ความ Exellent ของ เซ็นทรัลกรุ๊ป อยู่ที่ยุทธศาสตร์การขยายตัวในการลงทุนที่ชัดเจนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ   รวมทั้งการปรับตัวโครงสร้างของกลุ่มตลอดเวลา โดยเฉพาะนโยบายภายในขององค์กร เพื่อเตรียมการรับมือกับการแข่งขันในอนาคต และกลายเป็น Challenge ของผู้บริหารอย่างมากในปีนี้ที่กล้าตั้งเป้าสูงถึง 286,680 ล้านบาทหรือโต 15%

ถึงแม้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้กลุ่มเซ็นทรัลทำยอดขายโตได้เพียง 6.6% จากที่เคยทำได้ไม่เคยต่ำกว่า 2 หลักติดต่อมาหลายปี

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า ความมั่นใจในการตั้งเป้ายอดขายที่ค่อนข้าง Aggressive มาจาก 3 เรื่องหลักคือ 1. แนวทางในการขยายการลงทุนที่ชัดเจน 2. การเปิดตัวโครงการใหม่อีก 5 โครงการ และ 3. ความมั่นใจในเรื่องกำลังซื้อภายในประเทศที่น่าจะดีขึ้นดูได้จากเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาการใช้จ่ายคึกคัก โรงแรม ร้านอาหาร เต็ม จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ในปีนี้เซ็นทรัลยังเตรียมเม็ดเงินในการลงทุนเพิ่มอีก 4 หมื่นล้านบาทเพิ่มจากปี 2547 ที่ลงไปประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนในอาเซียนประมาณ 10-15%

ยุทธศาสตร์หลักสู่เป้าหมายเฉียด 3 แสนล้านบาท

   1. โฟกัสกลุ่มธุรกิจสินค้าหรู Luxury Collection ที่จะทยอยเปิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิม ในอดีต เซ็นทรัลกรุ๊ปจะมีเซ็นทรัลชิดลมเป็นแฟล็กชิพสโตร์ในแง่ของลักชัวรี่สโตร์แห่งเดียวเท่านั้น แต่เมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาได้ขยายตลาดและการทำธุรกิจไปยังประเทศยุโรป ด้วยการไปซื้อห้างสรรพสินค้า ลา รินาเซนเต้ (La Rinascente) ในอิตาลี และ อิลลุม (Illum) ในเดนมาร์ก ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเมืองที่มียอดนักท่องเที่ยวปีละกว่า 50 ล้านคนที่เดินทางไปยังอิตาลีและเดนมาร์ก

ในปีที่ผ่านมาได้เปิดกลุ่มธุรกิจสินค้าหรู “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” ในประเทศไทย และในปีนี้ยังคงเดินหน้าบุกเมืองที่เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว (Tourist Destination) โดยมีแผนจะเปิด ลา รินาเซนเต้ สาขาใหม่ที่ใจกลางกรุงโรม อิตาลี ซึ่งจะเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดในอิตาลี ซึ่งจะเสร็จอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ส่วนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กจะมีการปรับโฉมห้างอิลลุม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเดือนเมษายนนี้ และจะทำแกรนด์โอเพนนิ่งประมาณในไตรมาสที่ 3

ทศกล่าวว่ากลุ่ม Luxury Collection เป็นโอกาสหนึ่งของเซ็นทรัลในการสร้างแบรนด์ และสร้างคอนเน็คชั่นกับแบรนด์ดังระดับโลก

เซ็นทรัลกรุ๊ป

เปิดสาขาใหม่ทั้งเมืองหลักเมืองรองและชายแดน

ในปี 2558 เซ็นทรัลจะเปิดสาขาใหม่ในกรุงเทพฯ 3 แห่ง คือ เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสท์ วิลล์ (บนถนนประดิษฐ์มนูธรรม) 2.โครงการโรบินสัน ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ ศรีสมาน (อ.ปากเกร็ด) และ 3. คือโครงการใหญ่ เวสต์เกตที่บางใหญ่ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายถึง 15 จังหวัด

ไปเปิดในต่างจังหวัดอีก 3 แห่งคือ   1. บุรีรัมย์ ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ 2. เซ็นทรัลพลาซา ระยอง และเป็นเมืองชายแดนอีก 1 แห่งคือ โครงการ แม่สอด ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ เพื่อรองรับกำลังซื้อมหาศาลจากประเทศเมียนมาร์

ข้อมูลจากหอการค้า จ.ตาก ประเมินว่า หลังจากก้าวสู่การเปิด AEC ในปี 2558 มูลค่าการค้าชายแดนบริเวณ ด่านการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดีจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี สินค้าที่มีโอกาสขยายการส่งออกผ่านด่านชายแดนดังกล่าว จะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเภท โดยชาวเมียนมาร์ถือว่าสินค้าจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

ศักยภาพทางการค้าชายแดนเป็นแนวทางหนึ่งที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้วางไว้หลายปีจึงได้ขยายการลงทุนเพื่อเปิดศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในจังหวัดที่เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจแล้ว 4 จังหวัด คือ เซ็นทรัล พลาซา เชียงราย ประตูเชื่อมต่อทางการค้าระหว่างไทย ลาว เมียนมาร์ และจีน ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน มุกดาหาร เชื่อมต่อระหว่างไทยและ สปป.ลาว   เซ็นทรัล พลาซา อุดร Lifestyle Hub ของภาคอีสานตอนเหนือที่สามารถรองรับประชาชนจาก สปป. ลาว และเซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซีย

โฟกัส 3 ประเทศหลักในอาเซียน

ปีที่ผ่านมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งของเซ็นทรัลกรุ๊ปที่ได้ตัดสินใจบุกเข้าไปลงทุนในอาเซียนเป็นครั้งแรก โดยมีเวียดนามเป็นประเทศเป้าหมายหลักดยได้เปิดห้างไปแล้ว 2 ห้างคือที่เมืองฮานอย และโฮจิมินทร์ และในปี 2558 นี้ได้มีการเข้าไปลงทุนในบริษัท เหงียน คิม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอันดับหนึ่ง 1 ของเวียดนามที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุมถึง 21 สาขาทั่วประเทศ มียอดขายถึง 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับศักยภาพของเพาเวอร์บายแล้วเชื่อมั่นว่า จะทำให้ เหงียน คิม เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเวียดนาม พร้อมทั้งทำให้ เพาเวอร์บาย กลายเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในภูมิภาคอาเซียน

รวมทั้งยังได้มีการซื้อแบรนด์แฟชั่น HCH Industries SdnBhd ที่ขายอยู่ในประเทศมาเลเซียอยู่แล้วกว่า 100 สาขา  และการเปิดตัวห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย

จากการขยายตัวเข้าสู่อาเซียนใน 3 ประเทศหลัก เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ชัดเจน ทำให้วันนี้เซ็นทรัล สามารถเอาแบรนด์ไทยเข้าไปสู่ประเทศต่างๆ เหล่านั้นแล้วถึง 106 แบรนด์ จากเดิมที่เคยเป็นผู้นำในการนำเข้าแบรนด์ต่างประเทศมาไทยเท่านั้น

   “ที่สำคัญก็คือเซ็นทรัลกรุ๊ปก็จะเปลี่ยนบทบาทตัวเอง ไม่ใช่เอาอินเตอร์เนชั่นแบรนด์เข้าสู่อาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำในการนำเอาไทยแบรนด์ไปสู่อาเซียนด้วย”

บริหารโรงแรมใน 18 ประเทศทั่วโลก

ในปี 2557 มีจำนวนโรงแรมในเครือรวมทั้งสิ้น 75 โรงแรม จำนวนห้องทั้งหมดกว่า 15,000 ห้อง ในปีนี้จะมีการเปิดโรงแรมเพิ่มอีก 9 โรงแรม จำนวนห้องกว่า 1,800 ห้อง เป็นแกรนด์เซ็นทารา   2 แห่ง และเซ็นทารา 7 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการเปิดในต่างประเทศ เช่นที่ตุรกี โดฮา เกาะกูก๊วก (เวียดนาม) และที่เกาะบาหลี

ทศกล่าวว่าในส่วนของโรงแรมมีได้มีการเซ็นต์สัญญาเข้าไปบริหารโรงแรมในต่างประเทศปีละประมาณ 10 แห่ง และในปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าไปบริหารโรงแรมในต่างประเทศแล้วประมาณ 17-18 ประเทศ   เช่นในศรีลังกา ประเทศย่านอาเซียน ประเทศในตะวันออกกลาง และจีน

ผลักดัน SME อย่างต่อเนื่อง

ทศกล่าวว่า การสนับสนุน SME เป็นอีกหนทางหนึ่งในการวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับประเทศที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลมุ่งมั่นจะสานต่ออย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางที่จะช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. กลุ่มที่ค้าขายกับเซ็นทรัลอยู่แล้ว และได้ผลักดันให้ไปขยายตัวในอาเซียนแล้ว 106 แบรนด์ ส่วนที่ 2 คือระดับชุมชนที่ได้ร่วมทำงานกับ 70 ชุมชนทั่วประเทศใน 20 จังหวัด เป็นสินค้ากว่า 700 รายการ ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้เงินไปประมาณ 100 ล้านบาทเพื่อที่จะสนับสนุนให้เอาสินค้าชุมชนเข้ามาในห้าง โดยมี 3 แนวทางหลักคือจะขายกันเฉพาะในจังหวัดหรือภาค หรือจะขายข้ามภาคกัน รวมทั้งสามารถพัฒนาไปขายต่อในต่างประเทศได้ด้วย

อนาคตของเซ็นทรัลคือออนไลน์

เซ็นทรัลเป็นผู้นำทางด้านห้างสรรพสินค้ามานานถึง 68 ปี และเป็นผู้นำทางด้านศูนย์การค้ามาถึง 30 กว่าปี ธุรกิจทางด้านออนไลน์จะเป็นเป้าหมายใหม่ที่เซ็นทรัลต้องการขึ้นไปเป็นผู้นำให้ได้ในอนาคต

วันนี้ธุรกิจออนไลน์ทั้งหมดของเซ็นทรัลกรุ๊ปดำเนินงานอยู่ภายใต้บริษัทออฟฟิศเมท ซึ่งจะมีการเปิดตัวบริษัทนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ หลังจากมีการเตรียมตัวมาประมาณปีกว่า

ในปีนี้คาดว่ายอดขายธุรกิจออนไลน์จะทำได้ประมาณ 800 ล้านบาท   สินค้าทั้งหมดมีประมาณ 5 หมื่นรายการ แล้วจะเพิ่มไปเป็น 1.5 แสนรายการ ภายในสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าจะมีผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บสูงถึง 33 ล้านคน

 

เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล 

อ่านเนื้อหาเต็มๆ ได้จาก Marketeer ฉบับที่ 181 เดือน มีนาคม

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online