Marketing Everything / รวิศ หาญอุตสาหะ

ถ้าพูดถึงเรื่องของความเครียดคงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะมีใครชอบหรืออยากให้เกิดขึ้นจริงไหมครับ แต่เรื่องของความเครียดนั้นจะห้ามไม่ให้เกิดขึ้นเลยก็คงจะเป็นไปได้ยาก รอบนี้เลยอยากจะมาเล่าถึงความเครียดในมุมที่เรามักจะไม่ค่อยนึกถึง คือ ความเครียดนั้นมันสามารถถูกส่งต่อได้ครับ แถมมันยังมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายได้เร็วมากด้วย

 

ถ้าพูดถึงในแง่มุมของร่างกายเมื่อเราเกิดความเครียดร่างกายเราจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งบอกว่า แค่เราอยู่ใกล้กับคนที่เครียด หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เครียดหรือกดดัน ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลของเราจะเพิ่มขึ้นเองโดยที่เรายังไม่ต้องทำอะไรเลย

 

เวลาเราเห็นเพื่อนร่วมงานของเราเครียด เราก็จะสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาบางอย่างของเขา และเมื่อเราเข้าไปคุยด้วยเราก็จะรับรู้ได้มากขึ้นว่า เออ! วันนี้ คนนี้ดูเครียดจัง แล้วเราก็จะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะคุย เพราะเมื่อเราคุยกับคนที่เขาเครียดอยู่ เราก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าเราจะเครียดตาม เราคงคุ้นเคยกับเหตุการณ์ทำนองนี้ใช่ไหมครับ

 

โดยส่วนใหญ่เมื่อเรากำลังเครียดอยู่ บางทีเราก็ไม่ได้มีพื้นที่ในความคิด (คือคนส่วนมากก็จะคิดถึงแต่เรื่องที่กำลังเครียดนั้นล่ะครับ) ให้ไปคิดว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นมันจะถูกส่งต่อไปยังคนอื่นด้วยหรือเปล่า ลองนึกภาพตามแบบนี้นะครับ สมมุติว่าเรากำลังไออย่างหนัก จากไข้หวัด แล้ววันรุ่งขึ้นเราก็ไปทำงานโดยที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย การทำแบบนี้เท่ากับว่าเราไม่มีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ในที่ทำงานถูกไหมครับ

 

ในแง่มุมเดียวกันถ้าเราไม่พยายามป้องกันคนอื่นๆ จากความเครียดของเรา ก็ไม่ต่างจากการที่ป่วยเป็นไข้หวัดและไปทำงานโดยที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยนั้นล่ะครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่นอน เพราะมันเป็นความรับผิดชอบของเรา ที่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ

 

หาต้นตอของความเครียดนั้นให้เจอ

 

ผมเชื่อว่าหลายท่านที่กำลังอ่านอยู่ตอนนี้ก็อาจจะมีความเครียดอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะมาจากเรื่องงาน เรื่องครอบครัว ฯลฯ แต่เมื่อมีคนมาถามผมว่าตอนนี้กำลังเครียดเรื่องอะไร ผมมักจะตอบว่า “งานเยอะ” พอมานั่งคิดๆ ดูแล้วมันเป็นคำตอบที่ผมเองก็ไม่เคยได้คิดด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้ว คำว่างานเยอะเนี่ยมันคืออะไรกันแน่ ในแง่มุมไหนบ้าง

 

ผมเลยมาลองนั่งลิสต์ดูว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเครียดกันแน่

  1. ปริมาณของงาน
  2. เดตไลน์ หรือวันกำหนดส่งที่ใกล้เข้ามา
  3. ความยากของเนื้องาน
  4. คุณภาพของตัวงานที่กำลังจะส่งมอบ
  5. คนที่มอบหมายงานให้กับเรา/หรือคนที่เราไปตกปากรับคำจะทำงานนี้

 

หลังจากผมลองมานั่งวิเคราะห์ดู ก็พบความจริงข้อหนึ่งที่ผมเองก็ไม่เคยนึกถึงมาก่อนคือ “คน” ที่มอบหมายงานนี้มาให้เรานั้นมีผลต่อความเครียดและความกดดันอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่างานที่ได้รับมอบหมายมาจะเป็นงานในลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ถ้าเราต้องรับหน้าที่ส่งมอบงานให้กับคนคนนี้ เราจะมีความเครียดมากกว่างานของคนอื่น

 

เราก็ต้องมาหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไม บางครั้งมันอาจจะหมายความว่ามีอะไรบางอย่างที่เรากลัว เพราะคนคนนี้อาจจะเป็นคนที่เรามีความชื่นชม หรือเคารพเขามากๆ เราจึงกลัวว่าเราจะทำงานนี้พลาด เลยพยายามที่จะส่งมอบงานที่ดีที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด พยายามทำงานให้ออกมาโดยที่ไม่มีความผิดพลาดเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย แน่นอนครับ เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็สร้างความเครียดให้กับเราได้เช่นกัน

 

อันนี้เป็นตัวอย่างงานในมุมของผม ซึ่งแต่ละคนก็จะมีสาเหตุหรือต้นตอของความเครียดที่แตกต่างกันไป หามันให้เจอ เพื่อที่เราจะได้บริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง และตรงจุดครับ

 

เริ่มเปลี่ยนที่มุมมอง ไม่ใช่ปริมาณของงาน

 

หากคุณรู้สึกว่าไม่ได้ล่ะ ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างเพื่อจัดการกับความเครียดนี้ อย่าเพิ่งด่วนวิ่งเข้าไปลดปริมาณงานโดยทันที เพราะการลดปริมาณงานนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และความจริงก็คือต่อให้คุณพยายามตัดงานทิ้ง หรือส่งงานออกไปให้คนอื่นๆ ทำ แต่ที่สุดแล้วเดี๋ยวมันก็จะมีงานใหม่เข้ามาอยู่ดี

 

ปริมาณงานเป็นของที่เปลี่ยนได้ยาก เพราะบางครั้งมันก็กระทบกับคนอื่นๆ ด้วย เช่น สมมุติว่า อยู่ๆ คุณก็ลุกขึ้นมาบอกว่า เอาล่ะ วันนี้ฉันไม่ทำอะไรละ (สำหรับหัวหน้าก็อาจจะโยนงานไปให้ลูกน้องทำแทน) แต่งานยังไงก็ต้องส่ง นั่นก็เท่ากับว่าต้องมีคนมีรับช่วงต่อในส่วนของคุณ คนอื่นก็จะเครียดแทนคุณ แบบนี้ก็ถือเป็นการส่งต่อความเครียดไปยังคนรอบข้างรูปแบบหนึ่ง

 

ฉะนั้นสิ่งแรกที่เราควรเปลี่ยนคือวิธีคิดในการทำงาน หรือมุมมองของคุณที่มีต่องาน พยายามมองงานหรือปัญหาให้เป็นความท้าทาย เหมือนกับเวลาที่คุณกำลังเล่นเกมเพื่อผ่านไปด่านต่อไป ยกตัวอย่าง เวลาคนถูกขอให้ทำแบบสอบถามนั้นจะรู้ว่าสึกว่ามันน่าเบื่อ หรือไม่สนุกเอาซะเลย แต่ถ้าเอาแบบสอบถามนั้นมาทำให้อยู่ในรูปแบบของเกมแล้วล่ะก็ คนก็จะอยากทำแบบสอบถามนั้นมากขึ้น และมุมมองแบบนี้เราก็สามารถนำมาปรับใช้กับงานของเราได้ด้วยเช่นกัน

 

เราไม่สามารถสั่งสมองให้ไม่เครียดได้ แต่เราสามารถไปเปลี่ยนวิธีการก่อนที่จะถึงจุดนั้นได้ บางครั้งความเครียดเกิดจากมุมมองของเรา ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองได้ ความเครียดเราก็จะลดลง

 

ให้สมองได้พัก (จริงๆ)

 

คนจำนวนมากทำงานกันแบบไม่มีวันหยุดพัก อาจจะมีบางวันที่ทำมาก บางวันที่ทำน้อย แต่โดยสรุปแล้วก็คือทำงานทุกวัน ผมเองก็เป็นหนึ่งในคนเหล่านั้นครับ

 

ในความเป็นจริงถ้าเกิดว่าคุณสนุกกับการทำงานแบบนั้นก็ไม่เป็นไร แต่ว่าเมื่อไหร่ที่มันเริ่มเข้าสู่โหมดของความเครียดเต็มตัว มันจะเริ่มไม่สนุกล่ะ ต่อให้มันเป็นงานที่คุณชอบ คุณก็จะเริ่มไม่ชอบมันในที่สุด เพราะตัวงานนั้นมันถาโถมคุณเข้ามามากเกินไป

 

คุณต้องให้เวลาสมองได้พักผ่อนบ้าง ตัวผมเองก็พยายามปรับเปลี่ยนเรื่องนี้อยู่ เพราะบางวันตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั่งเข้านอนบางทีผมก็ไม่ได้หยุดเลย กินข้าวก็ทำงาน เดินทางก็ทำงาน คือ ทำงานตลอดเวลา การทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้ความเครียดถูกสะสม จนไม่มีที่ระบายออก ในที่สุดคนที่ร่วมงานกับเราก็จะรับรู้ได้ และเราก็กลายเป็นคนที่กำลังส่งต่อความเครียดให้คนอื่นๆ แม้ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

ฉะนั้นจงให้เวลาสำหรับการพักผ่อนจริงๆ บ้าง ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องหวังผลบ้าง อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเบาๆ บ้าง ออกกำลังกายบ้าง หรือจะนอนดูซีรีส์บ้างก็ได้ แต่การพักผ่อนนั้นต้องไม่เป็นการไปเพิ่มความเครียดเรื่องเดตไลน์ให้กับงานอื่นๆ ที่กำลังมาถึงด้วยนะครับ

 

“จงระวังอย่าทำให้กิจวัตรประจำวันของคุณเป็นต้นเหตุของการสะสมความเครียด”

 

สุดท้ายแล้วเราต้องเข้าใจให้ได้นะครับว่า จริงๆ แล้วความเครียดมันไม่จำเป็นต้องมีอยู่ในการทำงาน มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของงาน ไม่ได้เป็นเนื้องาน หรือรากฐานใดๆ ของการทำงาน คือ อย่าคิดว่าฉันต้องมีความเครียดฉันถึงจะทำงานได้สำเร็จ แต่ก่อนผมเองก็เคยคิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่ก็มารู้ทีหลังว่ามันไม่ใช่เลย

 

เอาจริงๆ เราเครียดไปก็ทำงานไม่ได้เยอะขึ้นหรอก ดีไม่ดีทำงานได้น้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online