นกแอร์ สายการบินที่เจอวิกฤตซ้ำซ้อนกับเงินเดิมพัน 3,000 ล้านบาท (วิเคราะห์)

เมื่อวานนี้ กรรมการบริษัท สายการบินนกแอร์ อย่าง “รัฐพล ภักดีภูมิ” ประกาศลาออก

กลางปี 2018 CEO นกแอร์ “ปิยะ ยอดมณี” ลาออกจากตำแหน่งทั้งที่ทำงานยังไม่ถึง 1 ปี พร้อมแต่งตั้ง “ประเวช องอาจสิทธิกุล” รักษาการแทน

ย้อนกลับไปปี 2017 “พาที สารสิน” ผู้ก่อตั้งสายการบินแห่งนี้ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง CEO

เก้าอี้ตำแหน่งผู้บริหารของนกแอร์จึงไม่ต่างจากเก้าอี้ดนตรีที่สลับเปลี่ยนคนเป็นว่าเล่นโดยเฉพาะตำแหน่ง CEO ที่ในเวลา 2 ปีเปลี่ยนมาถึง 3 คน

ถึงไม่มีข่าวแน่ชัดว่าการลาออกของบรรดาผู้บริหารระดับสูงของ นกแอร์ มาจากเหตุผลอะไร

แต่…พอเดาคำตอบได้ไม่ยากว่า นกแอร์ลำนี้กำลังมีปัญหาการบริหารภายในองค์กร

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นกแอร์ต้อง “อกหักซ้ำซ้อน” จากการระดมทุนเพื่อให้สายการบินตัวเองมีลมหายใจในน่านฟ้า

การบินไทย ผู้ถือหุ้นนกแอร์ 15.9% ปฏิเสธที่จะเพิ่มทุนช่วยเหลือนกแอร์ โดยให้เหตุผลสั้นๆ ว่า

“แผนพลิกฟื้นธุรกิจยังไม่เข้าตา” ทั้งๆ ที่ในอดีตการบินไทยก็เคยช่วยเหลือนกแอร์ด้วยการเพิ่มทุน

แอร์ เอเชีย ยุติข่าวลือในการเข้าซื้อหุ้นเพื่อเข้ามาบริหารเต็มตัว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ นกแอร์แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า มีหลายบริษัทที่สนใจจะซื้อหุ้น

สุดท้ายเมื่อ แอร์ เอเชีย เปลี่ยนใจ ก็ไร้เงาบริษัทอื่นๆ ที่สนใจจะลงทุน

เมื่อหันไปทางไหนก็ไม่มีคนสนใจ ทางออกก็คือต้องพึ่งตัวเอง

แล้ว “นกแอร์” จะหาเงินทุนมาหมุนเวียนเพื่อพลิกฟิ้นธุรกิจของตัวเองจากที่ไหน

การกู้เงินจากสถาบันการเงินจะได้อยู่ไม่เกิน 20 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ย 6.8-7.6% ต่อปี

แต่ความต้องการของนกแอร์มากกว่านั้น คือต้องการวงเงินกู้ 3,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยต้องถูกกว่าสถาบันการเงิน

ทางออกคือการกู้เงินจาก “ตระกูลจุฬางกูร” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องคนอื่น วงเงิน 3,000 ล้านบาท

ข้อดีของการกู้เงินในรูปแบบนี้คือไม่เข้มงวดเหมือนสถาบันการเงิน และดอกเบี้ยก็น่าจะถูกกว่าเพราะผู้ถือหุ้นและผู้เกี่ยวข้องบริษัทเป็นคนให้ “กู้เอง”

แต่ก็ต้องเดิมพันว่า เงินกู้รอบนี้จะสามารถลดการขาดทุนของนกแอร์ได้ในปีไหน?

ถึงจะประกาศว่าในปี 2019 นี้ นกแอร์จะลบคำว่าขาดทุนออกไปจากพจนานุกรมการทำธุรกิจสายการบินตัวเอง

จากปี 2017 ขาดทุน 1,854 ล้านบาท มาถึงในปี 2018 นกแอร์ขาดทุนถึง 2,786 ล้านบาท

ตัวเลขขาดทุนที่เพิ่มขึ้น “ตระกูลจุฬางกูร” ก็คงหนาวๆ ร้อนๆ กับการเป็น “ผู้ให้กู้รายใหญ่ครั้งนี้”

แล้วที่ผ่านมานกแอร์ขาดทุนเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี เกิดจากสาเหตุอะไร

ทั้งๆ ที่ตัวเลขผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปี 2017 มีผู้โดยสาร 8.78 ล้านคน ปี 2018 มีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8.86 ล้านคน

เหตุผลเพราะ ณ วันนี้แค่ นกแอร์ สตาร์ทเครื่องเตรียมบินก็ขาดทุนแล้ว

ข้อมูลรายงานประจำปี 2018 ของนกแอร์ เปิดเผยค่าเฉลี่ยรายได้ผู้โดยสารใน 1 ที่นั่งคือ 1.93 บาท/กิโลเมตร

ขณะที่บริษัทมีต้นทุนผู้โดยสารต่อ 1 ที่นั่งอยู่ที่ 2.32 บาท/กิโลเมตร

นั่นแปลว่าในผู้โดยสาร 1 ที่นั่ง นกแอร์จะขาดทุน 0.39 บาท/กิโลเมตร

จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเพิ่มราคาตั๋วเครื่องบิน แทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะ ณ วันนี้ คู่แข่งทุกสายการบิน Low cost พร้อมใจพาฝูงบินตัวเองอยู่ในน่านฟ้า “สงครามราคา”

หากนกแอรขึ้นค่าโดยสาร ลูกค้าก็พร้อมเปลี่ยนสายการบินอย่างไม่ลังเลใจ

เมื่อขึ้นราคาไม่ได้ก็ต้อง “ลดต้นทุน” ตัวเองให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งต้นทุนพนักงาน-ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบริการ เป็นต้น

ต่อมาก็คือการเพิ่มจำนวนที่นั่งต่อเที่ยวบินให้มากขึ้นกว่าเดิมที่มีอยู่ 89% ให้มากกว่า 90% เพราะสายการบิน 1 เที่ยวนั้นมีต้นทุนคงที่อยู่แล้ว ทั้งนักบิน-แอร์โฮสเตส-น้ำมัน เป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับนกแอร์ ทั้งการลาออกของผู้บริหารระดับสูงอยู่บ่อยครั้ง แถมยังอกหักจากการบินไทย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 15.9% ที่ไม่ให้ความช่วยเหลือ

สุดท้ายก็คือ “แอร์เอเชีย” ที่กลับลำไม่ซื้อหุ้น

เป็นธรรมดา เมื่อถึงคราวลำบากแล้วพึ่งพาคนอื่นไม่ได้ ทางออกเดียวก็คือต้อง “พึ่งพาตัวเอง”

ดีกว่า…ที่จะอยู่เฉยๆ แล้วรอวันให้นกแอร์หมดลมหายใจกลายเป็นแค่อดีตในธุรกิจสายการบินเมืองไทย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online