วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก จุดพลิกผันกับวันที่รอคอย คืนสังเวียนธุรกิจเสริมความงามและผิวพรรณ

เมื่อเร็วๆนี้ มีข่าว ”วุฒิศักดิ์ คอสเมติก เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการในการดูแลความงามแบบครบวงจรให้กับสาวงามผู้เข้าประกวด Miss Universe Thailand 2019 ที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้   

เป็นข่าวที่ทำให้คิดถึง “วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก” มหากาพย์ ในวงการธุรกิจความสวยความงามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2544-2545    

วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก ธุรกิจเสริมความงามและผิวพรรณ เปิดตัวครั้งแรกในย่านงามวงศ์วาน โดยมีนายแพทย์วุฒิศักดิ์ ลิ่มพานิช, พลภัทร จันทรวิเมลือง และ ณกรณ์ กรณ์หิรัญ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง 

เป็นแบรนด์หนึ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วมากภายใต้สโลแกน “เมื่อความสวยรอไม่ได้” และกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ด้วยการทุ่มโฆษณาทางทีวีอย่างหนัก และดึงเอาดาราดังๆ เข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์

ในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นยุคทองของธุรกิจเรื่องความสวยงามในบ้านเรา ไม่ใช่ตุ๊ด ไม่ใช่แต๋ว และไม่ใช่กลุ่มเมโทร เซ็กชวล แต่ทุกคนอยากดูดีไปหมด คลินิกประเภทนี้เลยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดอย่างต่อเนื่อง ทั้งตามตรอกซอกซอย ในห้างหรู และโรงพยาบาลชื่อดัง

ในปี 2556 ตัวเลขจากศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยระบุว่า ตลาดรวมของคลินิกความงามในช่วงเวลานั้นสูงถึง 20,000-30,000  ล้านบาท 

ความสวยช่วยให้วุฒิ-ศักดิ์รวยอย่างต่อเนื่อง เพราะในปีนั้นวุฒิ-ศักดิ์เองสามารถขยายสาขาไปได้ถึง 120 สาขาในประเทศไทย และ 11 สาขาสำหรับต่างประเทศ (ลาว, กัมพูชา, พม่า, เวียดนาม) และใช้วาระของการครบรอบ 14 ปี ออกแคมเปญ  “WUTTISAK Upgrade 14th Anniversary” โดยใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท เพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ทางเครื่องมือแพทย์ และไลน์โปรดักต์ที่หลากหลาย และตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 4,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 50%

พร้อมๆ กับจดทะเบียนบริษัทใหม่ คือ วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป (“WCIG”) และขยายไปทำเป็นบริษัทย่อยอีก 4 บริษัท คือ

1) บจก. วุฒิศักดิ์ คอสเมติกอินเตอร์ (“WCI”) จําหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม เครื่องสําอาง และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ  

2) บจก. วุฒิศักดิ์ ฟาร์มาซีอินเตอร์ (“WPI”) ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

3) บจก. ดับบลิว เวลเนส อินเตอร์ (“WWI”) ดําเนินธุรกิจสถาบันฝึกอบรม

4) บจก. ดับบลิว.เอส.เซอร์จีรี่ 2014 จํากัด (“WSS”) ทําศัลยกรรมพลาสติก/ตกแต่ง( ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว)

ทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่ วุฒิ-ศักดิ์ รอความรวยไม่ได้เหมือนกัน

 ปี 2557 บริษัท อี ฟอร์ แอล เอ็ม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย และนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บจก. วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป (WCIG) ผ่านบริษัท  บจก. ดับบลิวซีไอโฮลดิ้ง(WCIH) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 60% โดยใช้เงินทั้งหมดไปประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยระบุว่าเงินส่วนหนึ่งคือการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

 EFORL หวังจะเอาธุรกิจนี้มาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่ม และมองเห็นถึงเทรนด์ของธุรกิจความสวยงามที่มีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นทุกปี รวมทั้งความแข็งของแบรนด์วุฒิศักดิ์ ที่จะบุกต่อไปเปิดตลาดในประเทศต่างๆ ในเออีซีได้ทันทีที่เปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

ปีแรกๆ ทั้งยอดรายได้และราคาหุ้นสวยงามตามคาด แต่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา บริษัท EFORL รายได้ลดและขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า จากรายได้รวมเมื่อปี 2558 จำนวน 4,530 ล้านบาท ลดลงเหลือ 3,754 ล้าน ในปี 2559 และ 2,509 ล้าน, 2,398 ล้าน ในปี 2560 และปี 2561 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเม็ดเงินกำไรที่เคยได้ล่าสุดเมื่อปี 2558 จำนวน 210 ล้านบาท กลายเป็นขาดทุน 614 ล้านบาทในปี 2559 และขาดทุนสูงถึง 1,163  ล้านในปี 2560 ส่วนปีที่ผ่านมาตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 166 ล้านบาท

ในขณะที่รายได้เฉพาะธุรกิจความงาม ในบริษัทวุฒิศักดิ์ อินเตอร์กรุ๊ป ปี 2560 มีประมาณ1,355 ล้านบาท แต่ในปี 2561 386 ล้านบาท  ลดลงถึง 71.5% สาเหตุหลักมาจากในปี 2561 ซึ่งเหตุผลหลักๆเป็นเพราเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานจากการเป็นเจ้าของสาขา เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งจะรับรู้รายได้ในรูปแบบสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า (Royalty fee) 

ส่วนจำนวนสาขาก็มีการลดอย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยในปี 2559 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างหวัดมีรวมกัน 121 สาขา ปี 2560 เหลือเพียง 113 สาขา ส่วนแฟรนไชส์ในต่างประเทศที่มี 12 แห่งในปี 2559 เหลือเพียง 3 แห่งในปี 2560

เหตุผลสำคัญในการขาดทุนมาจากธุรกิจความงาม  ทั้งๆ ที่ตัวเลขของมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจประเภทนี้เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นเพราะ

บริษัทขาดสภาพคล่องซึ่งมีผลมาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุนซื้อกิจการวุฒิ-ศักดิ์ คลินิกหลายพันล้านบาท   

รวมทั้งคู่แข่งของธุรกิจความงามที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันในเรื่องราคารุนแรงขึ้น และยังมีการขยายตัวในเรื่องบริการทางด้านความงามและศัลยกรรมในโรงพยาบาลต่างๆ อีกด้วย

ดังนั้น ท่ามกลางพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ผู้ที่จะอยู่รอดในวงการนี้ได้ต้องมีกลยุทธ์ต่างๆ ในการทำตลาดที่แหลมคมอย่างมาก

อดีตความเป็นแบรนด์ดาวรุ่งไม่ใช่หลักประกันว่าจะต้องประสบความสำเร็จได้ตลอดไป

วันนี้ EFORL คงรู้แล้วว่าธุรกิจนี้ไม่สวยงาม และ ปัง อย่างต่อเนื่องตามคาด

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญอีกเรื่องคือทีมผู้บริหาร ที่เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเล่าหลายรอบมาก และกลายเป็นอีกมหากาพย์หนึ่งของวุฒิ-ศักดิ์

เริ่มจากยุคแรกของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ มีการเปลี่ยนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด จาก “ณกรณ์ กรณ์หิรัญ” เป็น “พลภัทร จันทร์วิเมลือง” ก่อนที่ณกรณ์จะกลับเข้ามาเป็นผู้บริหารอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ดูเหมือนบทบาทจะลดน้อยลงไป 

ในปี 2559 ปรากฏชื่อของ อภิพร ภาษวัธน์ อดีตผู้บริหารของ เอสซีจี เคมิคอลส์ เข้ามารับตำแหน่งนี้แทน แต่พอกลางปี 2560 กลายเป็นชื่อของ “อรรถวุฒิ จริงไธสง

ล่าสุด ในวันแถลงข่าว Miss Universe Thailand 2019 เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีชื่อ “กวิน สัณฑกุล” ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของบริษัท วุฒิศักดิ์ ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด มหาชน เป็นผู้เข้าร่วมแถลง

ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การพยายามสร้างแบรนด์ครั้งใหม่กับสาวงามของเมืองไทยในครั้งนี้ จะมีนัยสำคัญของการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ๆ และเพื่อพลิกฟื้นแบรนด์ วุฒิ-ศักดิ์ ให้กลับมาอีกครั้งได้หรือไม่

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online