ไวรัสก็กลัว งานก็ต้องทำ ธุรกิจก็ต้องเดิน

ทำให้ในวันนี้หลายบริษัทเริ่มมีมาตรการให้พนักงานทำงานจากบ้านแทนการเดินทางมาทำงานกันที่ทำงานเหมือนช่วงเวลาปกติ

กระแส Work from Home จึงได้กลายเป็นเรื่องที่หลายบริษัทได้นำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงให้กับพนักงานในการเดินทางเข้ามาทำงานร่วมกันในสำนักงาน

จากข้อมูลของดีแทคพบว่าจากกระแสทำงานจากบ้านเกิดการเติบโตของแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมให้การทำงานจากบ้านมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดยดีแทคได้สรุป 5 แอปพลิเคชันที่มีการใช้งานสูงสุด 5 อันดับแรก ในช่วง 1 มกราคม-19 มีนาคม ของลูกค้าดีแทค พบว่า แอปที่มีการใช้งานสูงสุดคือ Zoom ผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 828% จากการใช้งานที่รองรับการแชร์ข้อมูลกับผู้ใช้งานหลายๆ คนผ่านหน้าจอเดียวกันสะดวกง่ายดาย และยังมีการเติบโตของผู้ใช้งานแอป e-Rider อย่าง Grab เติบโตเช่นกัน

 

 

และเรามาดูกันว่าบริษัทขนาดใหญ่เขามีแนวทางในการทำ Work from Home กันอย่างไร

 

ดีแทค

ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือที่ต้องรองรับความต้องการใช้งานของลูกค้าอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค ทดลองแนวทาง Work from Home มา ด้วยการแบ่งทีมทำงานเป็น 2 กลุ่มในการทำงานที่สำนักงานและปฏิบัติงานจากพื้นที่อื่นหรือทำงานจากบ้าน (Work from Home) เพื่อดูแลการใช้งานมือถือของลูกค้าต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด

โดยแนวคิดในการทำงานรูปแบบ Work from Home ของดีแทคคือ

พนักงานทำงานในสำนักงานลดลงทำให้โอกาสแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงตาม

กรณีที่ทีมหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกทีมหนึ่งจะดำเนินการแทนกันได้ทันทีโดยไม่ต้องถูกกับบริเวณเพื่อเฝ้าระวังอาการ

เพื่อเตรียมความพร้อมสูงสุดในกรณีฉุกเฉินที่จะให้พนักงานสามารถทำงานทุกสถานที่ ถึงแม้จะมีการปิดสถานที่ต่างๆ แต่ยังปฏิบัติงานต่อเนื่องทุกที่

แนวทางในการทำงาน Work from Home ของดีแทคจะแบ่งพนักงานออกเป็น 2 ทีมเพื่อสลับทำงานจากบ้าน และใช้วิธีการนำ SharePoint หรือ Microsoft Teams มาใช้ในการแชร์งานที่ทำร่วมกัน เพื่อให้ทุกทีมสามารถรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์และสามารถแก้ไขได้ทันที และสร้างความปลอดภัยของข้อมูลด้วยการกำหนดการเข้าถึงของทีมที่ต้องทำงานร่วมกัน และนำเทคโนโลยี VPN (Virtual Private Network) เข้ารหัสข้อมูลในการเข้าถึงเครือข่ายองค์กรเพื่อให้การเข้าถึงทุกที่และปลอดภัยสูงสุดของการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต

และดีแทคยังนำแพลตฟอร์ม Workplace มาใช้งานในองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับพนักงานทุกคน โดยให้ความสำคัญในการทำงานที่คล่องตัว โดยดีแทคเชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้จะลดขั้นตอนในการทำงานแบบเดิม สู่การตัดสินใจแก้ปัญหารวดเร็วและเข้าถึงทุกคน หรือกำหนดเฉพาะทีม รวมถึงดีแทคยังสามารถใช้เป็นช่องทางที่ให้พนักงานเข้าถึงปัญหาหรือข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของบริษัทอย่างสะดวกและทันทีจากทุกอุปกรณ์สื่อสาร

 

ปตท.

นอกจาก ปตท. เตรียมแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) รองรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาด เพื่อให้การเดินธุรกิจตลอดห่วงโซ่ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด มีมาตรการให้พนักงานและพนักงานลูกจ้างชั่วคราวแบ่งทีมปฏิบัติงานจากบ้านในรูปแบบ Work form Home เพื่อลดความแออัดและลดโอกาสในการแพร่เชื้อในที่ทำงานและที่สาธารณะ และใช้ระบบการประชุมทางไกลหรือ Teleconference ในการประสานงานร่วมกัน

 

LPN

โอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ ยังได้วางมาตรการ Work from Home ให้พนักงานทำงานจากบ้าน เป็นการลดความแออัดและลดโอกาสในการแพร่เชื้ออีกด้วย

มาตรการของ LPN มีการจำกัดพนักงานประจำสำนักงานใหญ่เหลือ 50% และให้พนักงานสลับกันทำงานจากบ้าน และมีการนำระบบไอทีมาเพิ่มความคล่องตัวในการสื่อสารและการประชุมร่วมกัน ผ่านทุกดีไวซ์เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

 

TOT

พิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีการให้ทีโอที เริ่มทดลองมาตรการ Work from Home ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2563 ตามความจำเป็นความเหมาะสมและความพร้อมของระบบงาน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online