Marketing Everything โดย รวิศ หาญอุตสาหะ

แม้ในแต่ละปีบริษัททั่วโลกทั้งน้อยใหญ่ จะใช้เงินไปมากมายกับการสร้างและพัฒนาในเรื่องของ ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการบริหารจัดการทีม หรือที่เรียกกันอย่างเท่ๆ ว่า leadership แต่เรื่องเหล่านี้ก็ยังคงมีหลายคนที่ยังทำได้ไม่ดีนัก ซึ่งรวมถึงตัวผมเองด้วย

เพราะล่าสุดก็มีข้อมูลจากงานศึกษาของ A study by the American Psychological Association ที่ได้ไปทำการศึกษาเกี่ยวกับความเครียดของชาวอเมริกัน เขาพบตัวเลขที่น่าสนใจ และน่าตกใจไปพร้อมๆ กันนั่นคือ เขาพบว่ากว่า 75% ของคนอเมริกันที่ทำแบบสำรวจบอกว่า “เจ้านายเป็นส่วนที่เครียดที่สุดของวันทำงาน”

วันนี้ผมเลยอยากที่จะมาเขียนเรื่องนี้ไว้เตือนตัวเอง และถือโอกาสมาเขียนเป็นบทความให้ทุกคนได้อ่านไปพร้อมๆ กัน

แต่ก่อนอื่นผมต้องบอกไว้ก่อนเลยนะครับว่าทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวล้วนๆ อาจจะผิดหรือถูกก็ได้ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกว่า “หัวหน้าแบบนี้ล่ะ ที่จะพาทีมล่มจมได้”

  1. เป็นเผด็จการแบบเข้าเส้น

ข้อนี้แม้จะมีคำว่า “เผด็จการ” แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด แต่คำนิยามนี้ผมต้องการสื่อถึงหัวหน้าที่สั่งงานแบบไม่ฟังเสียง ไม่ฟังคำอธิบายของลูกน้องหรือคนรอบข้างเลย เพราะแม้ว่าคุณจะเป็นคนที่เก่งมากๆ แค่ไหนก็ตาม แต่ผมก็ยังคงเชื่อเสมอว่า “ไม่มีใครที่เก่งไปหมดซะทุกเรื่องหรอก”

และที่สำคัญในที่สุดแล้วทีมของคุณก็จะไปจากคุณ เพราะไม่มีใครหรอกที่ชอบถูกสั่ง หรือทำเหมือนกับคนทำงานเป็นเพียงแค่เครื่องจักรตัวหนึ่ง ที่จะสั่งให้ทำงานโดยที่ไม่ต้องมีข้อโต้แย้งใดๆ รวมถึงตัวคุณเองอาจจะพลาดการเรียนรู้ในสิ่งที่คุณคิดไม่ถึงอีกด้วย

  1. ทำให้คนในทีมของคุณขายหน้า

คำนี้อาจจะฟังดูรุนแรงไปสักหน่อย จะเชื่อผมไหมครับว่ามีหัวหน้าที่เป็นแบบนี้จริงๆ และการทำให้คนในทีมของคุณขายหน้านั้นไม่ใช่การเอาไปประจานใน Social Media หรือในที่สาธารณะแต่อย่างใด แต่มันคือการต่อว่าหรือติ (อย่างรุนแรง)ต่อหน้าคนอื่นๆ ข้อนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมเพราะโดยปกติไม่มีใครที่จะชอบให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับตัวเองอยู่แล้ว

ผมกำลังจะบอกว่าห้ามติผลงานหรือการทำงานของพนักงานอยู่หรือ? เปล่าเลย ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่าการให้ Feedback นั้นควรจะทำอย่างถูกต้อง (และเราควรที่จะมีการให้ Feedback กันอย่างตรงไปตรงมาด้วย)

ที่สำคัญคือเราต้องทำให้คนในทีมรู้สึกอยากพัฒนา ไม่ใช่รู้สึก “อาย”

  1. ประทับตราความผิด

เราทุกคนเคยทำผิดพลาดกันทั้งนั้น รวมถึงตัวผมเองด้วย แต่มีสิ่งที่ผมอยากจะบอก หรือคุณอาจจะรู้อยู่แล้วก็ได้ ว่าจริงๆ แล้วโดยพื้นฐานของคนทำงานทุกคน นั้น “ไม่มีใครอยากทำพลาด”

สิ่งสำคัญคือเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว คุณมีวิธีการในการจัดการอย่างไร คุณรู้สึกว่าไม่ไว้วางใจที่จะมอบหมายงานให้กับคนที่ผิดพลาดอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ นั่นหมายความว่า คุณอาจจะกำลัง “ประทับตราความผิด” ลงไปที่คนในทีมของคุณอยู่ก็ได้ (และคุณก็อาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้)

แล้วจะให้เรามอบหมายงานที่สำคัญให้กับคนที่เคยทำพลาดหรือ? ไม่ใช่แบบนั้น แต่สิ่งที่ควรทำคือ ช่วยเขาให้เรียนรู้จากงานที่ผิดพลาด, ไกด์เขาเพื่อให้เขาทำงานได้ดีขึ้น แล้วค่อยๆ จัดลำดับในการมอบหมายงานใหม่ ค่อยๆ ไล่ระดับความยากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของเขา

แต่ถ้าคุณระแวงมากเกินไป หรือกันงานที่มีคุณค่าสำหรับเขาออกจากตัวเขา เขาจะรู้สึกว่าไม่มีคุณค่า ไม่มีส่วนร่วมกับทีม และในที่สุดเขาก็จะไปจากคุณ

  1. รับเครดิตงานของคนในทีมมาไว้กับตัวเอง

ข้อนี้เป็นเรื่องที่คุณควรที่จะต้องระมัดระวังให้ดี ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ เพราะในฐานะของหัวหน้าหรือผู้นำ คุณคือคนที่สปอตไลต์ส่องถึงเป็นคนแรก (ไม่นับหัวหน้าประเภทที่หยิบเอาผลงานทั้งหมดมาไว้กับตัวเอง อันนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง) ดังนั้น ทุกครั้งที่มีคนกล่าวถึงหรือชื่นชมผลงานของ(ทีม)คุณ อย่าลืมที่จะให้เครดิตกับคนในทีม

  1. สาดอารมณ์โกรธหรือโมโหใส่คนในทีม

แน่นอนทุกคนมีอารมณ์ความโกรธหรือโมโหกันได้ทั้งนั้น แต่หลายครั้งคนที่อยู่ในฐานะของหัวหน้าหรือคนที่อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่ามักมีแนวโน้มที่จะแสดงอารมณ์ของความโกรธ, โมโห ในที่ทำงานมากกว่าคนที่อยู่ในทีม นั่นก็เพราะคนที่เป็นหัวหน้าส่วนใหญ่นี้มักคิดว่าตัวเองสามารถทำได้ เพราะตัวเองมีอำนาจมากกว่า

และถ้าคุณกำลังเป็นแบบนั้นอยู่ คุณอาจจะกำลังยัดความเครียดที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับงานเข้าไปเพิ่มให้ทีมงาน เพราะปกติผมเชื่อว่าทำงานก็มีความเครียด ความกดดัน กันเป็นปกติอยู่แล้ว

ดังนั้น ครั้งต่อไปถ้าคุณจะเหวี่ยงใส่คนในทีมของคุณ ผมอยากขอให้คุณนึกดูดีๆ นะครับ ว่าคนในทีมจำเป็นที่จะต้องมารองรับอารมณ์ของคุณหรือเปล่า หรือถ้าจะถามให้ตรงประเด็นกว่านั้นก็ คือ “ความเครียดช่วยให้ทำงานดีขึ้นจริงๆ หรือ”

จริงๆ น่าจะมีอีกหลายข้อที่เราจะต้องเรียนรู้และเข้าใจในการบริหารคน บริหารทีม แต่นี่คือ 5 ข้อ ที่ผมคิดว่ามีความสำคัญในฐานะของคนที่เป็นหัวหน้าทีม เพราะเอาจริงๆ ไม่มีใครหรอกครับที่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online