ธุรกิจสายการบิน ล้มละลาย ฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากเจอ กรณีศึกษา การฟื้นฟูกิจการของ JAL

ล้มละลายคือฝันร้ายที่ไม่มีบริษัทไหนอยากเจอ แต่ความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องกล้ำกลืนยอมรับการล้มละลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยธุรกิจที่ ‘ล้มดัง’ สุด ในวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้คือสายการบิน ยืนยันได้จากการล้มละลายของ Virgin Australia สายการบินใหญ่ของออสเตรเลียในเครือ Virgin Group และ Avianca Airlines สายการบินเก่าแก่อันดับสองของโลก รวมถึงสายการบินไทยที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ย้อนไปเมื่อปี 2010 Japan Airlines (JAL) 1 ใน 2 สายการบินใหญ่ของญี่ปุ่นก็ล้มละลายเช่นกัน

JAL มีปัญหาสะสมมากมาย ไม่ต่างจากเครื่องบินที่ต้องลงจอดแบบกระแทก runway อย่างแรง ที่ทั้งเครื่องยนต์ ปีกและหางเสือเสียหายอย่างหนัก โดยตลอดการฟื้นฟูกิจการ JAL ต้องเผชิญ “วิบากกรรม” มากมาย

 

จากความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่ต้องกลืนยาขมหลายขนาน  

Japan Airlines ก่อตั้งเมื่อปี 1951 โดยยุค 80 โตอย่างต่อเนื่องคู่ขนานไปกับการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและการรุกตลาดโลกของแบรนด์ญี่ปุ่น

แต่วิกฤตใหญ่สุดของ JAL ทยอยก่อตัวมาตั้งแต่ฟองสบู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นแตกต้นยุค 90 จนทำกำไรได้น้อยลง พอมาถึง 2009 ก็เผชิญปัญหาสะสมอีกมากมายทั้งหนี้มูลค่ามหาศาลถึง 25,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 819,200 ล้านบาท) ตัวเลขขาดทุนสะสม และฝูงบินขนาดใหญ่เกินตัวที่บางส่วนเป็นเครื่องรุ่นเก่ากินน้ำมันมาก

Japan Airlines 5

ที่สุด JAL ต้องจอดแบบกระแทก runway อย่างแรง โดยปี 2010 สายการบินแห่งนี้ก็ล้มละลาย เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ซึ่งถือเป็นการล้มละลายของบริษัทญี่ปุ่นนอกแวดวงการเงินครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นยื่นมือเข้ามาช่วย Japan Airlines ด้วยการอัดฉีดเงิน 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 105,600 ล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูกิจการ และเจรจาขอยกหนี้จากสถาบันการเงินก้อนใหญ่ให้ ภายใต้การกำกับดูแลของ ETIC หน่วยงานฟื้นฟูกิจการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา

Kazuo Inamori 2คาซุโอะ อินาโมริ

ขณะที่ทางเซจิ มาเอฮาระ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นได้ทาบทาม คาซุโอะ อินาโมริ เพื่อนสนิทที่เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง Kyocera บริษัทอุปกรณ์สื่อสารกับพริ้นเตอร์รายใหญ่ และ KDDI บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของญี่ปุ่นมาเป็น CEO

ทว่าตลอดการฟื้นฟูกิจการ JAL ต้อง “กลืนยาขม” หลายขนาน เริ่มจากเงินทุนทั้งหมดถูกลดไปและผู้ถือหุ้นทั้ง 380,000 คนไม่มีหุ้นในมืออีกต่อไป ส่วนหุ้น JAL ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นก็ถูกถอดออกจากการซื้อขาย

ด้านพนักงาน 15,700 คนหรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมดถูกปลด โดยในกลุ่มพนักงานอาวุโสราว 140 คนที่รับไม่ได้กับการถูกบีบให้ออกยื่นฟ้อง JAL ในเวลาต่อมาอีกด้วย

๋JAL

ส่วนพนักงานที่ยังได้อยู่ต่อก็ต้องกล้ำกลืนการถูกลดเงินเดือน โดยจะได้ค่าจ้างตามวันขึ้นบินไม่ใช่ได้เป็นเงินเดือนเหมือนช่วงก่อนล้มละลาย ตามข้อมูลสื่อญี่ปุ่นระบุว่าเงินเดือนพนักงานกลุ่มเหลือรอดของ Japan Airline ลดลงมาจนน้อยกว่าของ All Nippon Airways สายการบินคู่แข่งราว 20%

Japan Airlines 6

ช่วงบินฝ่าวิกฤต สวัสดิการของพนักงาน JAL ยังลดลงเป็นเลขสองหลัก โดยกลุ่มที่ได้ทำงานต่อถูกหักเงินสำรองกองทุนเลี้ยงชีพหลังเกษียณลง 50% ส่วนกลุ่มที่เกษียณไปแล้วเงินเงินสำรองกองทุนเลี้ยงชีพถูกหักไป 30%

ระหว่างปรับโครงสร้างทั้งฝูงบิน เส้นทางบิน และขนาดองค์กรของ JAL ยังเพรียวขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีการขายทิ้งเครื่องบินรุ่นเก่าที่เครื่องยนต์กินน้ำมันมาก ยกเลิก 31 เส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร และขายทิ้งหรือยุติธุรกิจที่ไม่ทำกำไรทั้งหมด

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์กับบริษัทคู่ค้าในประเทศของ JAL กว่า 13,000 บริษัทก็ร้าวฉาน เพราะได้รับผลกระทบตลอดปรับโครงสร้างของ JAL ไปด้วย

Japan Airlines 3

ช่วงเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู JAL ต้องเผชิญเสียงวิจารณ์มากว่าทำไมไม่แก้ไขปัญหา จนที่สุดต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกเป็นครั้งที่ 4 การขยายธุรกิจเกินตัว และระบบบริหารที่ซับซ้อนแบบราชการ ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่าจากนี้ต้องเรียกคืนความเชื่อมั่นจากทั้งผู้โดยสาร สังคมญี่ปุ่น และนักลงทุนครั้งใหญ่  

ฝ่าย คาซุโอะ อินาโมริ CEO อาวุโส ได้ปรับองค์กรและทัศนคติของพนักงาน JAL ไปพร้อมกู้วิกฤตจากผลของความผิดพลาดในการดำเนินธุรกิจ โดยได้ปรับทัศนคติของพนักงานที่เหลืออยู่ให้หันมารักองค์กรและทำงานอย่างมีความสุข

Japan Airlines New logo 6

เป็นการยืนยันว่าให้ความสำคัญกับพนักงานมากกว่าผู้ถือหุ้น พร้อมลดความหยิ่งทะนงของพนักงานและเปลี่ยนแนวทางการบริหารให้เป็นแบบบริษัทเอกชนมากขึ้น

ระหว่างฟื้นฟูกิจการ JAL คาซุโอะ อินาโมริ ยังแจกหนังสือย่อแนวคิดและสิ่งที่อยากให้ปฏิบัติกับพนักงานทุกคน ส่วนกลุ่มผู้บริหาร พนักงานที่ทำงานดึกดื่นหรือเครียด คาซุโอะ อินาโมริ ก็ละลายพฤติกรรมและให้เปิดใจด้วยการเข้าร่วมวงสังสรรค์หลังเลิกงานพร้อมหิ้วเบียร์ติดมือไปด้วย ซึ่งปรากฏว่าลดความเครียดในออฟฟิศไปได้มาก

 

สู่การไต่เพดานบินฟื้นสุดปังและบทเรียนแสนแพง

การยกเครื่อง JAL ของ คาซุโอะ อินาโมริ และ ETIC ประสบความสำเร็จเกินคาด โดยพอถึงปี 2012 เรื่องการล้มละลายก็กลายเป็นอดีต พร้อมข่าวดี หุ้น JAL กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ระดมเงินในวัน IPO ได้ถึง 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 272,000 ล้านบาท) คืนเงินเข้าคลังรัฐบาลญี่ปุ่นได้ก้อนใหญ่

Inamorri Japan Airlines

และสิ้นปีงบประมาณปี 2012 JAL มีผู้ถือหุ้นกลับขึ้นมาอยู่ที่ราว 181,000 คน (ก่อนล้มละลายและต้องปรับโครงสร้างอยู่ที่ 380,000 คน)

คาซุโอะ อินาโมริ เคยเปิดใจว่า ตนมอง JAL แง่ลบมาตลอดแต่ที่สุดก็ยอมรับงานใหญ่ในวันเกษียณ เพราะเห็นว่าถ้าทำสำเร็จ พา JAL ฟื้นได้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะฟื้นตามไปด้วย

การฟื้นฟูกิจการ JAL ครั้งนั้นยังเป็นต้นแบบให้ ธุรกิจสายการบิน มาจนถึงทุกวันนี้ จึงไม่แปลกที่ท่ามกลางวิกฤตการล้มละลายของสายการบินทั่วโลกจากสถานการณ์โรคระบาด เรื่องของ JAL และ คาซุโอะ อินาโมริ จะถูกนำมากล่าวถึงในวงกว้างอีกครั้ง

ทว่าขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างและเตือนสายการบินที่โชคร้ายที่การบินก็เป็นหนึ่งในนั้นให้เตรียมรับแรงกระแทกที่รุนแรงและต่อเนื่องตลอดช่วงฟื้นฟูกิจการ /bbc, ft, japantoday, nippon, jal, theguadian 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online