AOT ใครๆ ก็ว่า เสือนอนกิน ธุรกิจนี้ไม่มีคู่แข่งจริงหรือ ? (วิเคราะห์)

ธุรกิจที่ไม่มี “คู่แข่ง” ธุรกิจนั้นจะถูกเรียกว่า “ผูกขาด” อย่างสมบูรณ์แบบ

ลูกค้าไม่มีทางเลือกจะต้องซื้อหรือใช้บริการแค่บริษัทนั้นบริษัทเดียว 

แล้วหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในโมเดลการ “ผูกขาด” ดังกล่าว ก็คือธุรกิจ “สนามบิน” โดยเฉพาะบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกว่า AOT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 70% อีก 30% ที่เหลือคือนักลงทุนทั่วไป  

ทำไมเราถึงบอกว่า AOT ผูกขาดธุรกิจ ทั้งๆ ที่ยังมีสนามบินของกรมท่าอากาศยาน, และของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส

เคยได้ยินไหมว่าใครที่ยึด “สมรภูมิรบหลัก” ได้ คนนั้นคือผู้มีอำนาจมากที่สุด

และAOTก็คือคนคนนั้น   

เพราะนี่คือบริษัทที่แม้จะบริหารสนามบินแค่ 6 แห่งคือ สุวรรณภูมิ-เชียงใหม่-แม่ฟ้าหลวง-ดอนเมือง-ภูเก็ต และหาดใหญ่

แต่เชื่อไหมว่าสนามบิน “สุวรรณภูมิ” กับ “ดอนเมือง” นี่แหละ! ที่คือ “หัวใจหลัก” สร้างรายได้มหาศาลให้แก่AOT

ปี 2018 สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารรวมทั้งขาเข้าและออก 62.8 ล้านคน อัตราผู้โดยสารเติบโต 6.3% และมีพนักงานอยู่ที่สนามบิน 3,175 คน

สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารทั้งขาเข้าและออก 40.5 ล้านคน อัตราผู้โดยสารเติบโตมากกว่าปีที่แล้ว 9% โดยมีพนักงานสนามบิน 1,423 คน

โดยธุรกิจสนามบินจะมีรายได้หลักๆ ก็คือค่าบริการสนามบินจากผู้โดยสารขาเข้า-ขาออก และรายได้จากการแบ่งผลประโยชน์

ที่น่าสนใจก็คือ 2 สนามบินอย่างสุวรรณภูมิและดอนเมือง มีสัดส่วนผู้โดยสารรวมกันถึง 74% จาก 6 สนามบินของAOTที่มีผู้โดยสารรวมกันทั้งหมด 139.5 ล้านคน

และ 6 สนามบินของAOTที่มีผู้โดยสารรวมกันถึง 139.5 ล้านคน/ปี นั้นช่างแตกต่างจากกรมท่าอากาศยานที่มี 24 สนามบิน แต่มีผู้โดยสารรวมกันแค่ 18.9 ล้านคน/ปี โดยสนามบินทั้งหมดของกรมท่าอากาศยานนั้นอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด

เป็นการฉายภาพให้เห็นว่าการที่AOTกุมอำนาจบริหารสนามบินทำเลอันดับ 1 และ 2 ของประเทศทำให้มีจำนวนผู้โดยสารแบบทิ้งขาดกรมท่าอากาศยาน จนสามารถสร้างรายได้และกำไรในการทำธุรกิจในแต่ละปีได้อย่างมหาศาล

แถมธุรกิจสนามบินนั้นมีอัตรากำไรหลังจากหักต้นทุนแล้วประมาณ 50% ที่น่าสนใจการคิดต้นทุนในงบการเงินประจำปีนั้น AOTยังรวมไปถึงการคำนวณค่าเสื่อมสภาพของสนามบินและสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เม็ดเงินค่าใช้จ่ายจริงๆ ในธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบนี้ไม่ใช่ว่าAOTกับกรมท่าอากาศยานจะเป็นคู่แข่งกัน

เพราะทั้ง 2 บริษัทนี้จะไม่มีสนามบินที่เป็น “พื้นที่ทับซ้อน” กันเลยแม้แต่น้อย จึงไม่เกิดการแย่งชิงลูกค้ากันเอง

หากจังหวัดไหนมีสนามบินของกรมท่าอากาศยานก็จะไม่มีสนามบินของAOT

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคู่แข่งของAOTก็คือ “ตัวเอง”

เพราะ ณ เวลานี้สนามบินที่สร้างรายได้อันดับ 1 อย่าง “สุวรรณภูมิ” ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียงพอตามอัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

เดิมทีสนามบิน “สุวรรณภูมิ” ถูกประเมินว่าสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน/ปี แต่เชื่อไหมว่า ณ วันนี้ตัวเลขล่าสุดในปี 2018 มีจำนวนผู้โดยสาร 62 ล้านคน/ปี เลยทีเดียว

และจำนวนผู้โดยสารที่ล้นสนามบินนี้แหละ! คือความท้าทายที่ AOT ต้องคิดหนัก

หากบริการ-การรักษาความปลอดภัย-ความแออัดของสนามบิน ไม่ถูกใจผู้โดยสารก็จะทำให้ภาพลักษณ์สนามบินแห่งนี้ติดลบในใจผู้ใช้บริการ

ถึงแม้ “สุวรรณภูมิ” จะเป็นสนามบินผูกขาดที่สายการบินต่างๆ ต้องใช้บริการก็ตามที

แต่หาก Brand เสียหายก็ย่อมส่งผลกระทบไปยังการทำธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน

การใช้งบประมาณ 2-3 แสนล้านบาทเพื่อขยายอาณาจักรสนามบินสุวรรณภูมิ 2 หมื่นไร่ จึงถูกอนุมัติขึ้น โดยเป็น Project ระยะยาวแบ่งเป็น 5 เฟส

โดยระบุการก่อสร้างที่แน่ชัดแล้วนั้น คือการสร้างไปถึงเฟส 3 ที่จะใช้เงินลงทุนการก่อสร้างรวมกัน 60,000 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2021 ซึ่งจะทำให้ “สุวรรณภูมิ” สามารถรองรับผู้โดยสาร 90 ล้านคน/ปี

แล้ว ณ วันนั้น วันที่เฟส 3 เสร็จสมบูรณ์ จำนวนผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิจะเกิน 90 ล้านคน/ปี หรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป

แต่ที่แน่ๆ AOTจะยังมีกำไรมหาศาลกับธุรกิจที่มีคู่แข่งแค่คนเดียวก็คือ “ตัวเอง”

ที่มา: รายงานประจำปี 2018 ของ AOT-กรมท่าอากาศยาน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online