ประวัติ Burger King กว่าจะเป็นราชันแบรนด์เบอร์เกอร์ดัง ไอเดียแรง

การขับเคี่ยวกันของคู่ปรับคืออีกเหตุผลที่ทำให้ใครต่อใคร ติดตามความเคลื่อนไหวของแบรนด์ไม่ว่าในตลาดไหน โดยระดับความน่าสนใจจะเพิ่มขึ้นหาก “เบอร์รองๆ” พยายามเดินหน้าขยับอันดับ และลดระยะห่างด้วยวิธีการต่างๆ เหมือนในตลาดฟาสต์ฟู้ดเน้นเฉพาะตลาดเบอร์เกอร์ ที่หลายปีมานี้ Burger King ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านยอดขายและภาพลักษณ์แบรนด์ที่ผลักดันด้วยความคิดสร้างสรรค์จนกวาดรางวัลมาแล้วหลายเวที

ทว่า ก่อนได้ลิ้มรสความสำเร็จคำโตในวันนี้ Burger King ก็เผชิญกับขาขึ้นและขาลงมาแล้วหลายครั้ง ไม่ต่างจากร้านเบอร์เกอร์แสนอร่อยที่ขายดีจนลูกค้าแน่นร้านในวันนี้ ที่ผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว และหาสูตรการย่างเนื้ออยู่นานกว่าจะลงตัว

 

ประวัติ Burger King

ความสำเร็จสุกได้ที่ในวันนี้ มีเรื่องราวมากมายแทรกอยู่

Burger King ก่อตั้งเมื่อปี 1954 โดย James McLamore และ David Edgerton สองบัณฑิตร่วมรุ่นจากมหาวิทยาลัย Cornell ที่เล็งหาช่องทางจับมือทำธุรกิจหลังเรียนจบ

ซึ่งมาลงตัวที่การซื้อแฟรนไชส์ Insta-Burger King ร้านเบอร์เกอร์ของ Matthew Burns และ Keith Kramer คู่ป้าหลานที่มีแววรุ่ง ผ่านเตาย่างขนมปังเบอร์เกอร์กับเนื้อที่ถือว่าทันสมัยในขณะนั้น ซึ่งดำเนินกิจการมาแล้ว 1 ปี

Old Burger King

อีก 4 ปีถัดมาสองบัณฑิตหนุ่มเลื่อนขึ้นมาเป็นเจ้าของแบรนด์เต็มตัว หลังสาขาในความดูแลไปได้สวยจนสามารถซื้อสาขาทั้งหมดของคู่ป้าหลานผู้ก่อตั้งที่ขาดทุนมาปรับปรุงใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Burger King

ช่วงใกล้เคียงกันนี้เองที่ลูกค้าในสหรัฐฯ ได้ลิ้มรส Whopper เบอร์เกอร์ชิ้นใหญ่ ผักและเนื้อแน่น ตรงความหมายตามตัวอักษรที่หมายถึงสิ่งที่ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ

ปี 1967 เจ้าของ Burger King เปลี่ยนมือเป็นครั้งที่ 2 หลัง Philsbury บริษัทแปรรูปอาหารรายใหญ่ในสหรัฐฯ ขณะนั้น ซื้อกิจการด้วยเงิน 18 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 558 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) และผลักดันจนกระทั่งปลายยุค 70 Burger King เป็นแบรนด์เครือร้านเบอร์เกอร์ใหญ่อันดับสองของสหรัฐฯ รองแค่เพียง McDonald’s เท่านั้น

Burger King Norman Brinker

Norman Brinker อดีต CEO ที่สร้างจุดเปลี่ยนให้  Burger King 

ระหว่างอยู่ใต้ชายคา Philsbury นี่เองที่ Burger King กลายเป็นคู่ปรับกับ McDonald’s เต็มตัว โดยต้นยุค 80 Norman Brinker เจ้าของเก้าอี้ CEO ของ Burger King สั่งให้ใช้แนวทางการตลาดแบบเชิงรุก ด้วยการโจมตี McDonald’s อย่างเปิดเผยในโฆษณา

แนวทางนี้ภายหลังบานปลายกลายเป็นการตอบโต้อย่างดุเดือดของสองยักษ์ใหญ่ในวงการเบอร์เกอร์ (Burger War) ลักษณะเดียวกับการขับเคี่ยวกันในตลาด Smartphone ระหว่าง iPhone กับ Samsung และในตลาดน้ำอัดลมระหว่าง Coca-Cola กับ Pepsi ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน    

ท่ามกลางเวลาที่ล่วงผ่านหลังจากนั้น Burger King ก็เผชิญความไม่แน่นอน เปลี่ยนทั้ง CEO และเจ้าของจนมาถึงปี 2010 ย้ายไปเป็นบริษัทในเครือ 3G Capital กลุ่มทุนสัญชาติบราซิล

ใต้ชายคาต้นสังกัดใหม่ Burger King ทำให้เจ้าของต้องกุมขมับ ผลประกอบการร่วงต่อเนื่อง จาก 2,340 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 72,540 ล้านบาท) ในปี 2011 ลงมาอยู่ที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 31,000 ล้านบาท)

BURGER KING CEO

Daniel Schwartz – CEO คนปัจจุบันของ Burger King

ช่วงขาลงของ Burger King สิ้นสุดลงเมื่อ Daniel Schwartz ขึ้นมานั่งเก้าอี้ CEO ในปี 2014 โดยผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง หันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีร่วมสมัยอย่าง Mobile Device เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงลูกค้า และสั่งเดินหน้าใช้มาตรการรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ปรากฏว่าได้ผล ยืนยันได้จากผลประกอบการที่ทยอยเพิ่มขึ้นจนล่าสุดปี 2018 อยู่ที่ 1,650 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 51,150 ล้านบาท)

 

ตัวเลขทางการเงินเป็นรอง แต่ครองบัลลังก์แบรนด์ไอเดียแรง

เป็นที่ทราบกันดีว่า McDonald’s เหนือกว่า Burger King ในด้านธุรกิจ โดยฝ่ายแรกมีผลประกอบการปี 2018 สูงถึง 5,163  ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 160,053 ล้านบาท) พร้อมจำนวนสาขาทั่วโลกเกือบ 38,000 แห่ง

ต่างจากฝ่ายหลังที่ปีเดียวกันมีตัวเลขผลประกอบการ 1,650 ล้านเหรียญสหรัฐ และจำนวนสาขาทั่วโลกราว 17,800 แห่ง   

ทว่า หลายปีที่ผ่านมา Campaign ของ Burger King ที่ยังคงลักษณะเด่นด้วยการโจมตีแบรนด์คู่ปรับ ด้วย Idea เฉียบคม ก็นำโด่งเรื่องการกวาดรางวัลด้านโฆษณาในทุกเวที

ในงาน Cannes Lions ปีนี้ The Whopper Detour ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อเบอร์เกอร์ในราคาเหมือนได้เปล่า ถ้าเปิดใช้ App ของแบรนด์ใกล้กับสาขาของ McDonald’s คว้ารางวัลใหญ่ไปได้ถึง 3 รางวัล คือ Direct Grand Prix, Mobile Grand Prix และ Titanium Grand Prix/huffpost, thebalancesmb, qsrmagazine, statista, mcdonalds, bk, wikipedia

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online