“ตำมั่ว” จับมือ “วีคอร์น” ลงนามความร่วมมือ รับ 3 โมเดลใหม่ แต่มี 2 โมเดลสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ด้าน “ตำมั่ว” เปลี่ยนซัปพลายข้าวโพด ออกเมนูใหม่ ‘ตำข้าวโพด’ ด้าน “วีคอร์น” พัฒนาสินค้าร่วมกัน ได้ช่องทางขายสินค้ารูปแบบ ‘แฟรนไชส์คีออส’ ตามปั๊มน้ำมัน เชื่อกระตุ้นการเติบโตถึง 20-25% จากเดิม 5-10% ต่อปี

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจุบันตำมั่วกำลังมองหา ‘พันธมิตร’ ธุรกิจ เพื่อเร่งการเติบโตและเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังเซกเมนต์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘คนรุ่นใหม่’ รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ

โดยปัจจุบัน “ตำมั่ว” มีสาขาทั้งสิ้น 180 สาขา มีรายได้ในปี 2561 ประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนกลุ่ม ‘เดลิเวอรี่’ มีการเติบโตถึง 8-10 ล้านบาทต่อเดือน

อ่านเพิ่มเติม เปิดกลยุทธ์ ‘ตำมั่ว’ ปี 62 จาก SME อีสาน สู่ร้านอาหารพันล้าน ในเครือ ‘เซ็น’

ล่าสุด “บมจ.เซ็นคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” ลงนามความร่วมมือกับ “บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด” เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานพร้อมรับประทาน ตรา วี คอร์น

บุญยงกล่าวอีกว่า บริษัทต้องการทำตลาดเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยการร่วมมือ กับ ‘วีคอร์น’ ถือเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน และยังทำรายได้ให้บริษัทให้มากยิ่งขึ้น

ด้านอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหารบริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การ Co-Branding เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท จากปกติที่บริษัทมีอัตราการเติบโตที่ 5-10% ต่อปี และคาดว่าหลังจากร่วมมือกันแล้วจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้เติบโตเป็น 20-25%

การร่วมมือกันระหว่าง “ตำมั่ว” และ “วีคอร์น” ยังทำให้เกิด 3 โมเดลธุรกิจใหม่ (Business Model) ที่ช่วยสร้างการเติบโตทั้งสองฝั่ง ดังนี้

(1) ร้านตำมั่วเปลี่ยนซัปพลายเออร์ (Supplier) โดยมี “วี ฟู้ดส์” เป็นซัปพลายเออร์ ‘ข้าวโพด’ รายใหม่ พร้อมด้วยเมนูใหม่คือ “ตำข้าวโพด คอร์นพร้อมรับประทานสูตรตำมั่ว” เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยอภิรักษ์คาดการณ์ว่าเมนูใหม่จะเริ่มวางขายภายในสิ้นปี 2562

(2) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน คือข้าวโพดถ้วยพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) วางจำหน่าย ณ ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น

(3) เปิดแบรนด์ใหม่ชื่อ “Crazy Corn” ข้าวโพดปิ้ง วางจำหน่ายในรูปแบบตู้คีออส (Kiosk) ตามหน้าร้านตำมั่ว ลาวญวนและเขียง ตามสถานีปั๊มน้ำมัน ปตท. ทั่วประเทศ

โดยโมเดลที่ 3 จะเริ่มต้นวางจำหน่ายในร้านตำมั่ว 30 สาขาตามสถานีปั๊มน้ำมัน และร้านเขียง 11 สาขา  ก่อนจะวางขายหน้าร้านตำมั่วทุกสาขาทั่วประเทศ

อภิรักษ์กล่าวอีกว่า กลยุทธ์การเปิดแฟรนไชส์มีข้อดีคือ ‘ต้นทุน’ ที่ราคาไม่ได้สูงเกินไป อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบริษัทยังไม่ได้มีการกำหนดและตกลงราคาค่าแฟรนไชส์

ในอนาคตยังมีแผนจะขยายแฟรนไชส์คีออสไปตามพื้นที่ที่มีทราฟฟิกสูง อาทิ  โรงพยาบาล โรงภาพยนตร์ หรือตามออฟฟิศ สำนักงาน ตามพื้นที่ต่างๆ



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online