โอลิมปัสขายธุรกิจกล้องถ่ายภาพ สะท้อนอะไรในตลาดกล้องดิจิทัลไทย (วิเคราะห์)

ข่าวใหญ่สะเทือนวงการธุรกิจกล้องถ่ายภาพในตอนนี้คงหนี้ไม่พ้นบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “โอลิมปัส” ที่ออกมาประกาศตัดสินใจขายธุรกิจกล้องถ่ายภาพ หลังจากที่ขาดทุนติดกัน 3 ปีต่อเนื่อง

โดย โอลิมปัสขายธุรกิจกล้องถ่ายภาพ ให้กับ Japan Industrial Partners (JIP) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวให้กับองค์กร

อ่าน: Olympus ทนพิษ disruption ไม่ไหว ตัดใจขายธุรกิจกล้อง

ขณะที่ธุรกิจกล้องถ่ายภาพในไทย โอลิมปัสประเทศไทยชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กทางการระบุว่า ธุรกิจผลิตภัณฑ์กล้องถ่ายภาพในไทยยังคงดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และมีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ตามแผนที่วางไว้

หันกลับมาดูตลาดกล้องถ่ายภาพดิจิทัลในไทยที่ต้องเจอความท้าทายไม่ต่างกัน และหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

เพราะหากดูตัวเลขมูลค่าของตลาดกล้องดิจิทัลในปี 2562 ที่ผ่านมานั้นลดลงทั้งในแง่ปริมาณ และมูลค่า

มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 190,000 ตัว เติบโตติดลบ 29%

มูลค่าตลาดประมาณ 5,800 ล้านบาท เติบโตติดลบ 28%

โดยกล้องที่ครองส่วนแบ่งในตลาดมากที่สุดหนีไม่พ้นกล้อง Mirrorless  มีสัดส่วนอยู่ที่ 65% รองลงมาคือ กล้อง DSLR  27%

สิ่งที่บรรดาแบรนด์ต่าง ๆ ทำที่เห็นได้ชัดคือ การลงมาเล่นตลาด Mirrorless ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในเซกเมนต์ดังกล่าวเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคที่เน้นการใช้งานที่ง่าย มีฟังก์ชันครบครัน

 

ส่วนแบ่งตลาดกล้อง

Mirrorless 65%     DSLR 27%    Compact 8%

หมายเหตุ: ส่วนแบ่งครึ่งปีแรกของปี 2562 

ฟูจิฟิล์ม ที่ครองผู้นำตลาดกล้อง Mirrorless ออกผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ปลายปีที่ผ่านมาเปิดตัวกล้อง FJIFILM X-A7 ล่าสุดเมื่อต้นปีเปิดตัว FUJIFILM X-T200 ที่จับตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมเป็น Vlogger และ Youtuber

นิคอน ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่นิคอนปล่อย Nikon Z6 และ Z7 กล้อง Mirrorless ฟูลเฟรมรุ่นแรกของบริษัทในประเทศไทย และในปีนี้มีข่าวลือว่านิคอนก็เตรียมจะปล่อยกล้อง Mirrorless รุ่นใหม่ในช่วงปลายปีทั้งรุ่น Z30, Z8 และ Z5

แคนนอน สร้างอีโคซิสเต็มส์ในกลุ่มคนใช้แคนนอนที่ออกอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้กับทั้ง DSLR และ EOS Mirrorless ฟลูเฟรมได้ พร้อมทั้งในปีนี้คาดว่าจะเปิดตัว Mirrorless ฟูลเฟรมรุ่นใหม่ในปีนี้ Canon EOS R5, Canon EOS R6

ส่วนโอลิมปัส เปิดตัวรุ่นล่าสุดไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมากับ Olympus OM-D E-M5 Mark III กล้อง Mirrorless สเปกเทพ ส่วนในปีนี้ยังไม่มีวี่แววของผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มนี้

แม้แต่ละแบรนด์จะหาจุดขาย หาช่องทำการตลาดเพื่อสร้างรายได้แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการชะลอตัวของตลาดกล้องถ่ายภาพที่เกิดขึ้น

สิ่งที่ท้าทายตลาดกล้องถ่ายภาพ Marketeer มองว่า

1. การมาของสมาร์ทโฟน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่แต่ละค่ายทั้งซัมซุง หัวเว่ย ออปโป้ วีโว่ หรือแม้แต่ไอโฟน มาดิสรัปกล้องถ่ายรูปแบบเต็มๆ เพราะปัจจุบันสมาร์ทโฟนแต่ละค่ายเน้นชูจุดเด่นในเรื่องการถ่ายภาพแทบทั้งสิ้น

เมื่อผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าในราคาหลักหมื่นทั้งทีสมาร์ทโฟนจึงเป็นตัวเลือกที่มาก่อนกล้องเสมอ เพราะทั้งโทรออกได้ และถ่ายภาพได้สวยเหมือนกับใช้กล้องถ่ายภาพเสียด้วยซ้ำ

แต่ใช่ว่ากล้องถ่ายภาพไม่สามารถขายได้เลย เพราะก็ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ยังต้องใช้งานประจำ เช่น อาชีพช่างถ่ายภาพ หรือผู้ที่ชื่นชอบและต้องการกล้องสักตัวเพื่อใช้งาน

2. การหวนกลับมาของกล้องฟิล์ม ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมาเทรนด์การถ่ายภาพจากกล้องฟิล์มเริ่มหวนกลับมา และยิ่งมีเหล่าดารา เซเลบ บล็อกเกอร์ที่เป็นกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ใช้ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในฉากของภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเร่งให้ตลาดกล้องฟิล์มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

แม้กล้องฟิล์มจะต้องใช้เวลาถ่ายให้หมดม้วน และนำไปล้าง กว่าจะได้รูปภาพออกมาให้ชม แต่นี่แหละคือเสน่ห์ของกล้องฟิล์มที่ทำให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ได้อีกครั้ง

3. พฤติกรรมผู้บริโภค เพราะราคากล้องถ่ายภาพตัวหนึ่งไม่ใช่บาท สองบาท แต่มีราคาถึงหลักหมื่น หลักแสนบาท รวมทั้งต้องซื้ออุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมอีก เมื่อผู้บริโภคมีกล้องถ่ายภาพสักตัวแล้วการตัดสินใจเลือกซื้อตัวใหม่บางทีก็ต้องคิดแล้วคิดอีก และถ้าหากยังไม่จำเป็น หรือยังใช้ได้ง่าย เชื่อว่าผู้บริโภคก็ยังคงใช้กล้องที่มีต่อไป

4. สภาพเศรษฐกิจ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดกล้องชะลอตัว ที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว และกล้องถ่ายภาพเป็นสินค้าในกลุ่มฟุ่มเฟือย การตัดสินใจซื้อในยุคที่ฝืดเคืองแบบนี้จึงไม่ใช่คำตอบ

 

แล้วแต่ละแบรนด์ที่มาทำตลาดในไทยมีรายได้เท่าไร

 

บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด

 

ปี 2560 

รายได้รวม  3,659,920,588.00

กำไร   239,088,152.00

ปี 2561 

รายได้รวม  3,847,661,782.00

กำไร   215,451,108.00

ปี 2562  

รายได้รวม  3,817,175,140.00

กำไร  137,723,754.00

 ——

บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จํากัด 

 

ปี 2560

รายได้รวม  6,020,272,825.00

กำไร  93,469,547.00

ปี 2561 

รายได้รวม  5,393,734,987.00

กำไร   89,263,686.00

ปี 2562  

รายได้รวม   4,673,681,143.00

กำไร  79,755,450.00

—–

บริษัท นิคอน เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด 

 

ปี 2560

รายได้รวม  1,234,044,124.00

กำไร   30,405,143.00

ปี 2561 

รายได้รวม  n/a

กำไร   n/a

ปี 2562

รายได้รวม  1,113,048,582.00

กำไร  13,950,985.00

 —–

บริษัท โอลิมปัส (ประเทศไทย) จำกัด 

 

ปี 2560

รายได้รวม 2,503,722,659.00

กำไร   118,950,881.00

ปี 2561 

รายได้รวม   1,855,490,423.00

กำไร   24,334,177.00

ปี 2562  

รายได้รวม   1,589,139,734.00

กำไร   61,273,831.00

 

*ทั้งนี้เป็นรายได้รวมของทั้งบริษัทรวมทุกผลิตภัณฑ์

หน่วย: บาท

ที่มา: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online