เทรนด์หลังโควิด ชีวิตวิถีใหม่ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไร และต้องการอะไร ? (เทรนด์การตลาด)

โควิด-19 เปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยไปจากเดิม และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จะเข้าสู่ new normal ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19

มายด์แชร์ ประเทศไทย โดยณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนธุรกิจ และ บงกช ชัยเมืองมา ผู้จัดการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ มายด์แชร์ ประเทศไทย ร่วมวิเคราะห์พร้อมเผยงานวิจัย ‘The New Norms’ How Life Will Unfold After COVID-19 ถึง 7 เทรนด์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคมหลังวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19

 

1. Reverse Globalization

แม้แนวความคิด Reverse Globalization ผ่านการกระจายกำลังการผลิตไปยังที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานการผลิตที่จีนประเทศต้นเรื่องการระบาด

โดยประเทศจีนถือเป็นฐานการผลิตใหญ่ให้กับแบรนด์ส่งสินค้าไปจำหน่ายทั่วโลก และการปิดโรงงานทำให้เกิดการชะงักของการผลิตสินค้า

สิ่งนี้เองทำให้มายด์แชร์คาดการณ์ว่าในอนาคตแบรนด์ข้ามชาติก็ยังจะผลิตเพื่อตลาดระดับโลก แต่จะเริ่มสร้างการผลิตภายในท้องถิ่นและกระจายหาแหล่งต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่ประเทศเดียวอีกต่อไป

สำหรับประเทศไทยมายด์แชร์มองกระแส Reverse Globalization ผ่านการย้ายฐานการผลิตออกเป็น 2 แง่มุม ที่อาจเป็นผลดีและผลเสียให้กับประเทศไทย โดยผลดีคือการขยายการผลิตออกนอกประเทศจีน แบรนด์ต่างๆ อาจมองประเทศไทยเป็นทางเลือกหนึ่งในการตั้งโรงงาน และเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

ส่วนผลเสียคือสำหรับบริษัทต่างๆ ที่เคยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอาจถอนการผลิตออกไปเช่นกัน

 

2. Digital Takeover

มายด์แชร์ได้มองว่าในอนาคตอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานและเข้าถึงได้ทุกที่ เหมือนไฟฟ้าและน้ำประปา ที่ผสมผสานความสะดวกสบายในการใช้งานจากโควิด-19 เร่งพฤติกรรมผู้บริโภคมาดิจิทัลมากขึ้น ด้วยมาตรการที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันเพื่อรณรงค์ ยับยั้งและป้องกันการแพร่เชื้อภายในประเทศทำให้ผู้บริโภคต้องใช้การบริการต่างๆ ผ่านรูปแบบดิจิทัลอย่างจริงจัง จะเกิดการเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่น่าสนใจ

มายด์แชร์มองว่าในวันนี้อีมาร์เก็ตเพลสเกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากผู้บริโภคถูกบังคับให้ไปดิจิทัลจากไม่มีสถานที่อื่นๆ ให้ซื้อสินค้า และเกิดความเคยชินกับการซื้อขายออนไลน์จนเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องแม้หมดโควิด-19 ก็ตาม จากความสะดวกสบายที่ได้รับ

สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่ดีของแบรนด์ที่พาตัวเองสู่ออนไลน์เพิ่มโอกาสในการตลาดและการเข้าสู่ออนไลน์ไม่ได้แค่เพียงยอดขาย แต่ยังได้ดาต้าเบสของผู้บริโภคเพื่อให้แบรนด์รู้จักผู้บริโภคมากขึ้นและนำมาใช้ในการทำตลาดในการเพิ่มยอดจำหน่ายผ่านการซื้อซ้ำขายฐานลูกค้า และอื่นๆ

เมื่อดิจิทัลเป็นที่ยอมรับมากขึ้นยังได้เกิดการเติบโตของโซเชียลคอมเมิร์ซ เช่น อีมาร์เก็ตเพลสของมหาวิทยาลัยต่างๆ จากคนไทยที่ต้องการ Human Interaction หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ขาย

ในส่วนของบริการเดลิเวอรี่ออนไลน์ทั้งการสั่งซื้ออาหาร หรือสินค้า ก็มีการเติบโตเช่นกัน เพราะผู้บริโภคยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าแต่ไม่สามารถออกไปซื้อได้ด้วยตัวเอง จากความต้องการที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตนอกบ้าน

และโควิด-19 ได้เข้ามาเร่งพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคเข้าสู่ Cashless Society จากความกลัวของผู้บริโภคที่ต้องสัมผัสเงินสดที่อาจจะมาพร้อมกับเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโควิด-19 จนเกิดการใช้เงินสดดิจิทัลมากขึ้น ผ่านการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยแอปพลิเคชัน โมบายแบงกิ้ง อีเพย์เมนต์ เครดิตการ์ด และอื่นๆ

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเกิดการใช้งานสินค้าในรูปแบบ Internet of Think รวมถึงประสบการณ์ Virtual Experience ในรูปแบบใหม่ๆ เช่นแบรนด์แฟชั่นอย่าง Marc Jacobs, Valentino เปิดตัวแฟชั่นใหม่ในเกม Animal Crossing แทนการเปิดตัวตามรันเวย์เหมือนที่ผ่านมา

 

3. Emergence of Big Data

โควิด-19 ทำให้มีการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ในการจัดการในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างใช้เทคโนโลยีเพื่อประมวลข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการจัดการเรื่องการติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการระบาด หรือแบรนด์นำบิ๊กดาต้ามาช่วยเพิ่มยอดจำหน่าย

การเติบโตของการใช้งานบิ๊กดาต้าทำให้ผู้บริโภคมองว่าบิ๊กดาต้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และพวกเขาต้องการเข้าถึงดาต้า หรือบิ๊กดาต้ามากขึ้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้กับตัวเองจนเป็นความเคยชินและกลายเป็นเรื่องปกติ

มายด์แชร์มองว่าการเคยชินกับดาต้าทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาบิ๊กดาต้าที่มีความน่าเชื่อถือผ่านช่องทางต่างๆ คือโอกาสของแบรนด์ที่ปรับเปลี่ยนการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านบิ๊กดาต้าถึงผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ พร้อมสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้

 

4. Elevated Health and Wellness

เห็นได้ชัดว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคไทยสนใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งภายในและภายนอก เช่น การล้างมือ การฉีดพ่นสิ่งของ รักษาความสะอาด เพราะผู้บริโภคเห็นว่าทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและเตรียมตัวเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดโรค

การใส่ใจเรื่องสุขอนามัยได้กลายมาเป็นกิจวัตรสำคัญของผู้บริโภค กลายเป็น เทรนด์หลังโควิด และมายด์แชร์คาดการณ์ว่าหลังโควิด-19 ความใส่ใจสุขอนามัยที่เคยทำมาจะเป็นบรรทัดฐานความรับผิดชอบต่อสังคมในเรื่องของสุขลักษณะที่จะเป็นเรื่องปกติในอนาคต รวมถึงระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศจะพัฒนาทั้งในเรื่องของคุณภาพและความง่ายต่อการเข้าถึง

สำหรับธุรกิจจะเห็นได้ว่าได้มีหลายๆ แบรนด์ได้ปรับกลยุทธ์ที่แสดงให้เห็นว่าแบรนด์เข้าใจและเตรียมพร้อมในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในเรื่องความสะอาดและอนามัย เช่น แอร์เอเชียปรับพนักงานบริการบนเครื่องบินใหม่ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้น

 

5. Physical Distancing Continues

ในวันนี้ผู้บริโภคมีความเคยชินในการอยู่บ้านมากขึ้น และเริ่มหากิจกรรมสร้างความสุขความสนุกในบ้านตัวเอง เช่น การทำอาหาร การตกแต่งบ้าน การดูสตรีมมิ่งวิดีโอและอื่นๆ  รวมถึงการหาพื้นส่วนตัวให้กับตัวเองภายในบ้าน

เมื่อผู้บริโภคอยู่บ้าน และต้องระวังในการมีส่วนร่วมกับสังคม เป็นโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มการอยู่บ้านมากขึ้น เช่น การสอนการทำกาแฟด้วยตัวเอง

 

นอกจากนี้ การเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้เกิดการปรับตัวใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคสู่การสร้างความมั่นใจด้านอนามัยที่มากขึ้น เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า Individually Together บริการของแบรนด์ใดที่สามารถสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยสำหรับการบริโภคแบบรายบุคคลได้ จะกลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจและตัดสินใจเลือกซื้อ เช่น ร้านอาหาร ที่ปรับตัวจากรับประทานร่วมกันเป็นออกเซตอาหารที่รับประทานคนเดียว หรือการมีพื้นที่ในร้านสำหรับรับประทานคนเดียว, การปรับตัวของการดูภาพยนตร์จากโรงหนังเป็นการดูภาพยนตร์จากในรถยนต์ของประเทศเกาหลี

หรือการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อให้บริการต่างๆ กับลูกค้าถึงบ้าน

 

6. Happiness is Redefined

ในช่วงที่ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านแบบเดิมได้ ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างความสุขเล็กๆ จากสิ่งรอบตัว เช่น การทำอาหาร ปลูกต้นไม้ การใช้เวลากับสัตว์เลี้ยง ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว และใส่ใจครอบครัวมากขึ้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้มายด์แชร์มองว่าทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า New Luxury ไม่ใช้สินค้าแบรนด์เนม เพื่อบ่งบอกว่า ฉันมีอุปกรณ์นี้ที่บ้าน หรือฉันมีมากกว่า ฉันทำสิ่งนี้ได้มากกว่า เช่น การมีเครื่องทำกาแฟส่วนตัวที่บ้าน การหัดตีฟองนมและแต่งหน้ากาแฟเองที่บ้าน การมีเครื่องทอดไร้น้ำมัน และอื่นๆ

 

7. Prepare for the Next Disruption

วิกฤตโควิด-19 ทำให้แบรนด์และผู้บริโภคต่างตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมหากเกิดวิกฤตครั้งใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพยายามพึ่งพาตนเองและเสริมทักษะพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิต หรือการทำงานจากบ้านที่เกิดขึ้นได้จริงๆ ในช่วงรักษาระยะห่างทางสังคม

ทั้งนี้ ในอนาคตแบรนด์จึงควรมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมหรือช่วยเหลือให้ผู้บริโภคสามารถพึ่งพาตนเองได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

เพราะโควิด-19 ได้เปลี่ยนความไม่ธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในอนาคต

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online