สิ้นปีทั้งที ไม่มีอะไรจะดีกว่าการรีวิวเศรษฐกิจในปี 2560 และฉายภาพไปยังปี 2561

สำหรับประเทศไทยที่ผ่านการมรสุมในช่วง GDP โต 0.8% แต่หลังจากที่การปฏิรูปเข้าที่เข้าทาง ความเชื่อมั่นก็ค่อยๆ กลับมา ล่าสุดยูโรโซนก็เตรียมฟื้นฟูความสัมพันธ์เจรจา FTA กับไทยอีกครั้ง

ส่วนการลงทุนในเทคโนโลยีก็เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่

-การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) โดยมีรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เตรียมรองรับ

-อินเตอร์เน็ตประชารัฐที่จะเสร็จเกือบหมดในปี 2560

 

แต่นอกจากนั้นแล้ว ก็ต้องบอกว่าภาคอื่นๆ ของไทยแทบจะไม่ต่างไปจากเดิม ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง

 

ภาคการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวเป็นความหวังของไทยมาหลายปี และในปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2560 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5% ใน 3 ไตรมาส และจะเพิ่มถึง 20% ในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งททท.เองก็พยายามจะควบคุมการปริมาณนักท่องเที่ยวไม่ให้มากเกินไป แต่ไปเน้นที่คุณภาพของนักท่องเที่ยวแทน

แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถคุมอยู่ ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มอยู่ดี แต่ที่น่าดีใจ คือ การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ และทำการตลาด Wellness Tourism มากขึ้นนั่นเอง

 

ภาคการส่งออก

การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด ถ้าการส่งออกดี ก็หมายความว่าเราสามารถผลิตของมาขายให้ต่างชาติได้ แต่ในปี 2559 นับว่าเป็นปีที่แย่มากสำหรับการส่งออก เพราะโตเพียง 0.5% หรือจะพูดว่าหยุดอยู่กับที่ก็ว่าได้ แต่ในปีนี้ ถือว่าการส่งออกฟื้นตัวอีกครั้ง ด้วยการเติบโต ถึง 9% และจะกลับไปอยู่ในระดับที่พอเหมาะที่ 4.5% ในปี 2561

ปัจจัยเหล่านี้ก็มาจาก ค่าเงินที่ไม่อ่อน ไม่แข็งจนเกินไป รวมถึงความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยเริ่มกลับมาอีกครั้ง

 

หนี้ครัวเรือน กับ ภาคการเกษตร

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะลดลงในปี 2561 แต่ก็เพราะมาจากปัจจัย GDP ที่สูงมากขึ้น ส่วนหนี้ครัวเรือนยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมไปถึงการจ้างงานที่ไม่น่าจะสูงไปกว่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างตลาดแรงงานของไทย ที่ไม่ได้ตรงตามความต้องการของตลาด

ส่วนภาคการเกษตรนั้นก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะราคาสินค้าเกษตรยังผันผวนทุกปี โดยเฉพาะราคาข้าวที่มีคู่แข่งต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2561 คาดว่าสภาพอากาศจะดี และไทยจะผลิตข้าวได้มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนาม ฉะนั้นอุปทานที่มากขึ้นจะทำให้ราคาข้าวเฉลี่ยลดลง 1.9% ในปี 2561

 

ภัยธรรมชาติ ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังสำหรับภาคเกษตร และภาคการผลิต

แต่ภัยที่น่ากลัวกว่าภัยธรรมชาติ ก็คือ ภัยจากมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ ไม่ว่าจะความตึงเครียดของเกาหลีเหนือ ความไม่สงบในซีเรีย รวมถึงการก่อการร้ายที่มีถี่ขึ้นเรื่อยๆ

รวมไปถึงการเลือกตั้งในปลายปีหน้า ที่มีการเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว ถ้าครั้งนี้้เลื่อนออกไปอีก ก็น่าจะมีการเคลื่อนไหวทั้งในไทย และต่างประเทศแน่นอน

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online