ศรีสวัสดิ์และเงินติดล้อ แท้จริงแล้วเป็นคนละแบรนด์กัน มาทำความรู้จักกับ 2 บริษัทนี้ให้กระจ่าง (วิเคราะห์)

อุบัติเหตุแบรนด์ที่คนยังเข้าใจผิดว่า “ศรีสวัสดิ์” และ “เงินติดล้อ”

แม้จะเคยมีเจ้าของดั้งเดิมเป็นคนเดียวกันก็ตาม

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2522  ชื่อของ “ศรีสวัสดิ์”  ถือกำเนิดขึ้นจากตระกูลแก้วบุตตา ที่เปิดบริษัทธุรกิจสินเชื่อจำนำรถในชื่อ  บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัด

ในตอนนั้นธุรกิจบูมมาก ถูกใจชาวบ้านเพราะชาวบ้านไม่สามารถกู้เงินธนาคารได้ด้วยสารพัดเหตุผลมากมาย แต่หากมีรถก็สามารถเอามาเป็นหลักค้ำประกันในการกู้เงินได้

จากที่เริ่มเปิดแค่หนึ่งสาขา สองสาขา จนในปี 2534 ศรีสวัสดิ์ มีสาขากว่า 130 สาขา จนไปเข้าตาบริษัทข้ามชาติ AIG ขอเข้าซื้อกิจการ ในปี 2550 เปลี่ยนชื่อจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด เป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด

จากนั้นไม่นานนัก AIG ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงขายกิจการส่งต่อมาถึงมือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่เข้าซื้อกิจการ 100% เมื่อปี 2552 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถครบวงจร สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และเป็นนายหน้าประกันภัย

เท่ากับว่าแบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” ที่เกิดจากตระกูลแก้วบุตตา ก็ได้กลายเป็นของธนาคารกรุงศรีฯ เรียบร้อยแล้วแบบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน

แต่…ธนาคารกรุงศรีอยุธยาคงไม่คาดคิดว่าเจ้าของดั้งเดิมอย่างตระกูล “แก้วบุตตา” หลังจากขายกิจการจะกลับมาทำธุรกิจเดิมอีก (เคยเจรจาขอซื้อบริษัทคืนแต่ไม่สำเร็จ เลยตั้งใหม่ซะเลย)

อ่าน : Copy Cat คืออะไร กรณีศึกษา เมื่อแบรนด์ต้องไม่มีเบอร์ 1 ถึง 2 คน

 

ที่สำคัญยังใช้คำว่า “ศรีสวัสดิ์” เป็นชื่อนำหน้าแบรนด์อีกต่างหาก โดยก่อตั้งบริษัทที่มีชื่อว่า “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” ในปี 2551 ภายใต้สโลแกน “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ธุรกิจเร่งรัดหนี้สิน ฯลฯ

และเข้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2557 ในชื่อ  บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ศรีสวัสดิ์และเงินติดล้อ สับสนจนต้องฟ้อง

แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมสินเชื่อเหมือนกัน และจะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าหาก “ผู้บริโภคไม่เกิดความเข้าใจผิด” ว่า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ของกลุ่มธนาคารกรุงศรี และ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” ของตระกูลแก้วบุตตา เป็นบริษัทเดียวกัน หรือมีความเกี่ยวข้องเป็นเครือกัน

เพราะไม่ว่าจะทำแคมเปญออกโปรโมชั่นอะไรมีคนไม่น้อยเข้าใจผิดไปใช้บริการของคู่แข่งฝั่งตรงข้ามเสมอ

เมื่อทนต่อการเข้าใจผิดไม่ไหว  “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ฟ้องต่อศาลให้ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” ถอดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ออกจากแบรนด์ในการทำธุรกิจ แต่ผลกลับกลายเป็นว่า “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” เป็นผู้ชนะ

“ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” เคยออกมาระบุว่า สถิติตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมามีผู้ใช้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ในประเทศไทยกว่า 57% เข้าใจผิดคิดว่าเงินติดล้อมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นบริษัทเดียวกันกับผู้ให้บริการสินเชื่อรายอื่นที่ใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายศรีสวัสดิ์

จนมาเมื่อปี 2561 ธนาคารกรุงศรีตัดสินใจรีแบรนด์ครั้งใหญ่ตัดคำว่า ‘ศรีสวัสดิ์’ ทิ้งแล้วเหลือเพียงคำว่า “เงินติดล้อ” เพื่อให้มีโพสิชั่นที่ชัดเจน จากที่แต่ก่อนต้องทุ่มงบการตลาดไม่ต่ำกว่าพันล้านบาทเพื่อสร้าง Brand Awareness ต่าง ๆ

 

แล้วตอนนี้ทั้ง 2 แบรนด์มีรายได้เท่าไร

 

ศรีสวัสดิ์ เงินสด ทันใจ

(บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน))

 

ปี 2560

รายได้รวม 6,998.69  ล้านบาท

กำไร 2,666.60  ล้านบาท

 

ปี 2561

รายได้รวม 7,881.32  ล้านบาท

กำไร 2,768.36  ล้านบาท

 

ปี 2562

รายได้รวม 9,793.26  ล้านบาท

กำไร 3,756.49  ล้านบาท

 

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์

 

 

เงินติดล้อ

(บริษัท เงินติดล้อ จำกัด)

 

ปี 2560

รายได้รวม 5,801 ล้านบาท

กำไร 1,247 ล้านบาท

 

ปี 2561

รายได้รวม 7,569 ล้านบาท

กำไร 1,306 ล้านบาท

 

ปี 2562

รายได้รวม 9,457 ล้านบาท

กำไร 2,201 ล้านบาท

 

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

 

อุบัติเหตุแบรนด์ครั้งนี้ แม้จะมีฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนชื่อไปไม่ใช้คำว่าศรีสวัสดิ์อีกแล้ว แต่ก็เชื่อว่ายังมีผู้บริโภคอีกไม่น้อยก็ยังเข้าใจผิดอยู่ดี

แต่อ่านมาถึงตรงนี้ Marketeer เชื่อว่าหลายคนคงจะเข้าใจมากขึ้นว่า ศรีสวัสดิ์ และ เงินติดล้อ คือคนละแบรนด์กัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online