ความสนุกของคอกีฬาไม่ว่าประเภทใดระหว่างชมการแข่งขัน คือได้ลุ้นว่าทีมโปรดหรือนักกีฬาขวัญใจจะคว้าชัยได้หรือไม่ แต่หากรู้ด้วยว่าพลาดจุดไหนถึงทำให้แพ้ มีข้อได้เปรียบอะไรจึงเป็นฝ่ายชนะและจังหวะที่เกมเปลี่ยน ก็จะทำให้การขับเคี่ยวที่เห็นอยู่ตรงหน้า ทั้งแบบสดๆที่สนามหรือผ่านจอ มีอรรถรสเพิ่มขึ้น โดยฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ ต้องรอให้สิ้นเสียงนกหวีดสุดท้ายของกรรมการในนัดชิง จึงจะรู้ว่าแชมป์จะตกเป็นของทีมชาติไหน แต่ไม่ใช่กับสังเวียนของเหล่า Sponsor ที่ แบรนด์จีน ชนะไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยจำนวนแบรนด์ที่เป็น ‘ผู้สนับสนุน’ อย่างเป็นทางการมากถึง 5 แบรนด์

เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชม มาดูกันว่าทำไม Wanda Group ,Vivo ,Hisense ,Mengniu Daily และ Yadea จึงได้โอกาสร่วมกันทำเกมแบบพับสนามบุก ให้ แบรนด์จีน ใน World Sport Event ครั้งนี้ เหนือกว่าแบรนด์สัญชาติอื่นอย่างเห็นได้ชัด แม้ฟุตบอลทีมชาติไม่ได้ผ่านเข้ารอบมาร่วมแข่งขันในสนามก็ตาม

Momentum เกมเปลี่ยนหลังแบรนด์ดังถอนตัว

เหตุใดทีมฟุตบอลที่เหนือกว่าในทุกด้าน ทั้งชื่อชั้น สถิติในอดีตและฝีเท้าของนักเตะดีกว่า กลับแพ้ทีมรองบ่อนอย่างพลิกความคาดหมาย คำตอบหนึ่งคือเกิดเหตุการณ์อย่างการเสียจุดโทษ นักเตะคนสำคัญทำฟาล์วจนถูกไล่ออกจากสนาม หรือกระทั่งความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ

แบรนด์จีน Mengniu

สำหรับฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด จุดเปลี่ยนที่ทำให้ 5 แบรนด์จีนจากธุรกิจ 5 ที่ต่างกัน ได้ลงนามเป็น Sponsor กับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) มาจากแบรนด์ดังชาติตะวันตก เช่น Castrol และ Johnson & Johnson รวมถึง Sony แบรนด์เทคโนโลยีญี่ปุ่นขอถอนตัว หลังกรณีทุจริตของ FIFA เมื่อปี 2015 เพื่อป้องกันไม่ภาพลักษณ์แบรนด์เสื่อมเสียไปด้วย

แบรนด์จีน Yadea

แบรนด์จักรยานยนต์ไฟฟ้า Yadea

แต่บรรดาแบรนด์จีนกลับเห็นเป็นโอกาสทอง จึงเดินหน้าเข้าไปเจรจากับ FIFA เพื่อให้ได้สิทธ์ ‘ผู้สนับสนุน’ ในระดับต่างๆ ที่วางลง

แบรนด์จีน Wanda FIFA CEO

Wang Jianlin และ Gianni Infantino

ปี 2016 Wanda Group บริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนยักษ์ใหญ่ ทุ่มงบมหาศาลทำสัญญาเป็น FIFA Partner – ผู้สนับสนุนระดับสูงสุดเทียบเท่ากับ Adidas และ Coca-Cola ของฟุตบอลโลก 5 ครั้ง ซึ่งถือเป็น Big Deal แรกของ Gianni Infantino ประธาน FIFA คนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งในปีนั้น

ส่วนอีก 4 แบรนด์จีน ที่เหลือก็ไม่น้อยหน้า สามารถทำการตลาดได้ผ่านสิทธ์ผู้สนับสนุนระดับรองๆ ลงมา โดย Vivo (Smartphone) ,Hisense (เครื่องใช้ไฟฟ้า) และ Mengniu Daily (ผลิตภัณฑ์จากน้ำนมวัว) คว้าสิทธ์แบบ FIFA Worldcup Sponsor ขณะที่ Yadea แบรนด์จักรยานยนต์ไฟฟ้าได้สิทธ์แบบ Asian Supporter

เงินแบรนด์เต็มคลังพร้อมพลังหนุนจากทางการ

ต่อให้เพื่อนในทีมส่งบอลใส่พาน (Killer Pass) มาสวยแค่ไหน แต่ถ้านักเตะไม่ได้ทุ่มกับเกมเต็มร้อย หรือฝีเท้าไม่ถึงก็ยากที่จะส่งบอลไปตุงตาข่ายเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนให้เกม แต่เรื่องนี้ตรงกันข้ามสถานการณ์ของแบรนด์จีนในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจจีนกำลังขยายตัวในปัจจุบัน

ส่งผลให้แบรนด์แดนมังกรถึงพร้อมทุกด้าน มียอดขายเพิ่มขึ้นและกำลังเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศแบบสุดกำลัง จึงมองว่ามหกรรมกีฬาระดับโลกคือ Sport Marketing Event ที่พลาดไม่ได้

Vivo ยอมทุ่มถึง 400 ล้านยูโร (ราว 11,400 ล้านบาท) แลกกับการได้สิทธ์ FIFA Worldcup Sponsor เป็นเวลา 6 ปี ครอบคลุมการแข่งขันภายใต้การดูแลของ FIFA 3 ครั้งคือ ฟุตบอลโลกครั้งนี้ ,Confederations Cup ปี 2021และปิดท้ายด้วยฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์

ส่วน Wanda Group ฟุตบอลโลกไม่ใช่การลงทุนครั้งแรกในวงการลูกหนัง เพราะก่อนหน้านี้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของ หวัง เจียนหลิน มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของจีนและทวีปเอเชีย เคยซื้อ ต้าเหลียน ยี่ฟาง สโมสรฟุตบอลใน Chinese Super League มาบริหาร

แบรนด์จีน Wanda Atletico

และซื้อหุ้น 20% ของ Atletico Madrid สโมสรฟุตบอลชื่อดังของสเปน พร้อมเปลี่ยนชื่อสนามของสโมสรหลังเป็น Wanda Metropolitano ด้วย

การทุ่มประชาสัมพันธ์ผ่าน Sport Event ระดับโลกของแบรนด์จีน ได้รับการส่งเสริมเต็มที่จากรัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง ที่กำลังผลักดันให้จีนได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2030 พร้อมฝันไกล หวังว่าปี 2050 จีนจะได้เป็นในการทำให้จีนเป็นมหาอำนาจด้านฟุตบอล

แบรนด์จีน Xi Jinping

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

เป็นที่คาดฟุตบอลโลกครั้งนี้ แบรนด์ทั่วโลกจะทุ่มเงินประชาสัมพันธ์และโฆษณา 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 76,800 ล้านบาท) เพื่อให้สินค้าและบริการของตน ปรากฏสู่สายตาผู้ชมประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าแบรนด์สัญชาติจีนต้องอยู่ลำดับต้นๆ ในการทุ่มงบ Promote และหลังจบ Tournament นอกจากทราบว่าทีมชาติใดจะคว้าแชมป์แล้ว คอบอลทั่วโลกจะรู้จัก แบรนด์จีน มากขึ้นด้วย /theguardian ,bbc ,cnbc ,qz ,wikipedia

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online