ฮะจิบัง ราเมน ความสำเร็จที่ยังต้องพัฒนา (วิเคราะห์) ทำไมความสำเร็จของแบรนด์กับกำไรจึงสวนทางกัน !

ถ้าพูดถึงแบรนด์ราเมนที่อยู่คู่ในตลาดอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมานาน เชื่อว่า หลายคนคงนึกถึงชื่อฮะจิบัง ราเมน เป็นชื่อแรกๆ

เพราะฮะจิบัง ได้ชื่อว่า เป็นผู้บุกเบิกตลาดราเมนในประเทศไทย มาอย่างยาวนาน

ตลาดราเมน 3,142 ล้านบาท ใครเป็นเบอร์ 1 ในตลาด

ลองคิดเล่นๆ ดู ก่อนที่จะเฉลยให้บรรทัดถัดไป

เราอาจจะบอกคุณว่า เบอร์ 1 ในตลาดราเมง คือบะหมี่หมายเลข 8 ที่มีชื่อแบรนด์อย่างเป็นทางการว่า ฮะจิบัง ราเมน

และฮะจิบังนี้เองยังได้ชื่อว่าผู้บุกเบิกตลาดราเมนญี่ปุ่นในประเทศไทยอีกด้วย

เพราะจากข้อมูลที่บริษัท ไทยฮะจิบัง ผู้ทำตลาดฮะจิบัง ราเมน ในประเทศไทย ที่ได้แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ไว้ว่าในปี 2560 ไทยฮะจิบัง มีรายได้ที่ 1,710 ล้านบาท

ซึ่งรายได้ที่ว่านี้ทำให้ฮะจิบังได้กลายเป็นเบอร์ 1 ในตลาดที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% แซงหน้าคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่น

 

 

แต่การเป็นเบอร์ 1 ในตลาดราเมนของฮะจิบัง ได้มีความท้าทายไม่น้อย เพราะเมื่อดูจากผลกำไร ฮะจิบัง กำไรลดลงในทุกๆ ปี

ด้วยเหตุผลคือ ต้นทุนการดำเนินงานจากค่าใช้จ่ายในการขายและการบริการที่สูงขึ้น อย่างเช่นค่าเช่าที่ เงินเดือนพนักงาน และอื่นๆ

การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและการบริการเป็นต้นทุนที่บางธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นโจทย์ใหญ่ของธุรกิจในการบริหารการจัดการเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยยังคงรักษาราคาจำหน่ายเท่าเดิม

เพราะการขึ้นราคา หรือลดปริมาณอาหารไม่ใช่คำตอบของการทำธุรกิจที่ดีนัก โดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันกันสูงจากคู่แข่งราเมนเจ้าต่างๆ

มามองในมุมการตลาดกันบ้าง ว่าอะไรคือสิ่งที่เรามองว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้ ฮะจิบัง ราเมน ประสบความสำเร็จด้วยยอดรายได้ที่เติบโตขึ้นทุกปี

1. Brand Awareness ที่ใครๆ ก็รู้จัก

ฮะจิบัง ราเมน ถือว่าเป็นราเมนแบรนด์แรกๆ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดย ครอบครัวเหลืองภัทรเมธี ได้ร่วมทุนกับ บริษัท ฮะจิบัง จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท ไทยฮะจิบังขึ้นมาในปี 2534 โดยร้านฮะจิบังสาขาแรกตั้งอยู่ที่สีลมคอมเพล็กซ์

ซึ่งการร่วมทุนนี้เกิดมาจาก ไพศาล เหลืองภัทรเมธี ได้มีโอกาสในการลองลิ้มชิมรส ฮะจิบัง ราเมง ที่ประเทศญี่ปุ่น และติดใจในรสชาติราเมนแบรนด์นี้เข้า จนอยากที่จะนำเข้ามาทำตลาดไทย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนไทย ในวันที่อาหารญี่ปุ่นในไทยยังไม่มีความหลากหลายให้เลือกมากนัก และส่วนใหญ่เป็นอาหารญี่ปุ่นจัดเซตที่มีราคาค่อนข้างสูง

การเป็นผู้มาในตลาดก่อน และอยู่ในตลาดมานานถึง 28 ปีของฮะจิบัง ทำให้ชื่อฮะจิบังซึมซับอยู่ในใจของผู้บริโภคว่าเมื่อคิดถึงราเมน จะคิดถึงฮะจิบังเป็นแบรนด์แรกๆ โดยไม่รู้ตัว

2. เมนูไม่ต้องมาก แต่ขออิ่ม อร่อย ราคาไม่แพง

สิ่งที่ฮะจิบังทำให้ดีอีกอย่างหนึ่งคือ การเข้ามาในตลาดในช่วงที่อาหารญี่ปุ่นมีเพียงภัตคารอาหารญี่ปุ่น ที่มีอาหารประเภทจัดเซตอาหารพร้อมข้าว และราคาแพง ทำให้การรับประทานอาหารญี่ปุ่นถูกจำกัดในวงแคบๆ เฉพาะผู้มีฐานะเท่านั้น

การที่ฮะจิบังโฟกัสไปที่ราเมงอย่างเดียว ทำให้ฮะจิบังไม่ต้องมีต้นทุนในการสต๊อกวัตถุดิบอาหารหลากหลายเท่าภัตคารอาหารที่มีอาหารให้เลือกมากมาย

การที่วัตถุดิบที่ใช้ในการขายราเมนฮะจิบังก็มีเพียงราเมน น้ำซุป เป็นหลัก ที่มีต้นทุนอาหารไม่สูงมากนัก ทำให้สามารถตั้งราคาขายไม่ถึง 100 บาทต่ออิ่มได้ ทำให้ฮะจิบังสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าทุกระดับได้มากขึ้น  

นอกจากนี้ ฮะจิบังยังมีการจัดเซตอาหาร ราเมน ของรับประทานเล่น และเครื่องดื่ม ซึ่งการจัดเซตอาหารนี้ แม้จะลดราคาจากราคาขายปกติต่อชามไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ลูกค้าตัดสินใจในการสั่งอาหารได้ง่ายขึ้น เพราะตามหลักจิตวิทยาลูกค้าจะมองว่าสั่งเป็นเซตที่ร้านจัดมาให้จะคุ้มค่าและถูกเงินในกระเป๋ามากกว่า

3. สาขาหลักร้อยแทรกตัวอยู่ทุกที่ในห้าง

สิ่งที่สำคัญของฮะจิบังอีกประการหนึ่งคือการมีสาขาจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีมากกว่า 122 สาขา  แทรกตัวอยู่ในห้างสรรพสินค้าทั้งห้างใหญ่และเล็ก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า ที่ไม่ต้องการรับประทานอาหารที่มีราคาสูงมากนักได้เป็นอย่างดี

แต่จุดด้อยของการขยายสาขาจำนวนมากๆ คือมาตรฐานพนักงานในการให้บริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริการไทยฮะจิบังจะต้องอุดช่องโหว่ในเรื่องนี้ต่อไป

 

4. ฮะจิบัง ราเมน รับชำระแต่เงินสด และบัตรสมาชิกแบบเปิดรับสมัครเฉพาะเดือน

ร้านฮะจิบัง แตกต่างจากร้านอาหารอื่นๆ ที่มีอยู่ในห้างคือ รับเฉพาะเงินสดเท่านั้น

การรับเฉพาะเงินสดนี้เองทำให้ ไทยฮะจิบัง ไม่ต้องเสียรายได้ให้กับค่า Fee เมื่อลูกค้าชำระผ่านบัตรเครดิต

แต่ข้อดีก็เป็นจุดด้อยเช่นกัน เพราะบางครั้งลูกค้าอาจจะรู้สึกถึงความไม่สะดวกที่ต้องไปกดเงินสดเมื่อมาชำระค่าอาหารในกรณีที่มีเงินสดพกติดตัวไม่พอ หรือลูกค้าบางคนยอมสั่งอาหารลดลงให้เพียงพอกับเงินสดในกระเป๋า เพราะไม่อยากเสียเวลาไปกดเงินเพื่อมาจ่ายหลังรับประทานเสร็จ

และนอกจากนี้ ฮะจิบัง ยังมีการทำโปรแกรม CRM ผ่านบัตรสมาชิก ที่เปิดให้ทำบัตรสมาชิกเฉพาะเดือนสิงหาคม จนกว่าบัตรจะหมด โดยบัตรสมาชิกนี้สามารถลดค่าอาหารในร้านได้ 10%

การที่ฮะจิบังเปิดรับสมัครสมาชิกเพียงเดือนสิงหาคม มีทั้งผลดีและผลเสียคือ

ผลดี เป็นกิมมิกการตลาดที่ล้อไปกับเลข 8 และการมีผู้ถือบัตรสมาชิกไม่มากนัก ทำให้ฮะจิบังไม่ต้องเสียรายได้จากการมอบส่วนลดให้กับสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการ

ผลเสีย เป็นการทำ CRM ที่อยู่ในวงลูกค้าที่จำกัด ทำให้ฮะจิบังไม่สามารถนำดาต้าเบส จากฐานลูกค้าสมาชิกไปใช้ต่อยอดในการวิเคราะห์ลูกค้าได้เต็มที่นัก เพราะอย่าลืมว่ามีลูกค้าประจำอีกมากมาย ที่ไม่ได้สมัครสมาชิก จากช่วงเวลาที่เข้ามารับประทานไม่ตรงกับช่วงเปิดรับสมาชิกใหม่

 

ทั้งนี้ การทำตลาดของฮะจิบัง ราเมน แม้จะไม่ต้องโฆษณามาก แต่ก็สามารถสร้างการรับรู้และรายได้ จากการเป็นผู้บุกเบิกในตลาดและการรักษารสชาติของอาหารให้ดีย่อมเป็นสิ่งที่สร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online