เมื่อเสน่ห์ของร้านอาหารหม้อต้ม-ปิ้งย่าง คือการ ขายประสบการณ์ ขายช่วงเวลาแห่งความสุขให้กับลูกค้าที่มักจะมา นั่งกินกันเป็นกลุ่มในร้าน 

แต่ในวันที่สถานการณ์ Covid-19 ระบาด ห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการ ผู้คนต่างต้อง Social Distancing

นี่จึงกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของร้านอาหารหม้อต้ม-ปิ้งย่างทั้งหลาย เพราะสินค้าและบริการของร้านเหล่านี้ล้วนแต่เหมาะกับการนั่งกินที่ร้านมากกว่าสั่งกลับบ้าน 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง วิกฤตนี้ก็ทำให้เรามองเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการหลายรายที่น่าสนใจ 

ที่นอกจากจะนำวัตถุดิบในร้านมาทำเป็นเมนูอาหารจานเดียวเพื่อจัดส่งแล้ว พวกเขามีวิธีปรับตัวหาทางรอดในสถานการณ์แบบนี้อย่างไรกันบ้าง

ด้านล่างนี้คือคำตอบ

-Bar B Q Plaza- 

ไม่ใช่แค่ร้าน Bar B Q Plaza เพราะแบรนด์อื่นๆ ที่อยู่ในเครือฟู้ดแพชชั่น ไม่ว่าจะเป็น Charna อาหารหม้อต้มเพื่อสุขภาพ หรือ Space Q อาหารปิ้งย่าง ก็ล้วนแต่เป็นร้านที่เหมาะกับการนั่งกินในร้าน

โดยกลยุทธ์ที่ฟู้ดแพชชั่นเลือกใช้เพื่อฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ก็คือการปรับออฟฟิศสำนักงานใหญ่ให้กลายเป็นครัวกลางเฉพาะกิจ เพื่อจัดส่งอาหารเดลิเวอรี่ของแบรนด์ในเครือทั้งหมด

ซึ่งอาหารที่มาจากครัวกลางเฉพาะกิจนี้จะมีทั้งหมด 14 เมนู เป็นเมนูพิเศษที่ไม่มีจำหน่ายในช่องทางอื่น

และกับแบรนด์พระเอกอย่าง Bar B Q Plaza ก็สร้างกิมมิกด้วยการพา Mascot ของแบรนด์อย่างเจ้าบาร์บีก้อนให้กลายเป็นผู้ส่งอาหารถึงหน้าบ้าน จนกลายเป็นคลิปไวรัลที่ผู้คนต่างแชร์ถึงความน่ารักในช่วงวัน-สองวันที่ผ่านมา

ทั้งยังมีการจำหน่ายเมนูที่เป็นเซต สำหรับกินปิ้งย่างที่บ้าน ตอบโจทย์เหล่าหมูกระทะ Lover ในช่วง Social Distancing ได้อย่างดี

นอกจากนี้ Covid-19 ก็ทำให้ Bar B Q Plaza ตัดสินใจขายน้ำจิ้มและวัตถุดิบผ่าน Live ใน Facebook เป็นครั้งแรกอีกด้วย

-MK- 

นอกจากจะออกโปรโมชั่นข้าวหน้าเป็ดและบะหมี่หยกเป็ด 1 แถม 1 จนได้รับฟีดแบ็กไปแบบถล่มทลาย

ถึงกับเกิดกระแสว่าถ้าจะสั่งโปรนี้ให้ทัน ต้องสั่งตอนที่ร้านใน App เปิดทันที

ล่าสุด MK ยังออกมาทำโปรดักต์อย่าง MK FRESH MART ขายผักโครงการหลวงผ่านเว็บไซต์ http://www.mk1642.com

ในมุมหนึ่ง MK FRESH MART คือการสร้างรายได้

และอีกมุมหนึ่งก็คือการที่ MK ได้ระบายของสดออกจากคลัง ที่ทำให้วัตถุดิบเหล่านั้นไม่เน่าเสียจนกลายเป็นต้นทุนเสียเปล่าไป

-Sukishi-

กลยุทธ์ของ Sukishi นั้นแทบไม่แตกต่างจาก MK เท่าไร คือการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในคลังมาขาย

เพียงแต่การสื่อสารของ Sukishi นั้นตรงไปตรงมามากกว่า ประกาศไปเลยว่าเป็นการขายแบบล้างสต๊อก

ด้วยการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในมือมาทำเป็น Sukishi Warehouse ลดราคาสูงสุดถึง 80%

-Penguin Eat Shabu-

พูดถึงแบรนด์ใหญ่ไปแล้ว คราวนี้เรามาดูการปรับตัวของแบรนด์เล็กกันบ้าง

ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในห้าง แต่พวกเขาก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่น้อยเช่นกัน สำหรับแบรนด์ Penguin Eat Shabu

ซึ่งหากดูในเมนูแล้ว Penguin Eat Shabu นั้นไม่มีเมนูจานเดี่ยวที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนอย่างข้าวกระเทียมของ Bar B Q Plaza หรือข้าวหน้าเป็ดของ MK

พวกเขาเลยต้องใส่ต้นทุนทางไอเดียมากกว่าเจ้าอื่นๆ ด้วยการทำอาหารจานเดี่ยวที่เรียกว่า MysteryBox คือให้คนสั่งไปลุ้นเอาเองว่าเมนูที่ได้รับนั้นจะเป็นอะไร

พร้อมใส่ส่วนผสมของความใส่ใจ ด้วยการมีแบบสอบถามว่าลูกค้ากินหรือไม่กินอะไรบ้าง ป้องกันปัญหาคนไม่รับประทานเนื้อหรือแพ้อาหารทะเล เป็นต้น

มุมหนึ่งการปรับตัวของร้านอาหารเหล่านี้ก็เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดในช่วงวิกฤต

แต่ในอีกมุมนี่อาจเป็นช่วงเวลาในการเรียนรู้การทำ Food Delivery ของร้านอาหารสไตล์หม้อต้ม-ปิ้งย่าง ที่น่าสนใจ

เพราะอย่างที่บอกว่าโจทย์ใหญ่ของร้านเหล่านี้ คือเป็นอาหารที่เหมาะกับการนั่งกินที่ร้านมากกว่าห่อกลับบ้าน

และเมื่อถึงวันที่ไวรัส Covid-19 หมดไป แต่ Marketeer เชื่อว่าอย่างไรแล้วเทรนด์ของ Food Delivery ก็ยังจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามมูลค่าของตลาด Food Delivery ที่เติบโตมากขึ้นทุกปี



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online