เวลากาแฟ /วิรัตน์ แสงทองคำ

เครื่องคั่วกาแฟเล็ก ๆ ดูธรรมดา ๆ แต่พาเราไปไกลกว่าเดิม  

เครื่องมือคั่วกาแฟที่บ้าน (Home Coffee Roaster) จะกลายเป็นกิจกรรมใหม่ ๆ ในสวนด้วยก็ได้ ให้เวลาอยู่บ้านนานกว่าที่เคย คิดคำนึงถึงเรื่องราวต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น

ใช้เวลาพอสมควรในกระบวนการเรียนรู้เพื่อใช้งานให้เข้าที่เข้าทาง ด้วยหลายปัจจัยแปรผัน ขึ้นอยู่กับปริมาณและแหล่งที่มาสารกาแฟ (green bean coffee) ที่คั่วแต่ละครั้ง เครื่องซึ่งตั้งใจออกแบบใช้กับเตาแก๊สกระป๋อง (Portable Butane Stove) เพื่อความคล่องตัว และสามารถพกพาได้ เตาธรรมดาที่ว่าควบคุมระดับความร้อนไม่ง่ายนัก กว่าจะจับจังหวะการหมุนด้วยมือให้ความเร็ว สัมพันธ์กับระดับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และเวลาที่ผ่านไป จนในที่สุดได้กาแฟคั่วในระดับที่พอใจ ตามรสนิยมฉพาะตัวอย่างแท้จริง

ประสบการณ์ “เวลากาแฟ” เชิงขยาย ย้อนรอยกลับไปไกลกว่าเดิม ได้สังเกตสัมผัสสรรพสิ่งหลากหลาย ทั้ง กลิ่น ควัน สี และเสียงแตกตัว (crack) ของเมล็ดกาแฟ โดยมีเพียง thermometer เป็นสิ่งอ้างอิงและ guideline

ประสบการณ์อันน่าทึ่งมาถึงในช่วงเวลาเป็นใจ บรรดา “คอกาแฟ” ทั้งหลายกำลังอยู่บ้าน ไม่ว่ากักตัวหรือ WFH (Work From Home) ด้วยมีเวลาว่างให้ทำอะไรใหม่ ๆ ได้มากขึ้น เวลาซึ่งทดมาจากไม่ต้องฝ่าการจราจร อาจเป็นจังหวะสลับฉากที่ตื่นเต้นของบางคน มี “เวลากาแฟ” ผสมผสาน ทั้งทำเองที่บ้าน และใช้บริการ Delivery หรือ Drive-thru

TheAcademy-Virat-15Jun20-1

TheAcademy-Virat-15Jun20-2

Startup ผู้ผลิตเครื่องคั่วกาแฟขนาดเล็ก มองเห็นโอกาสในยามวิกฤต ในฐานะเจ้าของอู่ซ่อมรถกับช่วงเวลาช่างฝีมือโลหการแทบไม่มีงานทำ ในฐานะ “คอกาแฟ” ผู้อยู่ในแวดวง สัมผัสกระแสการเปลี่ยนแปลงแห่งวัฒนธรรมคาเฟ่@เชียงใหม่ อันอบอวลเฟื่องฟู แล้วฟุบลงทันทีทันใดเมื่อ COVID-19 มาถึง

ช่วงเวลายากลำบากขยายวงจรไปไกล จนถึงเกษตรกรสวนกาแฟ โดยเฉพาะชุมชนต้นธารบนภูดอยภาคเหนือ เมื่อห่วงโซ่ต่อเนื่องสู่ปลายทางแทบจะขาดสะบั้น กิจกรรมกิจการดูชะงักงัน ตั้งแต่พวก “คนกลาง” ไปยังโรงคั่วใหญ่-กลาง เครือข่ายร้านกาแฟ ”ขาใหญ่” คาเฟ่อิสระ จนถึงร้านกาแฟเล็ก ๆ

ภายใต้แรงบีบคั้นมีทางออกอยู่บ้าง มีบททดสอบ แบบทดลองใหม่ ๆ เป็นทางเลือก ในความพยายามทะลุทะลวงผ่านห่วงโซ่ยาวดั่งกำแพงมืดทึบขวางกั้น เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงได้ในบางระดับ เป็นโอกาสจากจุดปะทุ ปะทะใหม่ บรรจบกับ “คอกาแฟ” ปัจเจกชน ผู้มีอิทธิพล (Influencer) กลุ่มหนึ่งกำลังเติบโต เชื่อว่าเป็นผู้นำกระแส ยกระดับสู่ความซับซ้อน (Sophistication) ผู้คนซึ่งพยายามขยาย “เวลากาแฟ” ไปให้ไกลเท่าที่เป็นได้ จาก คั่ว บด ทำ จนถึง ลิ้มลอง

จุดปะทุปะทะ มาจากเครื่องคั่วขนาดเล็กที่เข้าท่า กับการก่อเกิดการค้าปลีกสารกาแฟ อาจเข้าถึงพวก Startup อีกกลุ่มหนึ่งอย่างไม่ตั้งใจ พวกร้านกาแฟขนาดเล็ก โดยผู้โฟกัส ฝักใฝ่ (Passion) เป็นพิเศษ ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ แต่อยู่แนวหน้า แสวงหาความแตกต่างและโดดเด่น มักเป็นนักธุรกิจผู้สร้างสรรค์และบุกเบิก ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวอย่างน่าสนใจ

ท่ามกลางกระบวนการผ่านร้านค้าออนไลน์ ”ขาใหญ่“ หรือบ้างใช้ ”สื่อสังคม (Social Media) ด้วยตนเอง กลายเป็นเรื่องจริงจังและแตกต่าง ไม่เพียงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย มีตั้งแต่สารกาแฟ จนถึงบรรจุภัณฑ์คั่วบด ที่สำคัญอย่างยั่งยืนและเชื่อมโยงกับกระแสกาแฟใหม่ ๆ ในกระบวนการสร้างสายสัมพันธ์กับปลายทาง ต้นธารจะค่อย ๆ ปรากฏ ”ตัวตน” และ “แบรนด์” ที่มีคุณค่าเพิ่ม ไม่ว่าอ้างอิงกับต้นแหล่งทางภูมิศาสตร์จาภภาค จังหวัด สู่ภูดอย หมู่บ้าน จนถึงสวนกาแฟเล็ก ๆ เป็นเรื่องราวผิดแผกไปกับเส้นทางหลัก ในห่วงโซ่ยืดยาวแบบเดิมที่พวก “ต้นธาร” มีฐานะเป็นเพียงชิ้นส่วนที่เล็กมาก ๆ โดยไม่ปรากฎ “ตัวตน” และแทบไม่มีร่องรอย

กระบวนการปะทุปะทะใหม่ให้อำนาจบางอย่างอีกด้วย อาจไม่มากมาย แต่มีนัยทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าเวลานี้ หรือ เวลาไหน

มีที่ยืนให้ผลิตภัณฑ์ใหม่-เครื่องคั่วกาแฟขนาดเล็กคุณภาพฝีมือช่างท้องถิ่น เกษตรกรผู้ปลูกและเลือกสรรคัดแบ่งเกรดคุณภาพกาแฟอย่างตั้งใจ จะสามารถกำหนดราคาและมาร์จิ้นได้เองบ้าง ขณะที่ “คอกาแฟ” จะเป็นผู้บริโภคที่หลักแหลมขึ้น มีทางเลือก มีอำนาจในการสร้างสมดุล ว่าด้วย เวลา ราคา วิธี และรสนิยม

เชื่อว่าแรงปะทุปะทะจะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้ไม่มากก็น้อย ในห่วงโซ่เดิมที่เป็นดั่งกำแพงอันมืดทึบขวางกั้น “ต้นธาร” กับ ”ปลายทาง”  

ห่วงโซ่ดูทรงพลังมากขึ้น ๆ ในช่วงทศวรรษมานี้ โดยมี “ขาใหญ่” ยึดครองพื้นที่ไว้ค่อนข้างแน่นหนา ไม่ว่า “เปลวไฟสีแดง-ฟ้า” ผู้สร้างเครือข่าย “นกแก้วเกาะต้นไม้” ไปทั่วทุกหัวระแหง หรือสัตว์ใหญ่อย่าง “ช้าง” มีทั้งยี่ห้อ “นอก” และ “ท้องถิ่น” ไปจนถึงเครือข่าย “ดอกบัว” ซึ่งแตกกิ่งก้านสาขาหลากหลายเหลือเกิน

ทว่าในนั้น ที่ผ่าน ๆ มาก็พอมีช่องว่างให้หลายคนมีโอกาสแทรกตัว เป็นเส้นทางเฉพาะตัว ดังตัวอย่างเด็กหนุ่มชาวอาข่า 2 คน แห่งต้นธารบนภูดอย เชียงราย ในโมเดลความพยายามเชื่อมโยงห่วงโซ่สู่ปลายทางอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  คนแรก จาก “แม่จันใต้” เข้ายึดพื้นที่อย่างมั่นคงในเชียงใหม่ ศูนย์กลางวัฒนธรรมกาแฟใหม่ของไทย เขากลายเป็นคนซึ่งถูกพูดถึงในวงกว้างและไกลพอสมควร  อีกคนหนึ่ง ผู้มาใหม่ แห่ง “ดอยช้าง” ที่คุ้นเคยปักหลักอยู่ที่นั่น พยายามเทียบเคียง “ขาเก่า” หวังว่าจะไปให้ไกล

ท่ามกลางวิถีใหม่ (New Normal) ในวัฒนธรรมกาแฟ แรงปะทุปะทะที่ว่า อาจเป็นดั่งดาวกระจาย ให้ “ตัวละคร” ตัวเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นอย่างมากหน้าหลายตา 

I-



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online