต้น

Grab Food 3 ล้านออเดอร์ เพราะค่าส่งแสนถูก แถมมีโปรโมชั่นส่วนลดตบท้าย

สำหรับเกมสงครามค่าส่งอาหาร Grab Food ถือว่าเป็นแอปที่ลงเล่นสงครามนี้อย่างจริงจัง

โดย Grab Food เข้ามาให้บริการในไทยเมื่อพฤษภาคม 2561 เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งในการฝากซื้ออาหารจากร้านอาหารพาร์ตเนอร์ของคนกรุงเทพ

การเข้ามาของ Grab Food ในวันนั้น ถือว่าเป็นน้องใหม่ในวงการ App Food Delivery จากเดิมตลาดที่มีผู้เล่นหลักเพียงผู้เล่นเดียวคือLine Man

วิธีการเข้ามาสร้างฐานของลูกค้าของ Grab Food คือ เริ่มต้นด้วยการสร้างประสบการณ์ในการใช้งานด้วยบริการส่งฟรี ให้กับลูกค้าที่สั่งอาหารผ่านแอป  

และเมื่อมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในระดับหนึ่งจึงได้เก็บค่าบริการ 10 บาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าบริการที่ถูกแสนถูกเมื่อเทียบกับ Line Manที่มีค่าบริการเริ่มต้นที่ 55 บาท

นอกจากนี้ ยังมีแคมเปญโค้ดส่วนลดต่างๆ เช่น ฟรีค่าส่ง และส่วนลดเพิ่มเมื่อสั่งอาหารรวมเป็นเงินค่าอาหารตามที่กำหนด เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าที่ต้องการส่วนลด ยอมที่จะกดสั่งอาหารเพิ่ม เพื่อค่าอาหารที่ถูกลง

แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจ เพราะเมื่อ Grab Food ให้บริการค่าส่งที่ถูก โดย Grab Food เป็นผู้ออกค่าส่งส่วนใหญ่แทนลูกค้า ทำให้ Marketeer เชื่อว่า เบื้องหลังการให้บริการนี้ Grab Food มีการเก็บค่า Fee กับร้านอาหารที่เข้ามาเป็นร้านค้าในแอป

สังเกตได้จากร้านอาหารที่เข้ามาอยู่ใน Grab Food บางร้านจะมีราคาค่าอาหารที่แพงกว่ารับประทานที่หน้าร้าน หรือสั่งผ่านแอปอื่นประมาณ 5-10 บาท

หรือในบางครั้งผู้สั่งจะเจอเหตุการณ์เมื่อมอเตอร์ไซค์ขับไปถึงร้านแล้ว โทรแจ้งกลับมาว่า ร้านอาหารมีการปรับขึ้นราคาหลายเมนู เป็นต้น

แต่การที่ Grab Food จะมีราคาค่าอาหารบางร้านที่แพงกว่า แต่ยังมีลูกค้าที่ใช้บริการผ่านแอปนี้โตอย่างก้าวกระโดด โดยธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ได้บอกว่า Grab Food ให้บริการส่งอาหารรวมทั้งสิ้น 3 ล้านออเดอร์ในปีที่ผ่านมา

นอกจาก Grab Food แล้วในสงคราม App Food Delivery ยังมีน้องใหม่อย่าง Get Food ที่เข้ามาเปิดตัวในไทยเมื่อกุมภาพันธ์ 2562

โดยการเข้ามาทำตลาดของ Get Food ใช้ Business Model คล้ายๆ กับ Grab Food คือ การฟรีค่าส่งอาหารในช่วงเปิดตัวก่อนที่จะคิดค่าบริการเหมา 10 บาท ในระยะทาง 5 กิโลเมตร และคิดค่าส่งเพิ่มตามระยะทางที่เกินจากระยะทางที่ให้บริการแบบเหมาๆ ซึ่งค่าบริการนี้จะสิ้นสุดเดือนเมษายน ก่อนมีแคมเปญโปรโมชั่นใหม่ๆ เพื่อดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ไปพร้อมกับการสร้าง Brand Awareness ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ว่า Get มีบริการ Food Delivery เช่นเดียวกับคู่แข่งรายอื่น

จุดที่น่าสนใจของ Get คือในปัจจุบัน ค่าอาหารใน Get Food ยังมีราคาตรงปก เท่ากับสั่งซื้อที่หน้าร้าน ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มเลือกที่จะสั่งผ่าน Get Food แทนคู่แข่งเพราะค่าอาหารที่ถูกกว่า เป็นต้น

 

ทำให้หลังจากเปิดตัวให้บริการ Get Food ได้กลายเป็นบริการที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับบริการทั้ง 3 บริการของ Get ได้แก่ Get Win Get Food และ Get Delivery

ก่อลาภ สุวัชรังกูร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด GET ได้บอกกับ Marketeer ว่าในปัจจุบันยอดออเดอร์ผ่าน Get Food มีการเติบโต 400% เมื่อเทียบกับช่วงซอฟท์ลอนซ์ในต้นปีที่ผ่านมา

โดยประเภทอาหารที่ขายดีใน Get Food ได้แก่

  1. สตรีทฟู้ด 50%
  2. เครื่องดื่ม 40%
  3. อาหารรับประทานเล่น 10%

 

หิวๆ แบบนี้ แดดร้อนเมืองไทยทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเราสั่งให้แอปซื้อมาส่ง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online