ใครๆ ก็ไปสังคมไร้เงินสด ประเทศไทยก็ไปเช่นกัน

แต่ในวันนี้รู้สึกบ้างไหมว่า แอปกระเป๋าเงินดิจิทัลในประเทศไทย มีมากเกินความจำเป็น ทั้ง True Money, Rabbit Line Pay, Dolfin, Grab Pay, Get Pay, Lazada Wallet, Blue Pay, Air Pay, Big Wallet และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่รวมแอป Mobile Banking จากฝั่งธนาคารที่สามารถจ่ายเงินได้เหมือนกัน

แอปกระเป๋าเงินเกลื่อนเมืองขนาดนี้ จนบางครั้งไม่รู้ว่าจะสมัครเพื่อไปใช้อะไรดี นอกจากใช้จ่ายใน Ecosystem ของผู้ให้บริการ e-Wallet แต่ละรายเท่านั้น

และแอปจะพัฒนาออกมามากมายทำไม…??

เหตุผลคือ ทุกแอปมองเห็นโอกาสในโลกของ Cashless Society ที่ค่อยๆ ซึมลึกเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคโดยไม่รู้ตัว

สามารถอ้างอิงจากการเติบโตของ e-Money ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้เก็บรวบรวม พบว่า

ในไตรมาสแรกของปี 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้งาน e-Money มากถึง 6.72 หมื่นล้านบาท และมีมูลค่าการเติมเงินเข้าระบบที่ 6.94 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมที่มาจากผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Non-Bank

ส่วนในปี 2561มีมูลค่าการใช้งาน e-Money ทั้งสิ้น 2.04 แสนล้านบาท และมีมูลค่าการเติมเงินเข้าระบบที่ 2.17 แสนล้านบาท

จากการเติบโตของ e-Money ทำให้ผู้พัฒนา e-Wallet หันมาให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานผ่านการสร้างความคุ้นเคย

เพราะการใช้งาน e-Wallet ยิ่งคุ้นเคยมากจะกลายเป็นแอปหลักของตลาดที่ใครๆ ก็ใช้กัน

ซึ่งการมีจำนวนผู้ใช้งานที่มากทำให้แอปมีพลังในการต่อรองกับแบรนด์ต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรจับมือกันทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเร่งรัดให้เกิดการใช้งานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และสุดท้ายหมายถึงดาต้าเบสด้านการเงิน และพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ผู้พัฒนาแอปสามารถนำไปต่อยอดด้านการตลาดต่างๆ รวมถึงการเปิดบริการทางการเงินใหม่ๆ เช่น บริการสินเชื่อแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น

แต่ปัญหาคือวันนี้แอป e-Wallet ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเลเวลที่ 1 ที่กำลังหาลูกค้าเข้ามาใช้บริการผ่านจุดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งด้วยตัวคนเดียว

ทำให้เราเห็นว่าแอป e-Wallet ที่ให้บริการมากกว่า 90% จะเป็นแอปที่สามารถรับชำระค่าสินค้าและบริการของ Ecosystem ของตัวเองเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายถึงจุดอ่อนในการดึงผู้บริโภคเข้ามาสมัคร ยอมผูกบัญชีธนาคารกับแอป หรือยอมเติมเงินเข้าระบบ e-Wallet ของแอปนั้นๆ

เพราะผู้บริโภคไม่รู้ว่าถ้าสมัครและเติมเงินเข้าไปในระบบเพื่ออะไร

 

เช่น แอป e-Wallet ของค่าย e-Marketplace จะเน้นการชำระสินค้าในแอปของตัวเองเป็นหลัก

หรือแอป e-Wallet ของค่าย Rider Delivery ก็เน้นไปยังชำระค่าเดินทาง หรือชำระค่าอาหารที่ใช้บริการผ่านแอปเท่านั้น

แต่แอปที่เรากล่าวมาทั้ง 2 ประเภทส่วนหนึ่งในการพัฒนา e-Wallet ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ Pain Point ของตัวเอง อย่างเช่น e-Marketplace พัฒนา e-Wallet เพื่อตอบโจทย์การชำระเงินของลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่มีบัตรเครดิตหรือเดบิต

บริการ Rider Delivery พัฒนา e-Wallet เพื่อลดการถือเงินสดของพนักงานที่รับซื้ออาหารให้กับลูกค้า และเพิ่มความสะดวกในการทอนเงินให้กับลูกค้า เป็นต้น

ซึ่งนอกเหนือจากการตอบโจทย์ Pain Point ของตัวเองแล้ว ในมุมของผู้ใช้ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความหลากหลายในการใช้งานได้เท่าไรนัก

นอกจาก True Money และ Rabbit Line Pay ซึ่งเป็น 2 แอป e-Wallet ที่มีวาไรตี้ในจุดรับชำระสินค้าสูงจากการทำตลาดมาอย่างยาวนาน

จากข้อมูลในเดือนกันยายน 2562 True Money มีผู้ใช้ 8.4 ล้านราย ร้านค้ารับชำระเงิน 2 แสนจุด

ส่วน Rabbit Line Pay มียอดผู้ใช้ 6.5 ล้านราย ร้านค้า 6 หมื่นจุด

และทั้ง 2 แอปนี้ยังมีแคมเปญการตลาดผ่านส่วนลดต่างๆ เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ และกระตุ้นให้ลูกค้าเก่าเข้ามาใช้งานอยู่เสมอ จนผู้บริโภคเริ่มหยิบ 2 แอปนี้มาใช้ชำระเงินในชีวิตประจำวันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่า  True Money และ Rabbit Line Pay จะมีฐานลูกค้าและความถี่ในการใช้งานที่สูง แต่ทั้ง 2 แอปนี้ก็ยังต้องเจอความท้าทายใหม่ๆ ที่จะต้องพาบริการไปสู่ระดับมวลชน และเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากกว่าทุกวันนี้

เพื่อปลูกฝังให้ผู้บริโภครู้สึกว่าชีวิตนี้ขาด e-Wallet ไม่ได้เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศจีน

โดยที่ผ่านมา True Money ได้มีการขยายจุดชำระเงินลงลึกไปยังร้านค้า SME และร้านค้า ร้านอาหารที่เป็น Street Food มากขึ้น พร้อมกับแคมเปญโปรโมชั่น จ่ายผ่าน True Money ได้รับเงินแคชแบ็กคืนในระบบ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการยอมหยิบมือถือขึ้นมาชำระเงิน

ส่วน Rabbit Line Pay ได้มีการจับมือกับขนส่งมวลชน ชำระค่ารถเมล์ผ่านบัตร Rabbit Line Pay ได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้การใช้งาน e-Wallet ในประเทศไทย แม้จะยังอยู่ในสเตทที่เริ่มต้นด้วยพฤติกรรมผู้ใช้และจุดชำระเงิน และการใช้จ่ายเงินในรูปแบบ Cashless Society จะกินสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่าการใช้จ่ายเงินในประเทศไทยเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้หลายคนใช้ชีวิตในวันที่ลืมพกเงินติดตัวออกไปซื้อของได้อย่างสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online