ไทยเบฟซื้อสตาร์บัคส์ วิเคราะห์เหตุผลทำไม เจ้าสัวเจริญ จึงสนใจกาแฟแก้วนี้ !

ข่าวการเปลี่ยนมือสตาร์บัคส์ ประเทศไทย สู่ธุรกิจในเครือไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ ได้สร้างความฮือฮาให้กับคอกาแฟชาวไทยไม่น้อยถึงปรากฏการณ์การเปลี่ยนมือในครั้งนี้

ตามประกาศของ Starbucks Coffee ที่ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2019 ได้ระบุว่า Starbucks Coffee ได้ประกาศการลงนามในสัญญากับบริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ ประเทศไทย ให้เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการบริหารธุรกิจค้าปลีกของสตาร์บัคส์ในประเทศไทย ข้อตกลงดังกล่าวนี้คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้

แล้วบริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ ประเทศไทย คือใคร ทำไมถึงได้สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ไปบริหาร

บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ ประเทศไทย จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2019 ซึ่งถือว่าเป็นน้องใหม่ในธุรกิจมาก

แต่ถ้ามองลึกลงไปจะพบกว่า คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ ประเทศไทย เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารจากฮ่องกง กับ บริษัท เอฟแอนด์เอ็นรีเทล คอนเนคชั่น จำกัด บริษัทเกิดใหม่ที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 19 มีนาคม 2019 มีกลุ่มไทยเบฟเป็นผู้ถือหุ้น

โดยความแข็งแกร่งของชื่อไทยเบฟ และสัมพันธภาพที่ผ่านมาของแม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ กับสตาร์บัคส์ เชื่อว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ Starbucks Coffee เชื่อมั่นในฝีมือการบริหาร จนยอมเซ็นสัญญาให้คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ ประเทศไทย เป็นผู้บริหารสตาร์บัคส์ในประเทศไทย

เพราะที่ผ่านมาบริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด ได้เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์บริหารและทำการตลาด Starbucks  Coffee ในเอเชีย มาตั้งแต่ปี 2004 เป็นผู้ดำเนินการร้านสตาร์บัคส์ในตลาด ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม จำนวนมากกว่า 400 สาขา

ส่วนไทยเบฟคือผู้ที่มีอิทธิพลในวงการตลาดเครื่องดื่มและอาหารในประเทศไทย

ทำไม ไทยเบฟซื้อสตาร์บัคส์ ?

จะเห็นได้ว่า บริษัทผู้เข้ามาบริหารสตาร์คบัคส์ ประเทศไทย ในอนาคต มีโปรไฟล์ที่น่าสนใจ จน Starbucks Coffee ยอมมอบสิทธิ์ให้บริหาร

แต่ถ้าในทางกลับกัน สตาร์บัคส์ ประเทศไทย มีความน่าสนใจอย่างไร จนเจ้าสัวเจริญขอเข้าไปมีเอี่ยวในธุรกิจสตาร์บัคส์ในครั้งนี้

สตาร์บัคส์เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยยาวนานถึง 20 ปี มีความแข็งแกร่งในแง่ของแบรนด์ในใจผู้บริโภคชาวไทยเป็นอย่างมาก

ที่ผ่านมาสตาร์คบัคส์ ประเทศไทย มีสาขาอยู่ที่ 372 สาขา และมีรายได้และกำไรเติบโตขึ้นทุกปี ปีที่ผ่านมามีรายได้ที่ 7,676 ล้านบาท จากมูลค่าร้านกาแฟและคาเฟ่ 17,000 ล้านบาท อ้างอิงจากยูโรมอนิเตอร์

รายได้สตาร์บัคส์ ประเทศไทย

2559       6,051,873,327.00 กำไร 818,541,699.00

2560       7,006,646,888.00 กำไร 885,763,819.00

2561       7,675,842,134.00 กำไร 1,078,334,302.00     

ทั้งนี้ ตลาดร้านกาแฟและคาเฟ่ในประเทศไทยเป็นตลาดที่ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 15-20% จากวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในประเทศไทย เริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และให้ความสำคัญกับการดื่มกาแฟที่มาพร้อมประสบการณ์การดื่มที่ดี

ทำให้ในปีที่ผ่านมา คนไทยมีอัตราการดื่มกาแฟเฉลี่ยมากถึง 300 แก้วต่อปี และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online