สติ๊กเกอร์ไลน์ ของฟรีก็มี แต่ทำไมผู้ใช้ยังต้องซื้อจนยอดขายโตต่อเนื่อง (วิเคราะห์)

จากข้อมูลของไลน์ ประเทศไทย พบว่าคนไทยซื้อสติกเกอร์เพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 2 ปีที่ผ่านมา

โดยปัจจุบันคนไทยมีสติกเกอร์เสียเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 20 เซตต่อคน จากสติกเกอร์ 65 เซต ที่คนไทยโหลดไว้อยู่ในเครื่อง

นอกจากนี้ จากข้อมูลของไลน์ยังพบกว่ายอดขายธีมตกแต่งหน้าจอยังมีสัดส่วนรายได้ในธุรกิจสติกเกอร์และธีมที่เพิ่มขึ้นจาก 30% ในปีที่ผ่านมา เป็น 45% ในปัจจุบัน

การเติบโตด้านยอดจำหน่ายสติกเกอร์ของไลน์ประเทศไทย เป็นการเติบโตติดทอป 3 ในตลาดไลน์โลก รองจากญี่ปุ่น และไต้หวัน

จำนวนผู้ใช้ไลน์
ที่มา : รายงานประจำปี ไลน์ คอร์ปอเรชั่น

แม้ประเทศไทยจะมีการเติบโตเพียงแค่ทอป 3 ของตลาด แต่สำหรับจำนวนสติกเกอร์ทั้งหมดแล้ว ไทยกลับเป็นประเทศที่มีสติกเกอร์วางขายในจำนวนที่สูงสุดคือ 2.2 ล้านเซต จากจำนวนสติกเกอร์ทั้งหมด 6 ล้านเซต หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของตลาดสติกเกอร์ไลน์ทั่วโลก ส่วนญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย เป็นสามประเทศที่มีจำนวนไลน์สติกเกอร์รองลงมา

 

สิ่งที่ทำให้ไลน์ประเทศไทยเติบโตด้านยอดการซื้อสติกเกอร์และธีม มาจาก

1. หาสติกเกอร์สูตรใหม่ๆ กระตุ้นตลาด

จากข้อมูลไลน์ประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่าคนไทยส่งสติกเกอร์ 11,000 ล้านครั้งในปีที่ผ่าน หรือเฉลี่ย 31 ล้านครั้งต่อวัน จากผู้ใช้ 44 ล้านคน

การส่งสติกเกอร์ในความถี่ที่มากขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยมองการส่งสติกเกอร์เป็นตัวแทนความรู้สึกไปยังบุคคลที่แชทด้วย

และที่ผ่านมาไลน์มีการเปิดตัวสติกเกอร์ในแพลตฟอร์มลูกเล่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอยู่เสมอ อย่างเช่น สติกเกอร์มีเสียง สติกเกอร์ดุ๊กดิ๊ก สติกเกอร์เพลง ป๊อปอัพสติกเกอร์ และอื่นๆ

ซึ่งการเปิดตัวสติกเกอร์แพลตฟอร์มและลูกเล่นใหม่ๆ ทำให้ไลน์สามารถตั้งราคาจำหน่ายให้กับสติกเกอร์ได้สูงขึ้น และสูงสุดถึง 150 บาท จากเดิมที่มีสติกเกอร์ในรูปแบบ Static ที่เป็นภาพนิ่งเพียงอย่างเดียว จำหน่ายในราคาเซตละ 30 บาท (อ้างอิงจากออฟฟิเชียลสติกเกอร์) ในขวบปีแรกๆ  

โดยในปีนี้ไลน์จะมีการออกสติกเกอร์เพิ่มอีก 2 แพลตฟอร์มหลัก คือ Custom Sticker สติกเกอร์ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเติมคำได้เอง และสติกเกอร์ขนาดใหญ่เต็มจอ

 

2. ครีเอเตอร์สร้างความหลากหลาย

จากอดีตที่ผ่านมาไลน์มีสติกเกอร์ที่เป็น สติ๊กเกอร์ไลน์ แนวผู้หญิงน่ารัก หวานแหววจำนวนมากทำให้สัดส่วนลูกค้าที่ซื้อสติกเกอร์ในไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงเป็นหลัก

จนในปี 2014 ไลน์ได้เปิดธุรกิจสติกเกอร์ ครีเอเตอร์ ให้บุคคลทั่วไป ผลิตสติกเกอร์ขายผ่านไลน์ได้

การที่ไลน์ให้บริการสติกเกอร์ ครีเอเตอร์ ทำให้ไลน์มีสติกเกอร์ที่มีความหลากหลายด้านคาแรกเตอร์ เจาะกลุ่มทั้งหญิงและชาย ที่เข้าถึงความชอบของแต่ละบุคคลมากขึ้น

และการเติบโตของสติกเกอร์กลุ่มครีเอเตอร์นี่เองทำให้ในปัจจุบันไลน์มีจำนวนสติกเกอร์จากครีเอเตอร์มากถึง 2 ล้านเซต เติบโต 34% จากครีเอเตอร์ 480,000 ราย และครีเอเตอร์บางรายมีสติกเกอร์วางจำหน่ายมาถึง 1,000 เซต

โดยในปีที่ผ่านมา สติกเกอร์ชื่อ เป็นสติกเกอร์ที่สร้างการเติบโตให้กับสติกเกอร์กลุ่มครีเอเตอร์

ส่วนปีนี้สติกเกอร์ชื่อไม่ได้เป็นสติกเกอร์ที่สร้างรายได้หลักให้กับครีเอเตอร์อีกต่อไป เพราะผู้ใช้ไลน์ที่ซื้อสติกเกอร์มาใช้ส่วนใหญ่จะมีสติกเกอร์ชื่อเป็นของตัวเองแล้ว แต่สติกเกอร์อักษรตัวใหญ่ สติกเกอร์สัตว์เลี้ยง ยังเป็นกระแสที่อยู่ในความต้องการของผู้ซื้อ

3. คาแรกเตอร์ดารา สร้างกระแสแฟนคลับ

ไลน์มีการจับมือกับศิลปิน ดารา เซเลบ และช่องรายการทางทีวีต่างๆ ออกไลน์ออฟฟิเชียลสติกเกอร์ในรูปของศิลปิน ออกมาให้แฟนคลับได้ดาวน์โหลด จากการเห็นพลังของแฟนคลับที่ต้องการมีสติกเกอร์ศิลปินที่ชื่นชอบไว้ดูและส่งให้เพื่อน

โดยปัจจุบันไลน์มีสติกเกอร์ศิลปินที่เป็นออฟฟิเชียลสติกเกอร์อยู่ที่ 100 เซต โดย BNK48, The Toys และคริส-สิงโต เป็นสติกเกอร์ศิลปินที่ได้รับความนิยมสูงในเวลานี้

นอกจากออฟฟิเชียลสติกเกอร์ ไลน์ยังมีการต่อยอดธุรกิจจากคาแรกเตอร์ศิลปิน ด้วยการจัดทำธีมหน้าจอรูปศิลปิน เพื่อสร้างรายได้จากการขายธีมกับแฟนคลับศิลปินนั้นๆ โดยที่ผ่านมา 40% ของลูกค้าสติกเกอร์คาแรกเตอร์ศิลปิน จะซื้อธีมหน้าจอศิลปินด้วย

 

4. โปรโมชั่นกระตุกลูกค้าใหม่

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไลน์มีการจัดทำแคมเปญโปรโมชั่นลดราคาสติกเกอร์บางเซตเหลือเพียง 6 บาท

ซึ่งการลดราคาสติกเกอร์ทำให้ไลน์สามารถหาลูกค้าที่เป็นนิวยูสเซอร์ให้เข้ามาลองซื้อสติกเกอร์ไปใช้งาน เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานกับผู้ใช้รายใหม่ๆ

นอกจากนี้ในแคมเปญโปรโมชั่น ส่วนของธีมหน้าจอไลน์ยังมีกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าด้วยการแจกธีมฟรีให้ทดลองใช้ในเวลาจำกัด ซึ่งถ้าลูกค้าใช้แล้วชอบธีมนั้นๆ ก็สามารถซื้อธีมมาใช้ต่อได้

ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจธีมหน้าจอมีการเติบโตด้านรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 45% ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับรายได้จากการขายสติกเกอร์และธีมทั้งหมดของไลน์ประเทศไทย

 

5. ช่องทางชำระเงิน สติ๊กเกอร์ไลน์

แรกเริ่มเดิมทีความท้าทายในตลาดสติกเกอร์เสียเงินของไทยคือ ช่องทางการซื้อสติกเกอร์ที่ค่อนข้างยุ่งยาก แม้ไลน์จะมีหลายช่องทางให้เลือกซื้อก็ตาม

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ไลน์หาช่องทางใหม่ๆ ในการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าซื้อสติกเกอร์ได้ง่ายขึ้น เพราะการซื้อง่ายหมายถึงยอดจำหน่ายในการขายสติกเกอร์ที่เพิ่มขึ้นตามมา

กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการธุรกิจสติกเกอร์ ไลน์ ประเทศไทย ได้บอกกับเราว่าจากสถิติที่ผ่านมาไลน์สามารถเพิ่มยอดขายสติกเกอร์ได้มากถึง 140% ทุกๆ ครั้งที่มีการเปิดช่องทางการซื้อขายสติกเกอร์ใหม่ๆ

โดยที่ผ่านมาไลน์มีการเปิดช่องทางใหม่ๆ อย่างการซื้อผ่านตู้บุญเติม การจับมือกับพาร์ตเนอร์อย่างเช่น เอไอเอส ในการนำพอยต์สะสมของเอไอเอสมาแลกสติกเกอร์ไลน์ฟรี

รวมถึงการให้ความสำคัญกับแม่ค้าที่เป็นบุคคลทั่วไป ที่เป็นตัวกลางในการซื้อสติกเกอร์ให้กับผู้ใช้ไลน์ที่ต้องการซื้อสติกเกอร์ แต่ซื้อเองไม่เป็น หรือมองว่าช่องทางการซื้อในรูปแบบนี้สะดวกกว่าการซื้อด้วยตัวเอง

โดยไลน์ได้มีการคัดเลือกและแต่งตั้งแม่ค้ากลุ่มนี้ให้เป็นตัวแทนอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อสติกเกอร์ผ่านช่องทางนี้

ปัจจุบันตัวแทนขายสติกเกอร์ที่เป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากไลน์ 80 คน และในปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในกลุ่มนี้เป็น 500 คน เพื่อให้ตัวแทนเหล่านั้นเป็นพลังที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการขายสติกเกอร์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กณพยังบอกกับเราว่า ในอนาคตจะมีการขยายรูปแบบธีมจากคาแรกเตอร์การ์ตูนให้มีธีมในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้น

เพราะที่ผ่านมาความท้าทายของธีมหน้าจอของไลน์คือลูกค้าผู้ชายไม่รู้จะซื้อธีมอะไร เพราะส่วนใหญ่ธีมที่นำมาจำหน่ายจะเป็นคาแรกเตอร์ที่เหมาะสำหรับผู้หญิง

โดยล่าสุดไลน์ได้มีการจับมือกับพิชัย แก้ววิชิต ในการในนำภาพถ่ายมาทำเป็นธีมหน้าจอออกจำหน่ายในอนาคต ซึ่งพิชัยเป็นมอเตอร์ไซค์วินที่มีมุมมองการถ่ายภาพที่สวยในแบบฉบับตัวเอง จนสามารถนำภาพถ่ายจัดเป็นแกลเลอรีผลงานของตัวเอง

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำระบบ CRM แต้มคะแนนสะสมให้กับลูกค้าที่ซื้อสติกเกอร์ไลน์ เพื่อนำคะแนนไปแลกเป็นสติกเกอร์และอื่นๆ

เพราะการเปิด CRM สะสมแต้มของไลน์ กณพเชื่อว่าจะช่วยดึงให้ลูกค้าซื้อสติกเกอร์ในความถี่ที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online