KTC เตรียมขยาย 3 ธุรกิจใหม่ “นาโน-พิโก-สินเชื่อทะเบียนรถ” ไตรมาส 3 เผยโรดโชว์แผนธุรกิจที่สหรัฐฯ ภาพรวมน่าพอใจ ปลายเดือนเตรียมโรดโชว์ฮ่องกง เดือนหน้าไปญี่ปุ่น

ชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคทีซีเตรียมความพร้อมที่จะรุกขยาย 3 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน โดยคาดหมายว่าภายในไตรมาส 3 จะสามารถเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อได้

สำหรับการรุกทำธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ที่ต่างจากเดิม จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต ทั้งจากฐานลูกค้าและวงเงินที่ต่างจากสินเชื่อเดิม ซึ่งจะทำให้เคทีซีเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ชุติเดชกล่าวต่อว่า เคทีซียังให้ความสำคัญกับการรักษาพอร์ตลูกหนี้โดยรวมให้มีคุณภาพที่ดี โดยจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในอัตราที่ต่ำ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่ขอสินเชื่อ และเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนให้กับภาครัฐและภาคสังคมโดยรวม

ชุติเดชระบุว่า หนี้นอกระบบเกิดขึ้นจากการที่บุคคลขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงมีความจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาเจ้าหนี้บุคคลนอกระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงเป็นรายวันหรือรายเดือน นอกจากนี้ หากลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็อาจใช้วิธีการตามทวงที่รุนแรง

ต่างจาก “หนี้ในระบบ” ที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ภายใต้กรอบการกำกับที่ชัดเจนขององค์กรกลาง และยังมีสิทธิพิเศษที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ขอสินเชื่อ

โดยชุติเดชยังกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาการเงินนั้นคือการใช้จ่ายเกินตัวอย่างไม่ระมัดระวัง และเหตุฉุกเฉิน มีคนในครอบครัวล้มป่วย

ส่วนเหตุผลหลักของคนที่กู้นอกระบบนั้นคือมีความรวดเร็วมากกว่า ไม่ต้องใช้เอกสารเยอะ อีกทั้งผู้กู้อาจจะมีเงินไม่ถึงเกณฑ์ กลัวการแสดงหลักฐานรายได้ และหนี้ในระบบเต็มหมดแล้ว

 

FYI

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยและศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปีที่ผ่านมา ภาพรวมหนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่า 12.83 ล้านล้านบาท

โดยปี 2561 ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ 78.6% ในปี 2561 จาก 78.3% ในปี 2560

ขณะที่ปี 2562 คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะทรงตัวที่ 77.5-79.5%

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า คนไทยกู้เงินจาก
-ธกส. 26%
-สถาบันการเงินอื่นๆ 25%
-กองทุนหมู่บ้าน 20%
-ธนาคารพาณิชย์ 10%
-ธ.ออมสิน และธอส. 8%
-สหกรณ์ออมทรัพย์ 6%
-กู้หนี้นอกระบบ 5%



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online