รายได้คุมอง ดีแค่ไหน ? วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน คุมอง ทำไมถึงฮอตฮิตติดลมบน

อยากให้ลูกฉลาด เรียนเก่งและนำเพื่อน ต้องเรียนพิเศษ

ค่านิยมของครอบครัวรุ่นใหม่ ที่ในตอนนี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ เขาก็เรียนกัน

ซึ่งปกติแล้วผู้ปกครองโดยเฉพาะเด็กก่อนประถมวัย จนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จะเลือกโรงเรียนพิเศษจากสถาบันที่ได้รับความน่าเชื่อ และส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรงเรียนพิเศษที่มีสาขาจำนวนมาก เพื่อความสะดวกในการเดินทางรับส่ง

และพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้สถาบันสอนพิเศษต่างๆ เน้นไปที่การขยายสาขา ผ่านการเปิดเอง และขายแฟรนไชส์ไปยังผู้ที่สนใจ

โดยข้อมูลจากธนาคารกสิกรไทยพบว่าในปัจจุบันตลาดแฟรนไชส์การศึกษามีมูลค่าทั้งสิ้น 42,500 ล้านบาท จากแฟรนไชเซอร์ หรือธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งสิ้น 98 ราย

และตลาดแฟรนไชส์การศึกษายังเป็นตลาดที่มีการเติบโตมากถึง 23% ในปีที่ผ่านมา

 

ในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา ชื่อ คุมอง เป็นชื่อที่เชื่อว่าคุณๆ คุ้นหูกันดี และบางคนอยากจะมีประสบการณ์ในการเรียนที่คุมองมาแล้ว

 

จากข้อมูลของ โนโบรุ ทาคาฮิระ ประธานบริษัท คุมอง (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า คุมอง ได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2534 หรือประมาณ 28 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระยะเวลาธุรกิจที่ค่อนข้างยาวนาน เมื่อเทียบกับโรงเรียนสอนพิเศษอื่นๆ  

และปัจจุบันคุมองไทย มีนักเรียนกว่า 96,000 คนที่กำลังเรียนอยู่ในศูนย์คุมอง 483 สาขา จาก 3 สาขาวิชาที่เปิดสอน คณิตศาสตร์ อังกฤษ และภาษาไทย

เมื่อเข้าไปดูตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์ปีที่ผ่านมา คุมองมีรายได้ 630 ล้านบาท กำไร 149 ล้านบาท สาขาเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่กำไรลดลงเมื่อเทียบกับปี 2559  

ซึ่งรายได้ของคุมองหลักๆ จะมาจากการขายแฟรนไชส์ ด้วยการเก็บค่า Franchise Fee เป็นค่าแรกเข้ากับผู้ที่มาขอเปิดธุรกิจคุมอง และ Royalty Fee ในทุกๆ เดือนตามจำนวนเด็กที่จ่ายเงินเป็นค่าเล่าเรียนให้กับคุมองในแต่ละเดือน

 

โดยคุมองจะเก็บค่าเรียนเดือนละ 1,500 บาท สำหรับเด็กชั้นประถมวัย-ประถมศึกษา และ 1,600 บาท สำหรับเด็กมัธยมศึกษา

รายได้คุมอง ดีแค่ไหน

2557       624,717,203.00 กำไร 155,565,017.00

2558       619,394,691.00 กำไร 135,056,303.00

2559       621,433,633.00 กำไร 161,846,744.00            

2560       630,065,208.00 กำไร 149,482,851.00            

ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, รายได้จากบริษัท คุมอง (ไทยแลนด์) จำกัด

สิ่งที่ทำให้คุมองเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองมาจากการแนะนำกันปากต่อปาก ที่เกี่ยวกับแนวทางการสอนของคุมองที่เด่นด้านการคิดเป็นระบบ ผ่านการฝึกฝน จนพื้นฐานแน่น รวมถึงการเป็นโรงเรียนสอนพิเศษที่มีสาขาอยู่หลากหลายประเทศ

เมื่ออ่านจากประวัติศาสตร์ของคุมอง พบว่า คุมองเป็นระบบการเรียนจากประเทศญี่ปุ่นที่ถูกคิดค้นเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว โดย “โทรุ คุมอง” ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ระดับมัธยมปลาย

จุดเริ่มต้นของการคิดค้นระบบการเรียนการสอนแบบคุมองมาจากที่ภรรยาของโทรุ คุมอง สังเกตเห็นว่าลูกชายของเธอ ทาเคชิ คุมอง มีปัญหาเรื่องคณิตศาสตร์ ป.2 ทั้งๆ ที่พ่อของเขาเป็นคุณครู

โทรุ คุมอง จึงลองคิดทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ในแบบฉบับของเขาเอง เพื่อให้ลูกชายได้หัดทำและฝึกฝนทุกๆ วัน อย่างไม่ยากลำบาก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะอย่างสม่ำเสมอด้วยตัวเอง

และการฝึกฝนทำแบบฝึกหัดทุกวัน ทำให้ทาเคชิสามารถพัฒนาความสามารถไปได้อย่างรวดเร็วสามารถเรียนก้าวหน้าจนทำแบบฝึกหัดแคลคูลัสเชิงอนุพันธ์และอินทิกรัลได้ตอนจะขึ้นไปเรียนชั้น ป.6

เมื่อทาเคชิเก่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โทรุจึงได้ชวนเด็กในละแวกบ้านให้ลองมาฝึกฝนผ่านแบบฝึกหัดที่เขาทำขึ้นมาเอง และผลปรากฏว่าเด็กๆ ที่เข้ามาทำแบบฝึกหัดของโทรุ คุมองก็สามารถพัฒนาตัวเองทางด้านคณิตศาสตร์ไปได้ไกลขึ้น

จนในปี 2501 โทรุ คุมองจึงตัดสินใจก่อตั้งสำนักงาน คุมอง ในเมืองโอซากา ก่อนที่จะขยายอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ

จนกระทั่งปัจจุบัน คุมอง มีนักเรียนกว่า 4 ล้านคน จาก 25,000 สาขาใน 50 ประเทศ และเป็นแฟรนไชส์ด้านการศึกษาที่มีสาขามากที่สุดในโลก

นอกจากนี้โทรุ คุมองยังมีการพัฒนาสื่อการสอนที่ช่วยให้เด็กฝึกฝนตัวเองที่น่าสนใจ อย่างเช่น กระดาน 100 ช่อง ซึ่งเป็นสื่อการเรียนคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่ช่วยสร้างระบบความคิดให้กับก่อนประถมวัยได้ฝึกฝน เป็นต้น

พูดถึงจุดเด่นของธุรกิจคุมองมามากแล้ว มาดูจุดด้อยของคุมองกันบ้าง

เพราะคุมองมีแนวทางในการสอนคือการสอนระบบความคิดที่ให้เด็กฝึกฝนตัวเองจากการทำแบบฝึกหัดซ้ำๆ จนชำนาญ ทำให้เด็กที่มาเรียนกับคุมองจะได้รับการบ้านกลับไปทำที่บ้านจำนวนมาก และเป็นการบ้านที่เคยทำมาแล้วแต่ต้องทำซ้ำๆ เดิม

ซึ่งการที่มีการบ้านให้ทำซ้ำเดิม ทำให้เด็กบางคนล้า และถอดใจที่จะทำ และเด็กบางคนหัวใสหน่อยก็จะนำแบบฝึกหัดจากเล่มเก่ามาลอกลงเล่มใหม่โดยไม่ต้องนั่งทำให้เสียเวลา เป็นต้น

และแบบฝึกหัดของคุมอง อย่างเช่นคณิตศาตร์ ส่วนใหญ่เป็นแบบฝึกหัดที่ให้ บวก ลบ คูณ หาร และอื่นๆ โดยไม่ได้เน้นไปที่การวิเคราะห์โจทย์ ทำให้เด็กที่มาเรียนกับคุมองมีพื้นฐานด้านการบวก ลบ คูณ หาร และทฤษฎีการคำนวณที่แน่น แต่ยังขาดทักษะด้านการวิเคราะห์ไป

ทั้งนี้ Marketeer เชื่อว่า โรงเรียนสอนพิเศษแต่ละที่ก็มีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเด็กแต่ละคนจะเหมาะสมกับการเรียนการสอนเสริมแบบไหน

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว อย่าลืมว่า การเรียนเสริมด้านวิชาการอาจจะไม่ใช่คำตอบเสมอไป เพราะในโลกนี้ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับเด็กๆ ได้ และโลกทัศน์ใหม่ๆ นี้จะเป็นการสร้างความรู้รอบตัวที่ห้องเรียนวิชาการไม่สามารถให้ได้

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online