ร้านกาแฟ กับสิ่งแวดล้อม โจทย์ที่แบรนด์ต้องหาคำตอบ กรณีศึกษา คาเฟ่ อเมซอน, อินทนิล และ สตาร์บัคส์

ร้านกาแฟ ในบ้านเรา ทั้งแบรนด์ไทย แบรนด์นอก แบรนด์อินดี้ เติบโตมากขึ้นทุกวัน จากตัวเลขสถิติของบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) ที่ระบุว่าอัตราเฉลี่ยในการบริโภคกาแฟของคนไทยอยู่ที่ปีละ 300 แก้ว/คน/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกมาก  

ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่แบรนด์ ร้านกาแฟ จะถูกมองว่าเป็นตัวการหนึ่งที่มีผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะแก้วกาแฟพลาสติก 1 ใบ ใช้เวลาย่อยสลายตามธรรมชาตินานหลายร้อยปี

ฟังเหมือนเป็นการกล่าวหาที่ ”รุนแรง” แต่กาแฟแบรนด์ดังเขาขยับตัวรับมือกับความคิดนี้มานานแล้ว

Café Amazon Circular Living Concept  ตอกย้ำนโยบายแบรนด์ใหญ่ ปตท.

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก  (พีทีที โออาร์) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (จีซี)  ได้ร่วมกันแถลงข่าว เปิดร้าน “คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปต์ ” (Café Amazon Circular Living Concept) สาขา พีทีที สเตชั่น สามย่าน

ที่มีหลักการสำคัญคือนำขยะที่เกิดขึ้นในร้านคาเฟ่ อเมซอน มาแปรรูปเพื่อใช้งานด้านต่างๆ ภายในร้านใหม่ เพื่อลดการสร้างมลภาวะให้กับโลก

ที่ผ่านมา ปตท. เดินหน้าเอาจริงในเรื่องรักษ์โลกมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น เน้นเรื่องการปลูกป่า หรือเรื่องสร้างโปรดักส์ น้ำมันไร้สารตะกั่ว

คราวนี้ยังเป็นการตอกย้ำนโยบายการให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง โดยมีบริษัทลูกคือจีซี เป็นผู้สนับสนุนคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ความสำคัญในการนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่ามาสร้างสรรค์ออกแบบร่วมกับดีไซเนอร์ให้เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และให้บริษัทพีทีที โออาร์ เป็นที่สร้างแบรนด์ ทำความเข้าใจกับลูกค้าจำนวนมากผ่านร้านคาเฟ่ อเมซอน ที่มีถึง 2,700 สาขา

วันนี้ คาเฟ่ อเมซอน ทุกสาขาได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของใช้ภายในร้านให้เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ อาทิ แก้วร้อน (Bio PBS) ที่เป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพย่อยสลายสู่ธรรมชาติได้ 100% แก้วเย็น (Bio PLA) ที่ทำจากพืช 100% หลอด (Bio PBS + PLA) รวมถึงการใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติกใส่เบเกอรี่ ซึ่งจากการดำเนินงานโดยรวมทั้งหมดสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกของร้านได้ถึง 645 ตันต่อปี

แต่ความพิเศษของร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาสามย่าน คือ ใช้วัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกร้าน ที่ทำมาจากวัสดุเหลือใช้ทั้งจากภายในร้านคาเฟ่ อเมซอน โรงคั่วกาแฟ และขยะพลาสติกที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นของตกแต่ง ภายใต้แนวความคิด “เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง”

และจากนี้ไปการขยายสาขาใหม่ของร้านคาเฟ่ อเมซอน จะเป็นคอนเซ็ปต์ Circular Living ทั้งหมด ส่วนสาขาเก่าที่ปัจจุบันมี 2,600 สาขา เมื่อถึงเวลารีโนเวตร้านก็จะใช้รูปแบบ Circular Living เช่นกัน

 

ร้านกาแฟ ใหญ่อย่าง “สตาร์บัคส์” ยิ่งต้องรักษ์โลก

ทางฝั่งสตาร์บัคส์ แบรนด์ดังของโลก ทำอะไรบ้างในเรื่องนี้ ใครเป็นแฟนคลับของสตาร์บัคส์จะรู้ดีว่า แบรนด์นี้รณรงค์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมมานานเช่นกัน โดยมีนโยบายใน 4 เรื่องคือ

1. ลดการใช้พลาสติก โดยสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วมาเอง ลดใช้หลอดและช้อนส้อมพลาสติก มานานกว่า 40 ปี และยังได้มอบส่วนลด 10 บาท ให้กับลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้านด้วย

ผู้บริหารสตาร์บัคส์เคยให้ข่าวว่าตั้งแต่  ปี 2556-2561 สตาร์บัคส์และลูกค้าในประเทศไทยได้ร่วมกันลดการใช้แก้วกระดาษและพลาสติกไปแล้วกว่า 10 ล้านใบในเดือนกรกฎาคม 2562

ที่ผ่านมาสตาร์บัคส์ยังได้ประกาศเป้าหมายในการยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกในร้านสตาร์บัคส์ 30,000 สาขาทั่วโลกภายในปี 2020 ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยลดการใช้พลาสติกกว่า 1 พันล้านชิ้นต่อปีโดยในบางประเทศจะนำร่องเริ่มใช้แก้วดีไซน์แบบใหม่ที่มีฝาปิดสามารถยกจิบได้เลยภายในกลางปีนี้

2. นำกากกาแฟ ลับมาใช้ โดยสามารถเข้าไปขอกากกาแฟเพื่อใช้เป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้ที่ร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขาฟรี ภายใต้โครงการ “Grounds for Your Garden” และปัจจุบัน โต๊ะภายในร้านสตาร์บัคส์ ประเทศไทย กว่า 60% เป็นโต๊ะที่ผลิตจากกากกาแฟ

3. การพัฒนาร้านกาแฟสีเขียว ที่ได้รับรองมาตรฐาน LEED® (Leadership in Energy and Environmental Design) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา  

ปัจจุบัน สตาร์บัคส์มี “ร้านกาแฟสีเขียว” ที่ได้รับรองมาตรฐานดังกล่าวกว่า 1,500 สาขา ใน 20 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ ตั้งอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 50 สาขา นับเป็นประเทศที่มีร้านกาแฟสีเขียวที่ได้รับ LEED certified มากที่สุดนอกสหรัฐอเมริกา

ร้านกาแฟสีเขียวของสตาร์บัคส์สาขาแรกในไทยคือสาขาปอร์โตชิโน่ นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ ยังได้ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มจำนวนร้านกาแฟสีเขียวเป็น 10,000 สาขาทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2568 อีกด้วย

4. ใช้แก้วที่ รีไซเคิลและย่อยสลายได้ 100% ในปี 2563  ร้านสตาร์บัคส์ในหลายๆ ประเทศจะเริ่มทดลองใช้แก้วประเภทนี้ ภายใต้โครงการ NextGen Cup Challenge ที่สตาร์บัคส์ร่วมกับบริษัท โคลส ลูปส์ พาร์ทเนอร์ส  คิดค้นขึ้นมาและใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 320 ล้านบาท ในระยะเวลาการวิจัย 3 ปี

“อินทนิล” ตั้งเป้าการใช้แก้ว Bio Cup 100 ล้านใบในปี 2563

“กาแฟอินทนิล” กาแฟแบรนด์ไทยแท้ ในปั๊มบางจาก เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ร่วมรักษ์โลกมานาน  โดยเริ่มจากสนับสนุนการใช้เมล็ดกาแฟออร์แกนิคอาราบิก้า ซึ่งเป็นผลผลิตของเกษตรกรจากไร่กาแฟชุมชนในภาคเหนือ ที่ดีทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภคเอง เนื่องจากไม่มีสารเคมีทางการเกษตรทุกประเภทเข้ามาปนเปื้อนเลย

ปัจจุบันร้านกาแฟอินทนิลใช้เมล็ดกาแฟออร์แกนิคอาราบิก้ากว่า 15 ตันต่อปี นับว่ามากที่สุดรายหนึ่งในอุตสาหกรรมกาแฟไทย

ร้านกาแฟอินทนิลยังเป็นแบรนด์แรกๆ ที่ริเริ่มให้ลูกค้านำแก้วมาเอง เพื่อช่วยลดการใช้แก้วพลาสติก โดยมอบส่วนลด 5 บาท ช่วยลดพลาสติกจากแคมเปญนี้ไปได้กว่า ปีละ 2 แสนใบ

สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้นำแก้วมาเอง ก็ยังสามารถช่วยรักษ์โลกได้ผ่านแก้ว Bio Cup

สมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาดยืนยันกับ Marketeer ว่า

“กาแฟอินทนิลยังเป็นแบรนด์แรกที่ริเริ่มใช้แก้วกาแฟ Bio Cup ที่ผลิตจากพืชธรรมชาติ 100% ย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน ทำให้เครื่องดื่มอินทนิลเป็นแบรนด์ที่ลดการใช้แก้วพลาสติกได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยตั้งเป้าการใช้แก้ว Bio Cup 100 ล้านใบในปี 2563”

เมื่อต้นปี 2562 ยังได้เปลี่ยนแก้วร้อนแบบ Take Away มาเป็นแก้วกระดาษเคลือบพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (PBS) และยังเป็นแบรนด์กาแฟแรกๆ ที่งดใช้หลอดพลาสติกในเครื่องดื่มเย็นทุกเมนู โดยเปลี่ยนรูปแบบฝาแก้วใหม่เป็นแบบยกดื่ม คาดว่าลดการใช้หลอดพลาสติกได้กว่า 25 ล้านหลอดในสิ้นปี 2562

ส่วนแบรนด์อื่นๆ ทำอะไรกันบ้างจากการรวบรวมของ Marketeer พบว่าหลายแบรนด์ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องเช่น

BlueCup – ใช้หลอดย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ ผลิตจากแป้งข้าวโพด

true coffee – เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ขวดน้ำพลาสติกที่จำหน่ายภายในร้านทั้งหมดเป็น “กล่องน้ำดื่มกระดาษ TrueCoffee” แคมเปญ “Sip Surf & Save” สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติสามารถนำมารีไซเคิลได้

Dunkin’ Donuts – ประกาศจะไม่ใช้ polystyrene foam cups

พันธ์ุไทย/coffee world/เดลี่ คาเฟ่ และดิโอโร่/กลอเรีย จีนส์ คอฟฟี่/McCafé/black canyon/Au Bon Pain จะใช้โปรโมชั่นส่วนลดเมื่อนำแก้วมาเอง

วันนี้ ดื่มกาแฟไปด้วย รักษ์โลกไปด้วย อร่อยขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online