เดือนที่แล้วเขียนถึง Digital Disruption ในแง่สร้างความระส่ำเขย่าหลายภาคส่วนในโลก เดือนนี้จึงขอนำเสนอมุมน่ารักของความดิจิตอลที่มีส่วนสำคัญดึงกิจกรรมบางอย่างที่เคยเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งคนเขาทำกันในโลกยุคก่อน ให้กลับมาเป็นความชุบชูใจ ตลอดจนต่อยอดสร้างรายได้กลายเป็นความสนุกที่คนสมัยนี้อยากเรียนรู้และลงมือทำ

เทคโนโลยีปูพรมให้ความนิยมเรื่องใดๆเกิดขึ้นพร้อมเพรียงในเวลาเดียวกันได้ทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูตีคู่มากับกิจการ Start Up ในลอนดอน กรุงเทพฯ เซี่ยงไฮ้ ไปจนถึงเทล อาวีฟ คือ Craft Workshop หรือชั้นเรียนสั้นๆที่เปิดสอนงานหัตถศิลป์และวิชาต่างๆที่นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีจำนวนผู้สนใจเข้าเรียนทวีเพิ่มขึ้นจนทำให้เราอยู่ในยุคที่เวิร์คช็อปเบ่งบานมีให้เลือกเรียนหลากหลายขั้นสุดก็ว่าได้  

งานหัตถศิลป์หรือ Craft มีลักษณะเด่นตามชื่อแปลไทยคือเป็นชิ้นงาน/เครื่องใช้ที่ถูกผลิตขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์แบบค่อยเป็นค่อยไปทีละชิ้น ไม่มีเครื่องจักรมาเกี่ยวข้อง อาจมีเครื่องไม้เครื่องมือ (Tool) มาช่วยบ้าง วัตถุดิบ วัสดุประกอบร่างมักมาจากสิ่งที่หาได้ตามธรรมชาติในชุมชนของมนุษย์ผู้ประกอบชิ้นงานนั้นๆ

งานคราฟต์จึงมีความสำคัญในแง่เป็นวัตถุแสดง/สะท้อนทักษะแบบดั้งเดิมของมนุษย์ในแต่ละภาคส่วนของโลกด้วย ในฐานะวัตถุที่แฝงเรื่องราววิถีชีวิตผู้คนแนบเนียนอยู่ในชิ้นงานอันเชื่อมโยงสู่วัฒนธรรมประเพณี เรื่องราวประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีมูลค่าความงามเชิงศิลป์เพราะแต่ละชิ้นงานมีความพิเศษเฉพาะไม่ซ้ำ เป็น Unique Expression หรือการแสดงออกของผู้สร้างงานโดยใช้กระบวนการแบบดั้งเดิม ผ่านน้ำมือและการทำงานสปีดช้า เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก ต่างจากของที่ผลิตโดยเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องเฉพาะในช่วงบั้นปลายเมื่อชิ้นงานนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว

โลกดิจิตอลทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยกระจายงานหัตถศิลป์เหล่านี้ไปทั่วโลกอย่างง่ายดาย ว่องไว ส่งผ่านนำเสนองานทำมือในแต่ละชุมชนอันห่างไกลต่างๆให้ผู้คนอีกฟากโลกได้ทำความรู้จัก สาวสวยในกรุงเทพฯสะพายกระเป๋าถักจากเอกวาดอร์ถือกระเป๋าหวายสานโดยแม่บ้านในชุมชนเล็กๆในโปรตุเกส บล็อกเกอร์นานาชาติถือตะกร้าสานไทย

Etsy.com คือหัวหอกสำคัญ ตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่องานคราฟต์(ที่เข้าข่ายตามมาตรฐานเอทซี่กำหนด)โดยเฉพาะ และยังครอบคลุมถึงวัสดุ วัตถุดิบสำหรับใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบร่างสร้างงานฝีมือ รวมทั้งมีส่วนตลาดสินค้าวินเทจ-ข้าวของอายุเกินยี่สิบปีที่มีเรื่องราวความเป็นมาสะท้อนยุคสมัยที่ล่วงเลยจำหน่ายด้วย ปัจจุบันเอทซี่มีสมาชิกห้าสิบกว่าล้านคนทั่วโลก

โซเชียลมีเดียอย่าง IG และ FB Page ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กลายเป็นทั้งเวทีและตลาดทูอินวันสำหรับการซื้อขายงานคราฟต์และเป็นเสมือนแกลลอรี่ให้ผู้คนที่รักงานสร้างสรรค์ใดๆโชว์ผลงานและสิ่งที่เป็น ‘Passion’ ของตนได้  Passion กับการลงมือทำงานคราฟต์มีความสัมพันธ์กันอยู่ ยี่สิบปีก่อน พ.ศ. 2541 ดิฉันเคยมีคอลัมน์ชื่อ 5 Passions อยู่ในนิตยสารอิมเมจ นำเสนอเรื่องราวรื่นรมย์สำหรับคนที่จัดการภาระหน้าที่ความรับผิดชอบหลักในชีวิตเสร็จแล้วเรียบร้อย พอมีเวลาก็หาอะไรทำเพื่อผ่อนคลาย โดยมุ่งเน้นนำเสนอกิจกรรมที่ผู้คนมีความสนใจจริงอย่างแท้ทรูซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Passion นั่นเอง

ยุคนั้นดิฉันนำเสนอสถานที่สอนให้ความรู้เพื่อสนอง Passions อันหลากหลายในการใช้ชีวิตว่ากันตั้งแต่การทำอาหารขนม ยี่สิบปีก่อนตอนนั้นมีคุณครูผู้สอนไม่กี่ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มีทักษะการทำอาหารมานานนับสิบปี  เปิดสอนที่บ้าน อย่างขนมฝรั่งเคยแนะนำการเรียนรู้กับคุณพวงผกา บุนนาค อาหารจีนต้องคุณครูจันทรา เจียรกุล จะว่าไปการเรียนการสอนอาหารจีนเป็นอะไรที่หาเรียนยาก แม้ในยุคนี้มีเวิร์คช็อปเปิดสอนทำอาหารขนมมากมาย แต่ก็ไม่ค่อยเห็นเวิร์คช็อปอาหารจีน มีแต่เวิร์คช็อปทำขนมฝรั่งเศส ขนมอบแบบอังกฤษ การบีบหน้าเค้กด้วยครีมเป็นดอกไม้สไตล์เกาหลี ยังหาง่ายกว่า

ล่าสุดน่าดีใจที่เวิร์คช็อปทำขนมไทยเริ่มมาแรง สัปดาห์ก่อนดิฉันเพิ่งแวะไปคาเฟ่เวิร์คช็อปเล็กๆชื่อเสน่ห์ sane.workshop อยู่ถนนตะนาว หน้าร้านเปิดบริการกาแฟและขนม ด้านในร้านเป็นพื้นที่การเรียนการสอนทำขนมไทย บุหลันดั้นเมฆ ขนมถ้วยเวอร์ชั่นใหม่รสคล้ายปลากริมไข่เต่า ขนมต้ม ฯลฯ ปีสองปีนี้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจขนมไทยกันแยะ พอๆกับความสามัญในวิถีชีวิตยุคหนึ่งหวนกลับมาให้เห็นหลายสิ่ง เนื้อหาที่เปิดสอนใน Workshop ฮิพๆที่วัยรุ่น/คนทำงานยุคนี้นิยมจำนวนไม่น้อยล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในบ้านเราช่วง พ.ศ. 2506-2518 เทียบได้กับยุค 60s-70s ของตะวันตก

วันก่อนดิฉันเห็นรุ่นน้องทำชาหมัก กอมบูชา (Kombucha) ชาหมักเพื่อสุขภาพที่มีรากเหง้ามาจากจีนโบราณหลายพันปีที่กลายมาเป็นเครื่องดื่มสุดฮิพทั่วโลกในขณะนี้ เห็นโหลหมักกอมบูชาแล้วนึกถึงเรื่องที่เคยอ่านในนิตยสารวินเทจสุดโปรดขึ้นมาทันที คู่มือแม่บ้าน เล่มนี้ content แน่นเปี่ยมสาระเลอค่า เป็นของสะสมแสนรักที่ดิฉันเสาะจากร้านหนังสือเก่าและหยิบมาอ่านเสมอๆ อย่างในฉบับปี พ.ศ. 2517 คุณพลศรี คชาชีวะ เขียนถึงการเลี้ยงเห็ดรัสเซียในน้ำชา ตามเรื่องยุคนั้นชาวไทยตื่นเห่อเห็ดรัสเซียกันมากด้วยคุณสมบัติของมันที่ช่วยให้ไขมันในเลือดลดลง จริงๆแล้วเห็ดรัสเซียไม่ใช่เห็ด แต่เป็นแบคทีเรีย การหมักคือการเลี้ยงเห็ดรัสเซียในน้ำชา มีการผสมใส่เติมน้ำตาลลงไปเพื่อให้เห็ดเจริญงอกงาม น้ำหมักก็จะเปรี้ยวๆอารมณ์ประมาณน้ำส้มสายชูวีนีการ์ ชาวกอมบูชาน่าจะฟังแล้วคุ้นๆนะคะ

ในนิตยสารคู่มือแม่บ้านยังมีเรื่องราวความรู้พื้นๆที่แม่บ้านยุคซิกส์ตี้ เซเวนตี้ ในเมืองไทยสนใจ และบังเอิญกลายมาเป็นเนื้อหาหลักในคอร์สเวิร์คช็อปสุดเก๋เท่ที่กำลังนิยมในปัจจุบัน  ทุกฉบับมีคอลัมน์ประจำสอนจัดสวนโดยคอลัมนิสต์ชื่อคุณผกายมาศ สิ่งที่เธอเขียนบอกนั้นช่างแน่นด้วยสาระ และยังให้ความรู้ไปถึงรากเหง้าที่มา อย่างเช่นหากเธอสอนเรื่องการจัดสวนน้ำพุ ก็จะเล่าสั้นๆถึงที่มาของน้ำพุโรมัน น้ำพุอังกฤษ ฝรั่งเศส และวกกลับมาเรื่องคนไทยนิยมอยู่ใกล้ลำน้ำเพื่อดับร้อน เป็นการนำเสนอข้อมูลที่บอกตรรกะเบื้องลึกให้คนเข้าใจก่อนลงมือมากกว่าจะแนะนำให้ทำอะไรแบบฉาบฉวยว่านี่ฮิตนะ ทำสิ

คุณผกายมาศจะปูพื้นให้ความรู้ความเข้าใจสั้นๆก่อนเสมอแล้วค่อยแนะนำเรื่องลักษณะของพืช ต้นไม้ต้นไหนชอบแดด ชอบร่มรำไร ชอบน้ำมากน้ำน้อย ไปจนการซุยดินบำรุงปรุงดิน และเลือกต้นไม้ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อม การชวนทำน้ำพุนี่ก็อธิบายถึงระบบงานประปากันเลยทีเดียว ดิฉันทึ่งและปลื้มวิธีการนำเสนอเนื้อหายุคอดีตที่ลงลึกและสะท้อนการรู้จริงทำจริงของผู้เขียนที่นำไปสู่การที่ทำให้ผู้อ่านลงมือทำตามได้ด้วยความรู้ความเข้าใจ ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริงในยุคที่เชิดชูคุณค่าการประหยัด มัธยัสถ์ และภูมิใจในคำว่า ‘ฝีมือ’ หรือสิ่งที่ลงมือทำเองมากกว่าจะมาอวดรวยโชว์กระเป๋าแบรนด์เนมแพงๆ

นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ชื่อแม่บ้านสมัยใหม่ของญี่ปุ่น โดยคุณขนิษฐศรี สุวรรณนาคร สอนสรรพสิ่งคัดสรรจากชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น งานประดิษฐ์ต่างๆ การจัดดอกไม้แบบอิเคบะนะ คอลัมน์อื่นๆยังมีการสอนวิธีการทำกระดุมไส้ไก่ หัวกระดุมจีน การปักเนคไท คอลัมน์สำหรับนักเล่นแคคตัส คอลัมน์แม่บ้านกับงานอดิเรกก็เท่ มีการสอนให้นำเก้าอี้ไม้โครงเก่าเบาะขาดชำรุดแล้ว ก็ใช้เชือกปอมาสานสลับลายแทนเบาะ หลักการคล้ายๆการถักเชือกห้อยกระถางต้นไม้จำพวกพลูด่างสุดฮิตในยุค 70s ที่กลับมาใหม่ในรูปแบบเวิร์คช็อปมาคราเม่ (Macrame) ที่เปิดสอนพรึ่บพรั่บทั่วกรุงเทพฯในขณะนี้

Craft Workshop ยังขยายตัวไปผสมผสาน collaboration กับกิจกรรมไลฟ์สไตล์อื่นๆอย่างการท่องเที่ยว สำนักพิมพ์วงกลมจับมือกับจอยรักคลับ คลับที่มีสโลแกนว่าเป็นพื้นที่ชวนทุกคนมาสัมผัสกิจกรรมเรียนรู้ไม่รู้จบเพื่อไลฟ์สไตล์ที่สมดุล จอยรักคลับจัดสอนคอร์สสั้นรูปแบบเวิร์คช็อปก่อนใคร มีคอร์สหลากหลายอาทิ การปักริบบิ้นแบบไทย ปั้นดิน ทำเครื่องประดับ ปักผ้า ทำลิปสติกด้วยตนเอง การเขียน ฯลฯ ส่วนวงกลมคือสำนักพิมพ์คุณภาพที่คร่ำหวอด สั่งสมชื่อเสียงทางด้านการสร้างสรรค์ไกด์บุ๊คการเดินทางท่องเที่ยวเน้นดินแดนเปี่ยมเรื่องราวทางวัฒนธรรม

เมื่อสองตัวจริงมาเจอกัน ทริป Indian Textile Holidays พาเดินทางท่องเที่ยวแนวใหม่จึงเกิดขึ้นเชื้อชวนผู้คนที่มี Passion ทางด้านงานคราฟต์ไปดื่มด่ำกับการทำงานออกแบบลายผ้าและพิมพ์ผ้าด้วยบล็อกไม้ถึงในหมู่บ้าน Bagru ในเมืองจัยปูร์ อินเดีย ผู้เข้าร่วมทริปจะได้ลงมือลองทำผ้าพิมพ์บล็อกไม้ในเวิร์คช็อปสองวันเต็ม เรียนรู้กระบวนการการพิมพ์ผ้าด้วยสีธรรมชาติ ทำความรู้จักกับงานมัดย้อมคราม (Indigo Dye) ในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดคราม แวะเยือนหมู่บ้าน Sanganer แหล่งงานผ้าพิมพ์บล็อกไม้ งานเซรามิก และกระดาษแฮนด์เมดจากวัสดุธรรมชาติ ชมมิวเซียมผ้าในตำนาน Anokhi Museum ในตัวเมืองจัยปูร์  โปรแกรมจัดแน่นเป็นการเที่ยวแนวใหม่ที่มี Craft Workshop เป็นตัวขับเคลื่อน

ล่าสุดที่อุบลราชธานีมีที่พักใหม่ในเครือโรงแรมทอแสงโขงเจียม ใช้ชื่อว่า กาลครั้งหนึ่ง ณ โขงเจียม เป็นที่พักแนวที่เรียกตัวเองว่า Edu-Stay กล่าวคือให้ผู้มาพักเรียนรู้งานหัตถกรรมท้องถิ่นในลานกิจกรรมใต้ถุนและรอบๆเรือนพัก ในลอนดอนกิจการ Craft Business กำลังเติบโต การผนวกงานคราฟต์ต่างๆเข้าไปในงานปาร์ตี้กำลังได้รับความนิยม

ขณะเดียวกันการเรียนรู้คุณค่าภายในจากภูมิปัญญาชาติต่างๆก็ผุดขึ้นมาในรูปแบบหนังสือ (และต่อยอดด้วยการเปิด Workshop ให้ผู้สนใจได้เข้าร่วมเพื่อศึกษาลงลึก) ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการดำเนินชีวิตแบบฮุกกะ (Hygge) ลาก็อม  (Lagom) จากดินแดนสแกนดิเนเวีย อิคิไก จากญี่ปุ่น (Ikigi) ที่ล้วนแล้วสะท้อนถึงการกระหายการเรียนรู้ของผู้คนในยุคนี้ ดิฉันเองก็ตอบไม่ได้ว่ามันจะเป็นกระแส (Trend) ที่มาแรงไปเร็ว หรือจะเซ็ตตัวจนอยู่ยาวยั่งยืน แต่ที่แน่ๆในอังกฤษและอเมริกามีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับการวางแผนธุรกิจสำหรับผู้สนใจทำ Craft Workshop ให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้เราศึกษาเพียบแล้ว

กิจกรรมเวิร์คช็อปเหล่านี้จะยืนยงหรือไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตเรามั้ย ย่อมขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงแท้ของผู้สนใจลงมือทำ ทำเพื่อเปลือกได้เปลือก ทำเพื่อแก่นได้แก่น บางคนลองทำเพื่อฆ่าเวลา เพื่อความสนุก เพื่อเจริญสติมีสมาธิ ทำแล้วเพลินใจจนเป็นนิสัยกล่อมเกลาจิตใจได้ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อดิ่งลึกลงไปสัมผัสกับสิ่งที่ตนสนใจ เพื่อนำไปต่อยอดสร้างงานอื่นได้ หรือเพื่อแปรเปลี่ยนความรู้ให้เป็นปัญญาก็เป็นเรื่องเฉพาะแต่ละบุคคลที่จะรับประโยชน์ต่างๆกันไป      

 

Curated by Ploy

feb 2018

 

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online