ติดตามอ่านคอลัมน์ The Battle ใน นิตยสาร Marketeer ฉบับเดือน กุมภาพันธ์

 

 

 

ต้องบอกว่าอุตสาหกรรม “รถยนต์” ในเมืองไทยยังเป็นอะไรที่ “เดาทาง” ไม่ออกเพราะนับตั้งแต่ปี 2012 ที่ได้รับสารกระตุ้นจากนโยบายรถคันแรกคืนเงิน 100,000 บาทของรัฐบาลจนทำให้สร้างปรากฎการณ์ยอดขายถล่มทลายสูงถึง 1,435,335 คันแต่หลังจากนั้นปีถัดๆมายอดขายตลาดรถยนต์ก็ยัง “ดำดิ่ง” อย่างไม่มีวี่แววว่าจะมีเส้นกราฟทะยานสูงขึ้นและในปี 2016 นี้ก็ยังถูกประเมินว่ายอดขายในตลาดรถยนต์จะยังคง “ติดลบ” ลงไปอีก

 

 

เหตุผลของการ “ตกต่ำ” ที่ยังไม่สิ้นสุด

ความน่าสนใจจึงมาอยู่ที่ว่าเพราะเหตุใดตลาดรถยนต์ในปี 2016 จะยังคงอยู่ในสภาวะ “ทิ้งตัว” เพราะหากมองโลกในแง่ดีนั้นคือในปีนี้หลายธุรกิจในตลาดเชื่อว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้านการลงทุน “เมกะโปรเจกต์” ต่างๆ ที่มาอย่าง “จัดเต็ม” จะช่วยให้ “พลังซื้อ” กลับมา

“ปี 2015 ที่ผ่านมา เรามองว่าตลาดรถยนต์น่าจะตกต่ำกว่านี้อีก หากไม่มีผู้บริโภคส่วนหนึ่งที่หนีมาซื้อรถก่อนกำหนดเวลาที่ตัวเองวางไว้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสรรพสามิต CO2 ในปีนี้ 2016”

“ตรงนี้เองที่ทำให้กำลังซื้อในปี 2016 ถูกนำไปใช้ล่วงหน้าในปีที่แล้ว แม้จะเป็นจำนวนเล็กน้อยก็ตามทีส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ตลาดซบเซา นั้นคือราคารถยนต์ในปีนี้มีหลายรุ่น ที่น่าจะมีราคาขายแพงกว่าปีที่แล้วด้วยกฎของภาษีใหม่”

“ในขณะที่โครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลที่จะลงทุนในครึ่งปีหลังเรามองว่าจะเห็นผลชัดเจนไม่ใช่ปีนี้ แต่จะเป็นปีหน้ามากกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว” ทวี ธีระสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด วิเคราะห์บอกถึงสาเหตุที่ตลาดรถปี 2016 จะยังคงอยู่ในสภาวะยอดขายตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ยังทำให้ตลาดยังไม่ฟื้นตัวมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 82% ส่งผลให้กลุ่มสถาบันการเงินต่างๆ ในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อนำเงินไปซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ในอัตราที่น้อยมาก เพราะอย่าลืมว่าพฤติกรรมการซื้อรถยนต์แบบผ่อนชำระสูงถึง 85% ในขณะที่รูปแบบเงินสดอยู่ที่ 15%

 

ในทุก “วิกฤติ” ย่อมมี โอกาสเล็กๆซ่อนอยู่

ทั้งหมดนี้ได้กลายเป็น Effect ที่ค่ายรถหลายค่ายต้องคิดหนักพร้อมกับมีค่ายรถบางค่ายปรับลด “งบการตลาด30 -40%” แต่หากส่องกล้องมองเกมให้ลึกซึ้งในความตกต่ำของตลาดรถยนต์ ย่อมมีโอกาสทางการตลาดเล็กๆ แอบซ่อนอยู่ เพราะแม้ Segment ขนาดใหญ่อย่าง “รถกระบะ” และ “รถยนต์ 1500 CC” ที่มียอดขายรวมกันมากกว่า 70 % ของตลาดยัง “ติดลบ” ต่อเนื่องอย่างรุนแรงแต่ก็มีรถยนต์ในบาง Segment วิ่งสวนทางความ “ตกต่ำ” เมื่อมีอัตราการเติบโตเกินความคาดหมาย

เป็นการฉายภาพชัดเจนว่ากลุ่มรถ Sub Compact, SUV,และ PPV หรือกระบะดัดแปลง ซึ่งเป็น Segment เล็กๆ ยังสามารถทะยานเติบโตได้ดี แน่นอนย่อมส่งผลให้เทรนด์การแข่งขันในปี 2016 บรรดาค่ายรถยนต์จะต้องเน้นทำตลาดในกลุ่มดังกล่าวอย่างเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

ในขณะที่กลุ่มตลาดรถหรูในเมืองไทยเองก็ยังสามารถเติบโตทะลุ “วิกฤติ” ได้เช่นกัน สะท้อนจากปี 2015 ที่ผ่านมามียอดขายรวม 22,441 คัน จากแต่เดิมปี 2014 มียอดขาย 20,234 คัน (ข้อมูลจาก BMW)

“BMW เองยังมองว่าปี 2016 ตลาดรถหรูเองก็ยังคงสามารถเติบโตได้อีก เหตุผลมาจากทุกค่ายจะมีรถรุ่นใหม่ๆ ออกมากระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ” แมทธิอัส พฟาลซ์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย บอกถึงเหตุผลที่ตลาดรถหรูจะยังคงเติบโตต่อไปอีกปี

 

BIG BIKE ยังใส่ “เกียร์ถอย”

“ในอดีต Segment Big bike จะมียอดขายไม่มาก แต่เริ่มเติบโตต่อเนื่อง เพราะมีหลายรายเริ่มเข้าสู่ตลาดนี้ จากในอดีตมีแบรนด์ญี่ปุ่นค่ายหนึ่งทำตลาดเงียบๆ แต่ปัจจุบันเริ่มมีแบรนด์ญี่ปุ่นค่ายอื่นๆ และค่ายยุโรปเข้ามาสร้างสีสันการตลาดได้มากขึ้น” ทวี ธีระสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด บอกถึงเหตุผลที่ตลาดรถ Big bike ยังเติบโตต่อเนื่อง

แต่ถึงอย่างไร ไม่ว่าตลาดรถยนต์และจักรยานยนต์จะใส่เกียร์ “ถดถอย” อย่างต่อเนื่องแค่ไหน ? แต่ทุกรายต่างคิดเป็น “เสียงเดียวกัน” คงไม่มีตลาดไหนที่จะตกต่ำไปได้ตลอด และอีกไม่นานจะต้องมี Turning Point เพียงแต่เมื่อไร เวลาใด ? ยังไม่มีใครสามารถตอบได้

ผู้เขียน : ฉลองศักดิ์ สุดใจธรรม



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online