การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ตอนนี้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากการเฝ้าระวังการแพร่เชื้ออีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของ “การเงิน” ที่โดนกระทบกันทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ และพนักงานแรงงานต่างๆ

ล่าสุดสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ให้ความมั่นใจแก่ลูกค้าเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือและสนับสนุนลูกค้าด้านการเงิน หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องมาตรการช่วยเหลือลูกค้าและวางแผนเตรียมความพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เพื่อให้ลูกค้าและประชาชนทั่วไปสามารถทำธุรกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกทุกธนาคารได้มีการวางแผนการให้บริการที่ต่อเนื่องเพื่อรองรับทุกสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

และขอให้ความมั่นใจว่าธนาคารจะสามารถให้บริการลูกค้าและผู้มาใช้บริการของธนาคารตามปกติในทุกช่องทาง โดยเฉพาะบริการหลัก เช่น การรับฝากเงิน การถอนเงิน การโอนเงิน และบริการสินเชื่อต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ในส่วนของการให้บริการเงินสดสำหรับลูกค้าที่มีความจำป็นต้องใช้เงินสด ทุกธนาคารมีการเตรียมเงินสดเพื่อรองรับให้เพียงพอทุกช่องทางทั้งสาขาและตู้เอทีเอ็ม

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 อยากให้ลูกค้าใช้บริการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านโมบายแบงกิ้งและอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งของทุกธนาคาร ซึ่งทุกธนาคารได้มีการดูแลให้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่จะเพิ่มมากขึ้น

ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุต่อว่า สำหรับลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ธนาคารต่างๆ ได้มีมาตรการช่วยเหลือที่ทยอยให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

เช่น การให้ลูกค้าผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยโดยยังไม่ต้องชำระเงินต้น หรือการปรับลดการชำระขั้นต่ำในแต่ละเดือน ซึ่งธนาคารต่างๆ อยู่ระหว่างการติดต่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้า แต่หากลูกค้าประสบปัญหาและยังไม่ได้รับการติดต่อจากธนาคาร ท่านสามารถติดต่อธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้ทันที

ด้านการช่วยเหลือลูกค้าของสถาบันการเงิน พบว่าช่วงที่ผ่านมาธนาคารทั้งระบบได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้แล้วประมาณ 30,000 ราย เป็นมูลค่า 234,000 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการพักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย ปรับระยะเวลาการผ่อนชำระให้ยาวขึ้น เพื่อลดภาระให้กับลูกค้า

และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 มีนาคม) ธนาคารออมสินและ 17 สถาบันการเงิน ได้มีการลงนาม MOU โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโรคโควิด-19

แล้วแต่ละธนาคารพักชำระหนี้-ลดดอกเบี้ยเท่าไร มีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง

::: ธ.กรุงเทพ :::

ลูกหนี้ธุรกิจ

  • สินเชื่อเดิมที่มีกับธนาคาร พักชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
  • ให้สินเชื่อเพิ่ม

 

  • ลูกหนี้ SMEs สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมตามโครงการ ‘สินเชื่อบัวหลวง SME บรรเทาทุกข์จากภาวะเศรษฐกิจ’ เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนและเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ วงเงินต่อรายสูงสุด 30 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR -1% ต่อปี หรือพิจารณาผ่อนผันตามความเหมาะสมแต่ละกรณี

สำหรับลูกหนี้รายใหญ่พิจารณาสินเชื่อเพิ่มตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี

ลูกหนี้รายย่อย (สินเชื่อบัตรเครดิต)

  • ผ่อนผันลดอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตราปกติร้อยละ 50
  • ผ่อนผันลดจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระเหลือไม่เกินร้อยละ 10
  • ผ่อนผันยกเว้นดอกเบี้ยจากหนี้ที่ค้างชำระ
  • ผ่อนผันให้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้ตามยอดเรียกเก็บไม่เกิน 3 รอบบัญชี
  • สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ (สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อบุคคล)
  • ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ผ่อนผันให้ปลอดการชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
  • ปรับยอดผ่อนชำระรายเดือนลงสูงสุด 40% ไม่เกิน 24 เดือน
  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ระยะเวลาหนึ่ง
  • ผ่อนผันยกเว้นดอกเบี้ยจากหนี้ที่ค้างชำระ

 

::: ธ.กสิกรไทย :::

ลูกค้าธุรกิจ

  • สินเชื่อเพื่อธุรกิจ (ประเภทเงินกู้): ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 12 เดือน
  • วงเงินหมุนเวียน (ประเภทตั๋ว): ขยายตั๋วได้ไม่เกิน 12 เดือน
  • สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักร: ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 12 เดือน

ลูกค้ารายย่อย

  • สินเชื่อบ้านกสิกรไทย และสินเชื่อที่อยู่อาศัยอื่นที่มีหลักประกัน: ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 12 เดือน
  • สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล: ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ถึงรอบบัญชีเดือนธันวาคม 2563
  • สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์: ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 12 เดือน

 

::: ธ.ไทยพาณิชย์ ::

ลูกค้าธุรกิจ

  • พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 12 เดือน
  • ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน
  • ขยายระยะเวลาวงเงินหมุนเวียน (P/N, T/R, P/C) สูงสุด 6 เดือน

ลูกค้าบุคคลและผู้ประกอบการรายย่อย

  • สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย: พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 เดือน
  • สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์: พักชำระค่างวดสูงสุด 6 เดือน
  • สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล: พักชำระยอดขั้นต่ำสูงสุด 6 เดือน

 

::: ธ.กรุงไทย ::

ลูกหนี้ธุรกิจ

  • พักชำระหนี้เงินต้นตามระดับผลกระทบ ทั้งนี้ไม่เกิน 12 เดือน
  • ขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับธุรกิจ
  • สำหรับลูกค้ารายที่ใช้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเดิม สามารถขยายระยะเวลาค้ำประกันออกไปได้อีก 5 ปี โดยลูกค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ และเป็นไปตามเกณฑ์ของ บสย.

 

::: ธ.กรุงศรีอยุธยา :::

คุณสมบัติของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ:

  • เป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจ (ยกเว้น Business Banking) ซึ่งได้รับผลกระทบทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากภาวะเศรษฐกิจเป็นการชั่วคราว
  • ปัจจุบันไม่ได้มีสถานะเป็นลูกหนี้ NPL ของธนาคาร
  • ไม่ใช่ลูกหนี้ทุจริตหรืออยู่ในระหว่างขั้นตอนทางกฎหมายซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้หรือเป็นเหตุให้ลูกหนี้ล้มละลาย รวมถึงไม่มีรายชื่ออยู่ใน Blacklist หรือ Business Fraud

มาตรการผ่อนปรน:

เงื่อนไขในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้พิจารณาตามความรุนแรงของปัญหาเป็นรายกรณี โดยให้อยู่ภายใต้กรอบดังต่อไปนี้:

วงเงินสินเชื่อไม่หมุนเวียน (Non-Revolving Facility)

  • ลดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุดไม่เกิน 2% จากอัตราดอกเบี้ยเดิม เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
  • ยอดหนี้ค้างชำระก่อนลงนามในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของโครงการฯ สามารถจ่ายชำระในช่วงท้ายของอายุสัญญาได้
  • ผ่อนปรนการชำระเงินต้น เป็นระยะเวลารวมไม่เกิน 12 เดือน
  • ลดจำนวนเงินผ่อนชำระ เป็นระยะเวลารวมไม่เกิน 12 เดือน
  • ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ เป็นระยะเวลารวมไม่เกิน 12 เดือน
  • การขยายอายุสัญญาสำหรับวงเงินที่ค้ำประกันโดย บสย. ภายในกรอบอายุของ บสย. โครงการนั้นๆ
  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ พร้อมทั้งยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมพิธีการสินเชื่อ

วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility)

  • การขยายวันครบกำหนดชำระของธุรกรรมสินเชื่อ สามารถขยายได้ครั้งละไม่เกิน 6 เดือนนับจากวันครบกำหนดชำระเดิม ทั้งนี้ขยายได้ไม่เกินอายุเดิมของธุรกรรม
  • การปรับวงเงินจากระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว วงเงินของสินเชื่อระยะยาวต้องไม่เกินไปกว่าภาระสินเชื่อที่ปรับมา ทั้งนี้อายุของวงเงินสินเชื่อระยะยาวต้องไม่เกิน 12 เดือน
  • ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ พร้อมทั้งยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมพิธีการสินเชื่อ

ระยะเวลาของโครงการ: สิ้นสุดธันวาคม 2564

มาตรการสำหรับสินเชื่อรายย่อยเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ประกอบด้วย

ลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคล

  • พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
  • ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด

ลูกค้าสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย

  • พักชำระหนี้เงินต้น สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
  • ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด (แล้วแต่กรณี)

ลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

  • พักชำระหนี้ สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
  • ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด

 

::: ธ.ธนชาต :::

ลูกหนี้รายย่อย

  • สินเชื่อรถยนต์ใหม่, สินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว และสินเชื่อรถแลกเงิน: พักชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน (Skip payment) และ/หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 96 งวด*
  • สินเชื่อเล่มแลกเงิน: พักชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน
  • สินเชื่อบ้านธนชาต: พักชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน*
  • สินเชื่อบุคคลธนชาต: พักชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน*
  • บัตรเครดิตธนชาต: ลดยอดชำระขั้นต่ำเหลือ 5% หรือ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน*
  • บัตรกดเงินสด Flash Plus ลดยอดชำระขั้นต่ำเหลือ 1% หรือ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน*

* ทั้งนี้เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

ลูกค้าธุรกิจ

สินเชื่อ SMEs รายย่อย

– Term loan: พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 เดือน

– O/D ลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.50% จากสัญญาเดิม ระยะเวลา 3 เดือน (ยกเว้น O/D ที่มีเงินฝากเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน)

สินเชื่อลูกค้ารายใหญ่

– Term loan: พักชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 เดือน หรือขยายเวลาเงินกู้สูงสุด 6 เดือน
– Short term loan (Working Capital & Trade Finance): ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน

 

::: ธ.ทหารไทย :::

ลูกหนี้รายย่อย

  • สินเชื่อบ้าน: พักชำระหนี้ (เงินต้นและดอกเบี้ย) ได้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ
  • สินเชื่อบัตรเครดิต: ยกเว้นการชำระยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิต เป็นเวลา 3 รอบบัญชี นับจากวันที่ลูกค้าโทรติดต่อเข้ามาแจ้งความประสงค์ โดยลูกค้าสามารถเริ่มชำระยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต ตั้งแต่รอบบัญชีที่ 4 เป็นต้นไป
  • สินเชื่อบุคคล:
    – พักชำระหนี้ (เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม (ถ้ามี)) ได้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดให้กลับมาชำระหนี้ตามปกติ
    – ขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้เพิ่มขึ้นอีก 3 เดือน หรือ จนกว่าจะชำระคืนเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม (ถ้ามี) ครบถ้วน
  • บัตรกดเงินสด: ยกเว้นการชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม (ถ้ามี) ได้สูงสุดไม่เกิน 3 รอบบัญชี ตั้งแต่รอบบัญชีที่ 4 ลูกค้ากลับมาชำระหนี้ตามปกติ

ลูกหนี้ธุรกิจ

สินเชื่อลูกค้า SME

  • พักชำระหนี้เงินต้นระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน (6-month grace period) และขยายเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน
  • วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) ลดอัตราดอกเบี้ยลง 1.50% จากสัญญาสินเชื่อปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

สินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่

  • กรณีมีวงเงินกู้ระยะยาว (Term Loan) ขอพักชำระเงินต้นได้สูงสุด 6 เดือนและขอขยายเวลาการผ่อนชำระออกไปได้อีก 6 เดือน สูงสุดได้ 2 ครั้ง รวม 12 เดือน (ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร)
  • กรณีมีวงเงินกู้ระยะสั้น ODB, O/D, RPN ธนาคารขยายเวลาชำระเงินให้ 3 เดือน สูงสุดได้ 2 ครั้ง รวม 6 เดือน และอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
  • กรณีมีวงเงินกู้ Trade Finance ธนาคารขยายเวลาพักชำระเงินให้ 3 เดือน สูงสุดได้ 2 ครั้ง รวม 6 เดือน
  • กรณีมีวงเงินกู้ LC: Letter of Credit ที่ครบกำหนดชำระเงิน สามารถแปลงวงเงิน LC เป็นวงเงิน TR ได้ โดยมีอายุวงเงิน TR ไม่เกิน 6 เดือน

ระยะเวลาโครงการ: 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2563

เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ

มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่

เป็นลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ประกอบธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านค้าปลีกสำหรับนักท่องเที่ยว, ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเกษตร, ธุรกิจการขนส่ง, ธุรกิจเช่ารถ หรือธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online