ปฏิเสธไม่ได้ว่า เพลงแรป เข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่รายการ Rap is Now ที่เริ่มจากในกลุ่มเล็ก ๆ ของคนที่หลงใหลเพลงแรป ก่อนจะขยายใหญ่ขึ้น จนมีเวที The War is On ในปี 2014-2015 จนทำให้เกิดศิลปินเพลงแรป หรือ แรปเปอร์ที่มีฝีมือ ไม่ว่าจะเป็น Maiyarap, YoungOhm, Nil Lhohitz และ อีกมากมาย

 

เพลงแรป จาก Underground สู่ Mass เต็มตัว

เดิม ศิลปินแรป หรือเพลงแรป มักจะถูกเชื่อมโยงกับ คำหยาบคาย ความก้าวร้าว แต่เมื่อเพลงแรป มีเนื้อหาที่หยาบน้อยลง แต่เน้นความหมายมากขึ้น ผู้บริโภคก็เปิดรับได้มากขึ้น

เห็นได้ชัดจาก 2 เพลงนี้ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่เพลง Rap ที่เราเคยได้ยินแบบต่างประเทศ แต่ก็สามารถทำให้มันร่วมสมัยได้

ปูจ๋าน ลองไมค์ และ Urboy TJ

เมษายน 2015 : ปู่จ๋าน ลองไมค์ – แลรักนิรันดร์กาล 187+ ล้านวิว

กุมภาพันธ์ 2016  : Urboy TJ – เค้าก่อน 86+ ล้านวิว

และ ในเดือนพฤษภาคม 2017 Clear ก็เป็นแบรนด์แรกที่กล้าใช้ Rapper อย่าง Maiyarap ในการทำ เพลงแรป ซึ่งถึงแม้ชื่อเสียงจะไม่มากมาย แต่ความสามารถในการแรป ก็ทำให้แคมเปญของ Clear ที่ต้องการยกย่อง หมวกของฮีโร่ ประสบความสำเร็จผ่านเพลงแรป

Clear ไมยราพ

 

ก้าวที่สำคัญต่อมาก็คือ ในปี 2018 มีรายการประกวด เพลงแรป เกิดขึ้นบนโทรทัศน์เป็นครั้งแรก คือ รายการ The Rapper ของช่อง WorkPoint และ Show Me The Money ของช่อง True4U ทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงเพลงแรป เข้าใจวิธีการแรป การใส่ทำนอง..

และที่สำคัญที่สุด มีมุมมองต่อเพลงแรปที่ต่างไปจากเดิม

 

แต่เครดิตทั้งหมดนี้ จะยกให้แค่ Rap is Now, The Rapper หรือ Show me The Money อย่างเดียวก็คงไม่ถูก เพราะที่ผ่านมา Rapper ที่อยู่คู่วงการเพลงไทยก็มีมากมาย ตั้งแต่ ดาจิม โจอี้บอย ไทยเทเนี่ยม บุดด้าเบลส จนมาถึง กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ที่ร้องแรปให้แบรนด์มาอย่างโชกโชน

กอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่

 

จากเหตุผลข้างต้น ปี 2018 นี้ จึงเป็นปีที่เราจะเห็นแบรนด์ กล้าออกจากกรอบของตัวเองมากขึ้น ตั้งแต่

1.PPTV36 (มกราคม 2018)

ที่ต้องการโปรโมท รายการเกม ที่ผู้ใหญ่มักมองว่าไร้สาระ แต่ Esport คือหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ฉะนั้นมันต้องถูกเขียนด้วยคนรุ่นใหม่ ถึงจะถูก !! โดยนอกจาก กอลฟ์ ฟักกลิ้งฮีโร่ แล้ว ยังมีนิลโลหิต และ Maiyarap มาร่วมแรปอย่างเมามัน

 

2.Sizzler (เมษายน 2018)

Sizzler ใช้เพลงแรป ในการเล่าเรื่องสเต๊ก และสลัดในมุมมองใหม่ ประกอบกับใช้ดาราวัยรุ่น อย่าง ต่อ ธนภพ มาแรปตั้งแต่ต้นจนจบ ถึงแม้เพลงอาจจะร้องตามยากไปนิด แต่ก็ฟังแล้วสนุก ไม่เบื่อ และเข้าใจในสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะสื่อ

 

3.Honda (พฤษภาคม 2018)

ในปี 2016-2017 Honda รณรงค์ให้คนสวมหมวกกันน็อคผ่านแคมเปญ “สังคมหัวแข็ง” มาแล้ว ซึ่งก็ใช้กอล์ฟ ฟักกลิ้งเช่นกัน แต่ในปี 2018 Honda ก็เป็นอีกแบรนด์ที่กล้าฉีกแนว โดยการให้ Urboy TJ ทำเพลงให้ผ่าน แคมเปญ What Stops You? ซึ่งถึงแม้จะมีกลิ่นอายของ Pop ผสมเข้าไปด้วย แต่ก็ถือเป็นเพลงที่น่าสนใจ และส่งข้อความออกไปให้ผู้บริโภคได้ชัดเจน

 

4.Carabao (มิถุนายน 2018)

เดิม สโลแกนของคาราบาว คือ คาราบาวแดง ขวด !! แต่เมื่อ Carabao เริ่ม Go Inter และเปลี่ยนมาทำแบบกระป๋อง พวกเขาจึงต้อง ReBrand ใหม่ โดยเริ่มจากโฆษณาตัวนี้ ที่ให้ 2P Southside ทำเพลง “Don’t say can’t, Carabao CAN” ที่เจ๋งของแคมเปญนี้คือ เล่นกับคำว่า CAN ที่แปลว่า กระป๋อง และ ความสามารถนั่นเอง

 

แล้วแบรนด์จะ Rap ยังไงให้ถูก Rhyme ? 

1.Concept ต้องชัดเจน

เพลงแรป สามารถใส่ข้อความได้มากมายในเวลาวั้น ๆ ฉะนั้นถ้าแบรนด์วาง Concept ไม่ชัดเจน ก็จะกลายเป็นว่า เพลงแรปนั้นยาวเหยียดแต่จำไม่ได้ ลองดูตัวอย่างรองเท้านักเรียนแพน ที่ให้กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ทำเพลงให้ (อีกแล้ว)

เมื่อดูเสร็จ คุณก็จะพบว่า เออ เนื้อเพลงมันก็ดี แรปสนุกดี MV ก็ทำโอเคนะ แต่ข้อความ “Student Stand up” มันไม่ทรงพลัง และก็จบอยู่แค่เพลงนี้เท่านั้น..

 

2.อย่าขายของเกินไป

ตัวอย่างของ เช่น โฆษณาของ Smooth E ในปี 2015 ที่เลือกใช้ Jayda ศิลปินลูกครึ่งอเมริกันมาร้องเพลงแรป แบบยาวเหยียด ร่ายสรรพคุณของ Smooth E จนหมดเพลง และไม่ได้มีแก่นสารให้คนดูเลย คืออารมณ์ของคนดูจะมี 2 แบบ คือ 1.ชอบมากเลย พี่ Jayda 2.โฆษณาอะไรของ***

ลองนึกภาพง่าย ๆ ถ้าให้ 2P Southside แรปเกี่ยวกับเครื่องดื่มคาราบาวว่าดียังไง ส่งชิงโชคได้ที่ไหน เพลงที่ออกมาก็คงเชย และโดนด่าแน่ ๆ หรือ ถ้าให้ Urboy TJ แต่งเพลงเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้ารุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวปีนี้ ก็คงจะฟังดูเขิน ๆ ไม่เข้ากับตัวศิลปินอีกด้วย

 

สรุป ตอนนี้ผู้บริโภคเปิดรับกระแสเพลง Rap มาก ๆ แบรนด์เองก็ตามติด ๆ

ฉะนั้น หลังจากจบรายการ The Rapper และ Show Me The Money ซีซั่นแรก เราจะได้เห็น Rappers ที่โดดเด่น มีแฟนคลับมากขึ้น เพลงที่ทำคนสนับสนุนมากขึ้น อาจมีมินิคอนเสิร์ตเป็นของตัวเอง และ สุดท้ายก้าวขึ้นมาเป็น Rapper ที่มีพื้นที่เป็นของตัวเองไม่ต่างจากแนวเพลงอื่น ๆ

 


 

แถม 1 : ความแตกต่างระหว่าง Rap กับ Hip Hop?

Hip Hop นั้นคือ วัฒนธรรม เพลง การแต่งตัว และวิถีชีวิต

ในขณะที่ Rap คือ การร้อง/พูด เนื้อเพลงด้วยจังหวะที่รวดเร็ว และมีคำคล้องจอง (Rhyme) อยู่ในนั้น

ฉะนั้นถึงแม้ว่า การ Rap จะมีต้นกำเนิดมาจากเพลง Hip Hop แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่าตอนนี้ Rap นั้นเติบโตกว่า HipHop ไปเรียบร้อย เพราะมันสามารถอยู่ได้ในแทบทุกแนวดนตรี ถ้าดูจากในรายการ The Rapper ก็สามารถบอกได้ว่า แนวเพลง Pop Rock ลุกทุ่ง หรือ หมอลำ ก็สามารถใส่ท่อน Rap เข้าไปได้ ถ้าเรียบเรียงทำนองได้ดีพอ..

แถม 2 : เพลงแรป ของ พระจอมเกล้าธนบุรี ที่จะบอกว่ามหาลัยของตัวเองนั้นมีดียังไง

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online