งานวิจัย Digital 2019 Q3 Global Digital Statshot โดย We Are Social และ Hootsuite ระบุว่า หากถามผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก 10 คน จะมีคนตอบว่าเพิ่งชมการถ่ายทอดสดการเล่นเกมของคนอื่น (Game streaming) หรือที่เรียกว่า “แคสเกม (Game Casting)” อย่างน้อย 3 คน เทียบเป็นประชากรโลกเกือบ 1.25 พันล้านคน​

หากจัดอันดับประเทศที่มีสัดส่วนคนที่ชอบดู Game streaming เทียบกับคนใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศ พบว่ามาแรงเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าภาพ SEA Games ปีนี้ ซึ่งได้บรรจุ Esports เข้าไปเป็นครั้งแรก โดยมีสัดส่วนคนที่ชอบชม Game streaming สูงถึง 49% รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย, อินเดีย, จีน ส่วนประเทศไทยมาเป็นอันดับที่ 5 ด้วยสัดส่วน 37% ไล่กันมาคือ ​เวียดนามที่ 34% และมาเลเซีย 32% โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 29%

ส่วนประเทศที่ชอบชมถ่ายทอด Esports มากที่สุด ได้แก่ ประเทศคนจีน ด้วยสัดส่วนถึง 40% ขณะที่อันดับ 2, 3 และ 4 ได้แก่ เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย คนไทยครองอันดับที่ 5 ด้วยสัดส่วน 25% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 22%  ​

ในรายงานยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก PwC ที่เชื่อว่า อุตสาหกรรม Esports มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกอย่างมากมาย (โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย) มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรม ณ ปัจจุบัน น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

TOP5 ประเทศที่มีผู้ชม Game streaming และ Esports สูงสุดในโลก … มีความหมายยังไง 

การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2561 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 36 ล้านคน นั่นหมายความว่ามีคนไทยอย่างน้อย 13 ล้านคนที่ชอบรับชมการถ่ายทอดสดการเล่นเกมและการแคสเกมของคนอื่น ขณะเดียวกันก็มีคนไทย 9 ล้านคนที่ชื่นชอบการดูการแข่งขัน Esports ซึ่งข้อมูลจาก งานวิจัย Digital 2019 Q3 Global Digital Statshot ยังระบุว่า จากการสำรวจผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก พบกว่ากลุ่มอายุ 16-24 ปี เป็นกลุ่มที่ชอบรับชม Esports มากที่สุด ด้วยสัดส่วนถึง 32% ตามมาติด ๆ คือกลุ่มอายุ 25-34 ปี มีสัดส่วน 30%

แน่นอนว่า นอกเหนือจากแบรนด์สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการเล่นเกมหรือการชม Esports โดยตรง ตั้งแต่แบรนด์อุปกรณ์เกม ไปจนถึงแบรนด์เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ก็ยังมีแบรนด์สินค้าและบริการอื่นๆ อีกมากมายที่จับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ 16-34 ปี ที่พยายามจะช่องทางและคอนเทนต์ Esports เพื่อนำเสนอแบรนด์สินค้าและบริการของตัวเองไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ ซึ่งปัจจุบัน จะเห็นว่ามีหลายแบรนด์ได้เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ในหลากหลายรูปแบบ

อาทิ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบ้าง เช่น Toyota E-League Pro ซึ่งเป็นการแข่งขัน Esports ระดับอาชีพอย่างเป็นทางการ หรือ GSB E-CUP 2019 THAILAND การแข่งขันเกมฟุตบอลที่มีเงินรางวัลรวมสูงสุดถึง 3 ล้านบาท ฯลฯ การร่วมเป็นสปอนเซอร์จัดการแข่งขันเพื่อแปะโลโก้ในสนามแข่งขัน หรือแม้แต่ Major Cineplex ก็ยังจัดทำโรงภาพยนตร์เพื่อรองรับการแข่งขัน Esports เช่นเดียวกับพันทิปพลาซ่าที่ได้จัดให้มีโซน Esports Arena ไว้สำหรับจัดการแข่งขัน และจัดเป็น Esports Academy เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่พยายามโฆษณาตรงและโฆษณาแฝงผ่านช่องทางถ่ายทอด Esports หรือ Game Streaming ขณะที่บางแบรนด์ก็เลือกใช้นักแคสเกมชื่อดัง หรือเกมเมอร์ที่มีแฟนคลับมาเป็น Influencer ขายสินค้าหรือบริการของตน

ดังนั้น Esports Tournament และ Game Streaming Channel จึงเป็นช่องทางที่เอเจนซี่โฆษณาไม่ควรมองข้าม และไม่ควรขยับตัวช้า เพราะ Audience ในช่องทางนี้ล้วนแต่เป็น Potential Consumers สำหรับหลายๆ สินค้าและบริการ​

รวบรวมข้อมูลจาก Digital 2019 Q3 Global Digital Statshot



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online