ขายของออนไลน์ อย่างไรให้ชนะร้านค้าจากจีนที่ผุดเหมือนดอกเห็ด (กลยุทธ์การตลาด)

ร้านออนไลน์จะปรับตัวอย่างไร ในวันที่พี่จีนเข้ามาขายในแพลตฟอร์ม JSL อย่างเต็มรูปแบบ เป็นเรื่องที่น่าคิด

เพราะในวันนี้ของที่เราส่องใน JSL  ทั้ง JD Central, Shopee และ Lazada มากกว่า 77% หรือ 135 ล้านชิ้น เป็นสินค้าจากจีน อ้างอิงจาก PriceZa ในปี 2562

และเชื่อว่าปีนี้มากกว่านั้นอย่างแน่นอน

ของจากจีนหลายๆ สิ่งที่ขายจากแพลตฟอร์ม JSL จะประกอบด้วยกัน 2 รูปแบบคือ

สินค้าที่เปิดร้านขายโดยคนไทย ผ่านการออเดอร์สินค้าจากจีนในรูปแบบค้าส่งมายังไทย เน้นการค้าในรูปแบบพร้อมส่งให้กับลูกค้าในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพราะสินค้าทั้งหมดมีอยู่ในไทยเรียบร้อย

สินค้าที่เปิดร้านขายโดยคนจีน ที่พร้อมส่งจากจีน มีจุดขายคือราคาจำหน่ายที่ถูกกว่า เนื่องจากไม่มีการบวกราคาจากคนกลาง แต่สินค้าจากร้านค้าประเภทนี้จะมีระยะการส่งที่นานกว่า ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาการส่ง 7-14 วัน

โดยเราสังเกตร้านค้าที่พร้อมส่งจากจีน ง่ายๆ คือ จะมีคำว่า Global กำกับ เพื่อบอกให้ทราบว่าสินค้านี้ไม่ได้อยู่ที่ไทยนะจ๊ะ

ก่อนนั้นความแตกต่างนี้ทำให้ร้านค้าไทยที่ขายสินค้าจากจีนสามารถแข่งขันได้ในธุรกิจ จากจุดเด่น สินค้าส่งถึงมือที่ไวกว่า แม้ราคาสินค้าจะแพงกว่าสั่งตรงจากจีนก็ตาม เพราะมีลูกค้าไม่น้อยที่ต้องการใช้ของเดี๋ยวนั้น และไม่อยากรอสินค้านาน

แต่วันนี้แลนด์สเคปการแข่งขันในธุรกิจ Cross Border ใน อีมาร์เก็ตเพลส แพลตฟอร์ม อย่าง JSL ได้เปลี่ยนไป จากการที่ร้านค้าจากจีนเข้ามาลุยตลาดไทยในระยะประชิดด้วยการเปิดร้านค้าพร้อมส่งในไทยเสียเลย

จะเห็นข่าวการรับจ้างเปิดแอคเคาน์ร้านค้าในไทยบนแพลตฟอร์ม ช้อปปี้ และลาซาด้า ให้กับพ่อค้าแม่ค้าจากจีน ทำให้ร้านค้าเหล่านี้ไม่มีคำว่า Global กำกับอยู่หน้าร้าน

และร้านค้าจีนที่เปิดในไทยเหล่านี้ มีไม่น้อยที่มีการส่งสินค้าที่คาดว่าจะขายได้ดี มารอที่ไทย เพื่อการส่งที่รวดเร็วขึ้น ในราคาที่ต่ำกว่าร้านค้าของคนไทย เนื่องจากไม่มีต้นทุนของพ่อค้าคนกลาง

การคาดการณ์สินค้าที่ขายดีส่วนหนึ่งมาจากดาต้าเบสของแพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลการขายเพื่อประมวลเทรนด์ของสินค้ายอดนิยม

เพราะสินค้า Cross Border ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่แพลตฟอร์มนำมาจำหน่ายเอง จากแพลตฟอร์มหลักในไทยมีแพลตฟอร์มอีมาร์เพลสใหญ่จากจีนเป็นผู้ถือหุ้นหลัก

ลาซาด้า มีอาลีบาบา

เจดี เซ็นทรัล มีเจดีดอทคอม เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น

หรือแม้แต่ช้อปปี้ ตั้งศูนย์บริการ และคลังสินค้าในจีน เพื่อลดต้นทุนการจัดส่ง และสามารถส่งสินค้าไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รวดเร็วภายใน 3 วัน

รวมถึงการตั้งศูนย์กระจายสินค้าใน EEC ของอาลีบาบา ด้วยงบลงทุนถึง 13,480 ล้านบาท มีบริษัท ดับบลิวเอเอช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ ศูนย์กระจายสินค้านี้มีการส่งมอบเมื่อ กันยายน 2562

ศูนย์กระจายสินค้าของอาลีบาบาทำให้สินค้าจากจีนส่งตรงมายังลูกค้าชาวไทยในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางและที่สำคัญปลอดภาษีถ้าสินค้าที่สั่งซื้อราคาไม่เกิน 1,500 บาท

โดยสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าอาลีบาบาใน EEC มีลูกค้าหลักคือ ลูกค้าจากลาซาด้า แพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสที่มีเจ้าของคือ อาลีบาบา

ซึ่งแน่นอนว่าร้านค้าจากจีนเข้ามาสร้างตลาดในไทยแข่งขันกับร้านค้าไทยที่สั่งสินค้าจากจีนมาจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

สิ่งที่ทำให้ร้านค้าจากจีน เข้ามาล่าอาณานิคมในไทยมากขึ้น พร้อมด้วยจุดแข็งราคาถูกกว่าซื้อจากร้านค้าโดยคนไทยสูงสุดถึง 53% และการส่งที่รวดเร็วมากกว่าเดิมถึง 100%

ในวันนี้เราสังเกตได้ว่าจะมีร้านค้าที่ส่งจากไทยใช้ภาษาที่แปลกๆ ในการขายสินค้า ซึ่งอ่านแล้วรู้เลยว่าเป็นภาษาที่มาจากการใช้โปรแกรมภาษาอย่างแน่นอน

 

ข้อมูลจาก Priceza พบว่า 5 กลุ่มสินค้าที่มีการขายในรูปแบบ Cross Border เมื่อเทียบกับสินค้าที่จำหน่ายทั้งหมดประกอบด้วย

สินค้ากีฬา 84%

สินค้าสัตว์เลี้ยง 83%

เครื่องประดับ 82%

อะไหล่ยานยนต์ 80%

สินค้าเพื่อความบันเทิงในบ้าน 78%

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ร้านค้าไนที่ขายสินค้าจีนจะทำอย่างไร

1.สร้างความแตกต่างด้วยบริการ และความเชื่อมั่นของลูกค้า

แม้ราคาของสินค้าจีนที่ขายโดยคนจีน จะมีราคาที่ถูกกว่า และมีระยะเวลาการส่งที่รวดเร็วกว่าเดิมจนลูกค้ารู้สึกได้จากการสต๊อกสินค้าในไทย หรือการส่งสินค้าไปที่ศูนย์กระจายสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังลูกค้าปลายทาง

ใช่ว่าสินค้าที่มีพ่อค้าแม่ค้าจากจีน จะสามารถตีร้านค้าจากไทยได้เสมอไป เพราะแม้ร้านค้าจากไทยจะเสียเปรียบเรื่องราคา แต่สามารถสร้างความได้เปรียบด้วยความเป็นคนไทย ที่ใสใจ และน่าเชื่อถือกว่าพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน

ร้านค้าไทยสามารถสร้างความใสใจแบบไทยสไตล์ผ่านกลวิธีการอธิบายสินค้าอย่างละเอียดในภาษาไทยๆ ที่ไม่ได้มาจากการแปลภาษา ตอบคำถามทุกข้อสงสัยของลูกค้าแบบตรงไปตรงมา

รวมถึงการรีวิวสินค้าจากสินค้าจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจ การรับประกันและบริการหลังการขาย โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง

เพราะอย่างน้อยเป็นการสร้างความมั่นใจกับลูกค้า และยอมที่จะจ่ายเงินที่แพงกว่า เพื่อแลกกับความสบายใจในการสั่งซื้อสินค้า จนกลายเป็นลูกค้าประจำที่พร้อมแนะนำร้านกับคนอื่นๆ ผ่านการรีวิวและการให้ดาวร้านต้า

การที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าอาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อยในการสะสมความน่าเชื่อถือและประสบการณ์ของลูกค้า แต่เชื่อว่าถ้าร้านค้าสามารถให้บริการที่ดีอย่างสม่ำเสมอสามารถสร้างการเติบโตในลูกค้าขาประจำและขาจรได้ในระยาว

2.หาแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น โซเชียลคอมเมิร์ซ เสริมธุรกิจ

ในการแข่งขันที่สูงในอีมาร์เก็ตเพลส JSL ร้านค้าคนไทยอาจจะหาทางออกด้วยการเปิดร้านของตัวเองในโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ไอจี หรือไลน์ เพราะอย่างน้อยการเปิดร้านค้าในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสามารถลดต้นทุนค่าดำเนินการหรือค่า FEE ที่จะต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มได้

และนำกำไรจากส่วนต่างนี้ไปตั้งราคาสินค้าให้ต่ำลง การเพิ่มบริการส่งฟรี และอื่นๆ ที่เพิ่มแวลู่ให้กับร้านค้าเพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อที่ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ในแพลตฟอร์มโซเชียลร้านค้าที่เปิดจำหน่ายสินค้าในนั้น เป็นร้านค้าที่มีพ่อค้าแม่ค้าเป็นคนไทย ซึ่งการเล่นสงครามราคาเหมือนกับร้านค้าจากจีนที่เข้ามาจำหน่ายสินค้าในไทยจึงมีน้อยลงตามมา

แต่ใช่ว่าสื่อโซเชียลจะมีข้อดีเสมอไป เพราะสื่อโซเชียลในวันนี้มีร้านค้าเข้ามาเปิดธุรกิจจำนวนมาก และขายสินค้าเหมือนกันๆ ทำให้คู่แข่งในแพลตฟอร์มนี้สูงไม่แตกต่างจากอีมาร์เก็ตเพลส

รวมถึงการถูกจำกัดการมองเห็นของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก แพลตฟอร์มหลักที่ร้านค้าเข้ามาเปิดร้านขายสินค้า โดยเฟซบุ๊กจำกัดให้ประชากรโซเชียล เห็นสิ่งต่างๆ ในเฟซบุ๊กน้อยลง เพื่อที่จะหารายได้จากการบูทส์โพสต์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นสินค้าที่จะนำเสนอ

นอกจากนี้โลกของโซเชียลยังสามารถแสดงความคิดเห็นทางลบที่มีกับสินค้าและบริการได้ง่าย ซึ่งเรื่องนี้ ร้านค้าจะต้องรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการที่ดีอยู่เสมอให้กับลูกค้าเช่นกัน

เพราะการรักษามาตรฐานในการให้บริการนอกจากจะป้องกันการติเตียนทางลบจากลูกค้าแล้วยังมีผลบวกคือเมื่อลูกค้าประทับใจจะบอกต่อกับเพื่อร่วมสังคมออนไลน์เช่นกัน

ทั้งนี้แม้การแข่งขันในธุรกิจสินค้า Cross Border จากจีน จะรุนแรงขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสของร้านค้าเอสเอ็มอีไทยที่ ขายของออนไลน์ ในการนำเสนอสินค้าเหล่านี้ถึงกลุ่มลูกค้าเช่นกัน

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online