Dean & Deluca รายได้เท่าไร ? วิเคราะห์เส้นทาง Dean & Deluca ทำไมจึงจิบกาแฟไป ปาดเหงื่อไป

Dean & DeLuca เชนร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีอายุ 42 ปี มาในวันนี้ธุรกิจที่ปัจจุบันอยู่ในมือ เพซ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ PACE เหมือนจะไม่ค่อยสดใสเท่าใดนัก เพราะเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวปิดตัวสาขาในสหรัฐฯ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้กับธุรกิจอาหารอย่างมาก

Marketeer สรุป 10 ข้อ รู้เรื่องราวของ ‘ดีน แอนด์ เดลูก้า’ ที่กำลังเป็นประเด็นแบบฉบับเข้าใจง่าย

1. Dean & DeLuca ร้านอาหารและเครื่องดื่มสัญชาติสหรัฐฯ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) โดย Giorgio DeLuca and Joel Dean ที่ย่าน SOHO มหานครนิวยอร์ก จากนั้น พ.ศ. 2538 (ค.ศ. 1995) ผู้ก่อตั้งอย่าง Giorgio DeLuca and Joel Dean ตัดสินใจขายหุ้นใหญ่ให้กับ Leslie Rudd

2. พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) เพซ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ PACE ซื้อกิจการทั้งหมดของ Dean & DeLuca จากบริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า โฮลดิ้งส์ อิงค์ ด้วยจำนวนเงิน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 4,550 ล้านบาท

โดยในการซื้อกิจการขณะนั้น ‘ดีน แอนด์ เดลูก้า’ มีสาขามากกว่า 40 สาขา

3. เมื่อ พ.ศ. 2560 สรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ PACE เคยให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asian Review ว่า การเข้าซื้อกิจการ ‘Dean & DeLuca‘ นั้น ไม่เพียงแต่จะมาเติมเต็มพอร์ตในในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่เพราะชื่อเสียงของธุรกิจอาหารที่มีมาอย่างยาวนานนั้นเป็นสิ่งที่มั่นคง ‘ตราบเท่าที่คุณไม่สร้างความเสียหายต่อแบรนด์

4. สรพจน์ เตชะไกรศรี ให้สัมภาษณ์กับ นิวยอร์ก ไทม์  ระบุว่า บริษัทขาดทุนต่อเนื่องมาโดยตลอดนับตั้งแต่เข้าซื้อกิจการ ’ดีน แอนด์ เดลูก้า’ จากที่ในปี 2014 ขาดทุน 11 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมาเป็น 158 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

5. แม้ว่าในตอนที่ซื้อ ‘Dean & DeLuca‘ นั้น สรพจน์มีความตั้งใจที่จะขยายร้านให้มีสาขา 100 สาขาทั่วโลก แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ทำได้ง่ายขนาดนั้น เพราะล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  เพซฯ ประกาศปิดสาขาในสหรัฐฯ 3 ใน 9 สาขา โดยเป็นสาขาที่ Napa Valley ในแคลิฟอร์เนีย และที่แมนฮัตตันฝั่งอัพเปอร์อีสต์ไซด์

รวมทั้งอีกหนึ่งสาขาที่ดาวน์ทาวน์แมนฮัตตัน ที่เพิ่งเปิดได้เพียง 3 เดือน นอกจากนี้ ข่าวยังระบุว่า เพซฯ ยังมีปัญหาค้างชำระกับซัปพลายเออร์ในสหรัฐฯ หลายราย

6. วิกฤตทางการเงินของเพซฯ นั้นเกิดต่อเนื่องมาตั้งแต่การเปิดตัว “ตึกมหานคร” อาคารที่สูงที่สุดของประเทศไทยในปี 2560 มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท และในปีต่อมาเพซฯ ได้ขายพื้นที่บางส่วนทั้งมหานคร คิวบ์ พร้อมจุดชมวิว อ็อบเซอเวชั่น เด็ค และโรงแรมให้กับบริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร จำกัด

7. ขณะเดียวกันสำหรับในประเทศไทย เพซฯ ยังได้ประกาศปิด ’ดีน แอนด์ เดลูก้า’ สาขามหานคร คิวบ์ ไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยระบุผ่านทางเฟซบุ๊ก DEAN & DELUCA Thailand ว่าจะให้บริการวันสุดท้ายวันที่ 31 พ.ค. 2562

ส่วนสาเหตุที่ปิดสาขานั้นดีน แอนด์ เดลูก้า ประเทศไทย ระบุว่า เนื่องจากหมดสัญญาเช่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประกอบการแต่อย่างใด

8. สำหรับรายได้รวมทั้งหมดของ  เพซ ดีเวลลอปเมนท์ ที่มีทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ขาดทุนติดต่อกันมาโดยตลอดยกเว้นปี 2560 ที่มีกำไร

ส่วนปีที่ผ่านมาขาดทุนมากสุดในรอบ 4 ปีย้อนหลัง ขาดทุน 5,155 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในไตรมาสแรกของปีนี้ก็ยังขาดทุนต่อเนื่องโดยมีรายได้ที่ 793.93 ล้านบาท ขาดทุน 316.82  ล้านบาท

9. มองเฉพาะรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจากรายงานประจำปี 2018 ของเพซฯ พบว่า รายได้รวมของดีนแอนด์เดลูก้าในปี 2561 มีจำนวน 2,478 ล้านบาท

ลดลง 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลงจากจำนวนสาขาของดีน แอนด์ เดลูก้าในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำกำไรน้อย

10. ทั้งนี้ ตัวเลขสาขา ณ สิ้นปี 2561 พบว่า มีจำนวนสาขาที่เพซฯ เป็นเจ้าของและจำนวนสาขาที่เป็นไลเซนส์ รวมทั้งหมด 79 สาขา ดังนี้

ประเทศ บริษัทเป็นเจ้าของ ไลเซนส์ รวม
สหรัฐอเมริกา 6 6
สหรัฐอเมริกา (ฮาวาย) 2 2
ไทย 12 12
ญี่ปุ่น 24 (50% JV) 19 43
เกาหลีใต้ 2 2
สิงคโปร์ 3 3
คูเวต 2 2
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 1
ฟิลิปปินส์ 3 3
มาเก๊า 1 1
บาห์เรน 1 1
ฮ่องกง 2 2
มาเลเซีย 1 1
รวม 42 37 79

นับจากนี้คงต้องรอดูต่อไปว่า ‘สรพจน์ เตชะไกรศรี’ จะใช้กลยุทธ์อะไรในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม Dean & Deluca ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

Nytimes/Washingtonpost/ รายงานประจำปี 2018 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เพซ ดีเวลลอปเมนท์ ก่อตั้งปี 2547 นับเป็นเวลา 15 ปี ที่เพซฯ อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ โดยตั้งเป้าพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงโครงการแบบมิกซ์ยูสในรูปแบบสถาปัตยกรรมแลนด์มาร์ก และได้ต่อยอดขยายสู่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

———

เมื่อ 29 เม.ย. 2562 บมจ.เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) หรือ NPPG แจ้งว่า ที่ประชุมฯ มีมติให้บริษัทเข้าทำสัญญาแฟรนไชส์ (Franchise Agreement) กับ บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท ฟู้ด เอนเกจเม้นท์ จำกัด โดยการตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ดีน แอนด์ เดลูก้า

โดยการเข้าทำสัญญาแฟรนไชส์นั้นไม่ใช่สิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Non-Exclusive right) ในการเปิดและดำเนินกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ดีน แอนด์ เดลูก้า เป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่เปิดร้าน รวมถึงการให้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Sub-franchising) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ดีน แอนด์ เดลูก้า แก่บุคคลภายนอก โดยสัญญาดังกล่าวจะมีระยะเวลา 1 ปี และบริษัทสามารถต่ออายุสัญญาได้ตามเงื่อนไข

———

สำหรับร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้าในไทยปัจจุบันมีสาขาทั้งหมดดังนี้ (ณ 15 ก.ค.)

สาขาคาเฟ่: ตึกสาทรสแควร์,​ ตึกพาร์คเวนเจอร์, ตึกออลซีซันเพลส, ตึกเอฟวายไอ และสนามบิน​สุวรรณภูมิ​ 2
สาขาร้านอาหารและคาเฟ่: เซ็นทรัล​เอ็ม​บาส​ซี่, เอ็มควอเทียร์​ และเดอะคริสตัล
สาขาคาเฟ่และพิซซ่าอบสด: สนามบิน​สุวรรณภูมิ ​1 และสีลมซอย 1

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online