อาหารญี่ปุ่น 20,000 ล้านบาทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 10-15% ในทุกๆ ปี แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว จากความนิยมของคนไทยที่รู้จักและยอมรับในอาหารญี่ปุ่นที่หลากหลายรสชาติที่ถูกปาก เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ รับประทานได้บ่อย ไม่เลี่ยน ไม่อ้วน และทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ทานดูดี

แม้อาหารญี่ปุ่นจะมีการเติบโตต่อเนื่องเกิน 10% ทุกปี เมื่อมองจาก 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2558 กลับพบว่าตลาดอาหารญี่ปุ่นกลับเติบโตเพียง 7-9% และมีการแข่งขันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและ ปริมณฑล โดย Big Player ต่างให้แข่งขันผ่านแนวทางการตลาด 4 ประการได้แก่

1.Networking

ขยายสาขาให้ครอบคลุมมากที่สุด ทั้งในห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า Easy Access ในการเข้าถึงร้านค้า

2.Product Varity

ความหลากหลายของอาหาร นำเสนอรูปแบบอาหารที่แปลกใหม่ รสชาติถูกจริตคนไทย สอดคล้องกับรูปแบบการรับประทานอาหารนอกบ้านของกลุ่มเป้าหมาย

3.Unique Selling Points

จุดต่างของแบรนด์ ความโดดเด่นที่แตกต่าง รวมถึงการตกแต่งร้านที่มีสไตล์ บ่งบอกความเป็นตัวตนของกลุ่มเป้าหมาย และอื่นๆ

4.Value Added

การบริการที่เหนือความคาดหมาย รวมถึงการจัดโปรโมชั่นในรูปแบบต่างๆ ทั้งส่วนลด ของแถม ลุ้นโชค และอื่นๆ ที่ดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจเข้ามารับประทานในร้านนอกเหนือจากด้านราคาเพียงอย่างเดียว

 

กรุงเทพอิ่มตัว ต่างจังหวัดคือโอกาส

เมื่อมองลึกลงไปในตลาดอาหารญี่ปุ่นที่เติบโตอย่างสวยงามกลับพบว่าในตลาดกรุงเทพและปริมณฑลเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง และอยู่ในภาวะอิ่มตัวจากการขยายสาขาของแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่และรายย่อย และการเข้ามาในตลาดของผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการรับประทานอาหารนอกบ้าน

ส่วนตลาดต่างจังหวัดยังคงเป็นตลาดที่มีโอกาสในการเติบโต โดยเฉพาะตลาดหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้านใกล้เคียงกับคนกรุงเทพ และยังเป็นตลาดที่ยังไม่มีแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นเข้าไปเปิดสาขาไม่มากนักนอกจากแบรนด์หลักๆ เพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแบรนด์เล็กอาจมองว่าต้องการโฟกัสไปที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นตลาดที่เปิดรับแบรนด์ใหม่ๆ อยู่เสมอ และพร้อมที่จะจ่ายเงินกับการรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อแลกกับรสชาติที่อร่อย และบรรยากาศตกแต่งสวยงาม สะท้อนรสนิยมของผู้รับประทาน

 

ฟูจิ รักษาเบอร์ 1 ด้วยสาขา

ผู้คร่ำหวอดในวงการอาหารญี่ปุ่นมากกว่า 30 ปี อย่างฟูจิ ได้รักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ1 อย่างต่อเนื่องจากการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็นร้านอาหารสำหรับคนรุ่นใหม่ และร้านอาหารสำหรับครอบครัวด้วยงบการตลาด 200 ล้านบาทในปีนี้ไปพร้อมๆ กับขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัดทั้งศูนย์การค้า คอมมูนิตี้ ออฟฟิศบิ้วดิ้ง และแหล่งชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามารับประทานอาหารในร้านฟูจิแทนร้านอื่นๆ โดยในปีนี้ ฟูจิมีสาขามากกว่า 90 สาขา ซึ่งเป็นสาขาใหม่ 5-6 สาขาด้วยงบลงทุน 250 ล้านบาท

นอกจากเกมในบ้านแล้วฟูจิ ยังมีความต้องการเป็นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ครอบคลุมทุกประเทศใน AEC เริ่มจากการเข้าไปทดลองตลาดในลาวและเมียนมาร์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในปี 2557มีสาขามากถึง 4 สาขาในสองประเทศและในปีนี้ต้องการเปิดสาขาเพิ่มอีก 8 สาขาในเมียนมาร์ 3 สาขา ลาว 1 สาขา อินโดนีเซีย และมาเลเซียประเทศละ 1 สาขา และกัมพูชาอีก 2 สาขา

โดยในปีนี้ฟูจิรักษาความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้วยเป้ารายได้ทั้งปี 8,000 ล้านบาทเติบโตจากปีที่ผ่านมา 10% และคาดว่าในปี 2561 จะสามารถสร้างรายได้ได้มากถึง 10,000 ล้านบาท

 

โอโตยะ แม่บ้านญี่ปุ่นมาปรุงให้ถึงไทย

จุดเด่นของโอโตยะ ที่แตกต่างจาก Big Player อื่นๆ คือการเป็นร้านอาหารต้นตำรับจากญี่ปุ่น ที่มีคุณภาพ เพื่อสุขภาพ มีเมนูหลากหลาย โดย 90% ของเมนูทั้งหมดเป็นเมนูสูตรจากญี่ปุ่น และ10% เป็นเมนูที่ปรับให้เหมาะตรงกับความต้องการของคนไทยมากขึ้น

ในปีนี้โอโตยะ ต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาด 8%ในตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น เติบโต 10% เท่ากับปีที่ 2557แต่ด้วย 9 เดือนที่ผ่านมาการโอโตยะสามารถสร้างการเติบโตได้เพียง 5% จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และทำให้บางสาขามีลูกค้ามาใช้บริการลดลง

เพื่อไปถึงฝั่งฝันไตรมาสสุดท้ายของปีโอโตยะจึงได้งัดไม้เด็ดตอกย้ำความเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีต้นรับจากประเทศญี่ปุ่น สร้างการรับรู้ถึงเมนูใหม่ๆ ที่โอโตยะได้ปรับเปลี่ยนเป็นประจำทุกปี ไปพร้อมๆ กับเชิญชวนให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาใช้บริการมากขี้นด้วยแคมเปญ “โอโตยะ ฉลองเมนูใหม่ อิ่ม-หมี-ฟรี-มัน” ให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการโอโตยะ 17 สาขาในศูนย์การค้าเซ็นทรัล ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกับCRG เจ้าของลิขสิทธิ์โอโตยะในประเทศไทย ลุ้นทริปเที่ยว และรับประทานอาหารที่ร้านโอโตยะประเทศญี่ปุ่น พร้อมคูปองส่วนลด และเมนูพิเศษ เมื่อทานครบ 300 บาท ระหว่างวันที่28 ตุลาคม -27 ธันวาคม 2558

ไปพร้อมๆ กับสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมาย ว่าโอโตยะคือ ร้านอาหารญี่ปุ่นที่เน้นเมนูสไตล์โฮมเมดที่หลากหลายผ่านแคมเปญและกิจกรรมการตลาดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น TV วิทยุ บีทีเอส บิลบอร์ด สื่อโซเชียลมีเดีย และโมบายแอพพลิเคชั่น ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ผ่านงบการตลาด 60 ล้านบาทในปีนี้

โดยโอโตยะมีกลุ่มเป้าหมายหลัก 80% เป็นกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มครอบครัว ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่น และชื่นชอบอาหารต้นตำรับ และลูกค้ารอง 20% ที่เหลือคือชาวญี่ปุ่นและครอบครัวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

รวมถึงปรับเมนูพิเศษในสาขาต่างจังหวัดเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ให้มีราคาเฉลี่ยต่อเมนู 250 บาท ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะปัญหาของโอโตยะคือความเป็นพรีเมี่ยมที่มีราคาเมนูเฉลี่ย 300-350 บาท ต่อเซ็ต ทำให้กลุ่มเป้าหมายต่างจังหวัดไม่กล้าที่จะเข้ามาทดลองรับประทานอาหาร และคาดหวังว่าจะมีผู้สั่งเมนูพิเศษนี้มากถึง 15% ของลูกค้าต่างจังหวัด

นอกจากนี้ยังได้ขยายสาขาเพิ่มเป็น 52 สาขาในปี 2559 และเพิ่มเป็น 100 สาขาในปี 2563จากปัจจุบันที่มีอยู่ทั้งสิ้น 47 สาขา และรีโนเวทสาขาเดิม ด้วยงบการตลาด 150 ล้านบาท เพื่อเป้ารายได้ 1,000 ล้านบาทในปี 2559 จากรายได้ปัจจุบัน 700 ล้านบาท ไปพร้อมๆ กับการมองหาทำเลเปิดร้านในCLMV เพื่อทดลองตลาดและขยายสาขาไปยัง AECในที่สุด



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online