อี๊สต์ เอเชียติ๊ก อาคารเก่าริมเจ้าพระยาที่อาจกำลังเป็น Story ใหม่ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี

สัปดาห์ก่อน  Marketeer ได้เขียนถึงโรงภาษีร้อยชักสามอาคารที่มีอายุถึง 131 ปี ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงข้ามไอคอนสยามที่ถูกทิ้งร้างมานาน ซึ่งตอนนี้ก็ทราบแล้วว่าบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาพลิกโฉมใหม่ ให้เป็นลักชัวรีโฮเต็ล กำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2568

หลายๆ คนอาจจะยังสงสัยว่า เอ้า! แล้ว อาคารสีขาวเก่าแก่อีกหลังหนึ่งที่ยังคงร่องรอยความสวยงามไม่แพ้กัน  ถูกทิ้งเป็นอาคารร้างและอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน โดยตั้งอยู่ติดกับตรอกโอเรียนเต็ลและโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล  เป็นของใคร

วันนี้เราจะย้อนอดีตกันอีกครั้ง

ตึกหลังนี้คือที่ตั้งของบริษัทอี๊สต์ เอเชียติ๊ก ซึ่งในประวัติของบริษัทระบุไว้ว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2434 หรือเมื่อประมาณ 128 ปีมาแล้ว  โดยในปี พ.ศ. 2427 มร.เอ็ช เอ็น แอนเดอร์เซ่น กัปตันเรือชาวเดนมาร์กได้มาเปิดบริษัทการค้าขึ้นในเมืองไทย (กัปตันเรือคนนี้เคยปรากฏชื่อเป็นเจ้าของโรงแรมโอเรียนเต็ลอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง) พื้นที่เดิมเคยเป็นบ้านเก่าหลังหนึ่งที่บริษัทได้ใช้เป็นโกดังเก็บสินค้า ส่วนสำนักงานใหญ่ในช่วงเวลานั้นได้เช่าพื้นที่อยู่ในโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล

ต่อมาบ้านหลังนั้นรื้อทิ้งเพื่อสร้างเป็นอาคาร อี๊สต์ เอเชียติ๊ก (EAC Building) อย่างที่เห็น มีชื่อของอันนิบาเล ริก็อตติ (Annibale Rigotti) สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบ

อาคารหลังนี้สูง 3 ชั้น ตัวอาคารหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าอาคารมีบันไดจากภายนอกเข้าสู่อาคาร ชั้น 2 บริเวณกึ่งกลางอาคาร มีการก่ออิฐฉาบปูน  3 ชั้น ด้านบนเป็นดาดฟ้า

รูปแบบของอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตกใน Style Neo-Renaissance  หลักฐานที่บ่งบอกช่วงเวลาในการก่อสร้างคือภาพร่องรอยความสวยงามของมุข  ซุ้มประตูและหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลมที่ยังเห็นได้อย่างชัดเจน

ประมาณปี พ.ศ. 2538  บริษัท อี๊สต์ เอเชียติ๊กส์ ได้ย้ายไปที่อาคารลุมพินีทาวเวอร์ และขายอาคารสำนักงานใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอายุเกือบศตวรรษนี้ให้กับเจริญ  สิริวัฒนภักดี แห่งกลุ่มไทยเบฟ ที่คาดว่ามีความต้องการที่จะซื้อไว้พัฒนาเป็นบูทีคโฮเต็ลหรู ริมแม่น้ำ

โครงการโอเรียนเต็ลพลาซ่า หรือห้างสิงห์โตเก่า ศูนย์การค้าเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับตึก EAC เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เจริญซื้อและพัฒนาเป็นโครงการ O.P.PLACE  ศูนย์การค้าเล็กๆ ที่เชื่อมต่อไปยังตัวอาคารอี๊ตส์ เอเชียติ๊กได้

 

ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย (ปี 2533-2534 ) จนถึงยุควิกฤตต้มยำกุ้ง (2540) เจริญได้เทกโอเวอร์กิจการด้านอสังหริมทรัพย์อย่างดุเดือดกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมหลายโครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งตึก “เอ็มไพร์ทาวเวอร์” จากกลุ่มฮ่องกงแลนด์ ทำให้เขามีโครงการที่ต้องพัฒนาในมือมากมาย

เมื่อมาเจอกับปัญหาของวิกฤตเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2540 ทำให้การพัฒนาโครงการหรู คลาสสิก ริมแม่น้ำนี้ได้ถูกเลื่อนไปหลายครั้ง

อาคารหลังนี้ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และมีการซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2544 และเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นปี พ.ศ. 2527 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

เมื่อปลายปี 2561 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562  ถูกจัดให้เป็นสถานที่หนึ่งในการจัดแสดงงานศิลปะ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 “(Bangkok Art Biennale 2018) และเป็นครั้งแรกที่ได้เปิดให้ผู้ชมได้เข้าไปดูงานสถาปัตยกรรมที่สวยงามภายใน

แม้เจ้าสัวเจริญยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะพลิกโฉมสถานที่แห่งนี้ให้เป็นโรงแรมมหรูตามเป้าหมายเดิมเมื่อไรแต่ปัจจุบันก็มีการเข้าไปซ่อมแซมพื้นที่ภายในแล้ว และคาดว่าอีกไม่นาน ข่าวการเปิดตัวโรงแรมหรูแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาคงเกิดขึ้น เพื่อรองรับการท่องเที่ยวริมน้ำที่ทวีความคึกคักขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันนี้อาคาร อี๊สต์ เอเชียติ๊ก ไม่ได้ถูกทิ้งร้างไว้เฉยๆ เพื่อรอเวลาการปรับปรุงครั้งใหญ่ แต่พื้นที่ด้านนอกยังให้เช่าเป็นที่ถ่ายภาพยนตร์ โฆษณา และจัดเลี้ยงอีกด้วย โดยบริษัทในเครือคือ เจริญกรุง สตูดิโอ เป็นผู้ดูแล

—————————————————————–

ที่ดินแปลงประวัติศาสตร์และของตระกูลเก่าในมือเจริญ 

ก่อนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 4 ของเมืองไทยนั้นเจริญคือพ่อค้าหาบของขายในย่านสำเพ็ง ที่มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งจากการไปทำธุรกิจสุรา ที่ต้องผ่านระบบอุปถัมภ์และสัมปทาน ต้องอาศัยเส้นสายผ่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในสังคมมากมาย การได้ซื้อที่ดินแปลงเก่าๆ ที่มีประวัติศาสตร์ หรือเคยเป็นของตระกูลเก่าแก่มาก่อนอาจจะเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของเขา

ดังนั้น นอกจากการเป็นเจ้าของอาคารหลังนี้แล้วเขายังเป็นเจ้าของอีกหลายแปลง เช่น ไปซื้อ เวิ้งนาครเขษม 14 ไร่ ซึ่งเป็นสมบัติของกองมรดก 5 ตระกูลใหญ่คือ กิติยากร สวัสดิวัตน์ เทวกุล โสณกุล และ บุญยะปานะ เมื่อปี พ.ศ. 2555 มูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท ปัจจุบันกำลังพัฒนาเป็นย่านการค้า

ซื้อโครงการพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ของตระกูลบุนนาค และเป็นเจ้าของที่ดินบนถนนเจริญกรุง พื้นที่  70 ไร่ ซึ่งเดิมเคยเป็นท่าเรือของบริษัทอี๊สต์ เอเชียติ๊ก บริษัทเดินเรือสัญชาติเดนมาร์กที่มาเปิดกิจการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นโครงการ เอเชียทีค ริเวอร์ ฟร้อนท์    

รวมทั้งได้กรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พื้นที่ 104 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4  ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหาร และสวนลุมไนท์บาซาร์ เพื่อพัฒนาเป็นโครงการ  One Bangkok  

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online