“เราไม่ปล่อยให้ชีวิตผู้ป่วยขึ้นอยู่กับดวง” ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ นายแพทย์สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมองพญาไท โรงพยาบาลพญาไท 1

ที่ Marketeer Online หยิบยกเรื่องนี้มาเล่าก็เพราะ รายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองราว 15 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉลี่ยทุกๆ 6 วินาที จะมีคนตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างน้อย 1 คน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2563 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ในขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทยยังไม่มีการรายงานที่แน่ชัด แต่ในแถบเอเชีย อาทิ จีน มาเลเซีย จะมีผู้ป่วยราว 250 คน ใน 100,000 คน ถ้าคิดเป็นจำนวนคนไทย จะมีคนเป็นโรคนี้แต่ละปีมีประมาณ 170,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 450 คนในแต่ต่อวัน หรือทุกๆ 3-4 นาที จะมีคนเป็นโรคนี้ 1 คน

Marketeer Online จึงเดินทางมาพูดคุยกับ นายแพทย์สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมองพญาไท โรงพยาบาลพญาไท 1 ผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมองของไทย ถึงเบื้องลึกของในทุกมิติของโรคนี้

นายแพทย์สุรัตน์ บุญญะการกุล ผู้อำนวยการศูนย์โรคหลอดเลือดสมองพญาไท โรงพยาบาลพญาไท 1

คุณหมอสุรัตน์เล่าว่า ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke ก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นชีวิต หรือเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ ด้วยกลไกของการเกิดโรคทำให้แบ่งได้ 2 ชนิด คือ ‘สมองขาดเลือดไปเลี้ยง’ ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดในสมองตีบหรือมีการอุดตัน และ ‘เลือดออกในสมอง’ ซึ่งเกิดจากเลือดคลั่งในสมอง หรือหลอดเลือดในสมองแตก

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ หลักๆ แล้วมีอยู่ 5 อย่าง คือ

1.อายุ ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงการเกิดโรคมากขึ้น

2.ความดันโลหิตสูง ยิ่งสูง ยิ่งเป็นนาน ยิ่งมีความเสี่ยง ซึ่งถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูงเสี่ยงทั้งหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดในสมองแตก

3.การสูบบุหรี่ ที่ทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน

4.โรคเบาหวาน เนื่องจากโรคนี้ทำให้หลอดเลือดเสื่อมก่อนวัย เสี่ยงที่จะเกิดหลอดเลือดอุดตัน

5.หัวใจเต้นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) คือหัวเต้นไม่เป็นจังหวะ หัวใจบีบตัวไม่เต็มที่ทำให้เลือดค้างที่หัวใจและกลายเป็นก้อน มีโอกาสหลุดไปติดที่หลอดเลือดสมองได้

เมื่อเรารู้ปัจจัยเสี่ยงแล้วก็ต้องรู้จักควบคุมป้องกัน คล้ายกับอุบัติเหตุรถยนต์ คือถ้าบอกว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุคือ ดื่มแอลกอฮอล์ ประมาท ขับรถไม่ถูกกฎจราจร เราก็ควบคุมไม่ให้เกิดปัจจัยเหล่านี้ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้อยู่ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองก็เช่นกัน เพราะมีสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้คือ อายุที่มากขึ้น ดังนั้น เราต้องควบคุมปัจจัยอื่นๆ ให้ดี

สำหรับอาการให้จำง่ายๆ คือ FAST

F Face: คืออาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยว

A Arm: แขนและขา ชา อ่อนแรง เดินเซ

S Speak: พูดไม่ชัด ไม่เป็นภาษา คือ อยู่ดีๆ พูดอ้อแอ้ พูดไม่ชัด หรือไม่พูดเลย

T Time: อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในทันที คืออยู่ปกติดีๆ ขาก็ไม่มีแรงล้มไปเลย หรือพูดๆ อยู่ เกิดไม่พูดหรือพูดไม่ชัดทันที เหมือนปิดสวิตช์ไฟ

“หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ หรือมีอาการเหมือนข้างต้น วิธีปฐมพยาบาลที่ดีที่สุดคือ ให้ผู้ป่วยนอนราบเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้นเท่านั้น และเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาล “ให้เร็วที่สุด” วิธีการต่างๆ ตามอินเทอร์เน็ตที่บอกให้เจาะนู้นนี่ หรือให้กดจุด เหล่านี้นอกจากจะไม่ส่งผลแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียด้วยซ้ำ”

 

การรักษา

ขั้นตอนการรักษาทั่วไปคือ ตรวจเลือดและตรวจเอกซเรย์สมองเพื่อดูว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใด โดยทั่วไปจะใช้เครื่อง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ CT scan แต่ถ้าให้ได้ผลชัดเจนขึ้นต้องใช้เครื่อง MRI จากนั้นก็รักษาตามขั้นตอนมาตรฐาน เช่น หากพบว่าอยู่ในภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน ต้องได้ฉีดยาละลายลิ่มเลือดให้เร็วที่สุด เพื่อให้เลือดกลับมาเลี้ยงสมองให้ทันเวลา ซึ่งต้องทำภายใน 4 ชั่วโมงครึ่งหลังมีอาการ เพราะหากนานกว่านี้เนื้อสมองจะตายและหลอดเลือดพัง หากฉีดยาละลายลิ่มเลือดจนเลือดกลับมาไหลเวียน หลอดเลือดสมองบริเวณที่สมองตายอาจแตกและทำให้เลือดออกในสมองได้

อ่านมาถึงตรงนี้พอจะสรุปได้ว่า หากมีญาติหรือพบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ สิ่งสำคัญคือ “เวลา” ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้มีโอกาสกลับมาเป็นปกติมากที่สุด

 

เราไม่ปล่อยให้ชีวิตผู้ป่วยขึ้นอยู่กับดวง

เมื่อถึงมือหมอแล้ว คนส่วนใหญ่มักบอกว่าขึ้นอยู่กับดวง แต่ที่ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลพญาไท 1 ไม่ปล่อยให้คิดแบบนั้น

“เรามีหน่วยรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่ (Mobile CT & Stroke Treatment Unit ) หรือรถพยาบาลนวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคันแรกของเอเชีย และเป็นคันที่ 5 ของโลก ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ทันท่วงที”

ภายในรถพยาบาลของหน่วยรักษาอัมพาตเฉียบพลัน นี้ เปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์หลักๆ คือ เครื่อง CT scan, เครื่องมือตรวจเลือด ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง และอุปกรณ์สื่อสาร

“ผมออกแบบและจัดสรรพื้นที่ใช้สอยรถคันนี้เอง เพื่อให้ได้รถขนาดเล็กที่สุด แคบและสั้นที่สุด เพื่อที่จะเดินทางในตรอกซอยต่างๆ ในกทม.ได้ โดยที่มีอุปกรณ์จำเป็นครบทุกอย่าง ในนี้จุได้ทั้งหมด 8 ที่นั่ง รวมคนไข้และญาติ 1 คน”

“ที่เราใช้เครื่อง CT scan เพราะไม่สามารถนำเครื่อง MRI ใส่ในรถได้ อย่างที่บอกผู้ป่วยต้องได้รับการเอกซเรย์สมองก่อนว่ามีเลือดออกหรือมีเลือดอุดตัน ส่วนเครื่องมือตรวจเลือด เพื่อที่ก่อนที่จะฉีดยาต้องตรวจดูว่าเลือดแข็งตัวหรือไม่ หรือค่าไตเป็นอย่างไร สำหรับเครื่องสื่อสารก็มีไว้สื่อสารและส่งผลตรวจต่างๆ กลับมายังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยและตัดสินใจ เช่น หากมีก้อนเลือดอุดตันก็สามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดในรถได้เลยทันที ร่วมถึงการอัพเดตอาการ เพื่อเตรียมแนวทางการรักษาให้เร็วที่สุด”

โดยหากมีอาการ F-A-S-T ดังที่กล่าวข้างต้น สามารถเรียกใช้บริการ หน่วยรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่ (Mobile CT & Stoke Treatment Unit) โรงพยาบาลพญาไท 1 โดยโทร 1772 กด 7 ได้ในอัตราค่าบริการเหมือนรถพยาบาลทั่วไป

 

เมื่อถามว่า รพ.พญาไท 1 ให้ความสำคัญกับโรคหลอดเลือดในสมองแค่ไหน? คุณหมอให้คำตอบว่า

“ให้ดูที่กระบวนการรักษา โดยทั่วไปตามมาตรฐานเมื่อคนป่วยมาถึงโรงพยาบาลจะได้รับการฉีดยาละลายลิ่มเลือดภายใน 60 นาที แต่ที่นี่ต้องภายใน 30 นาที และเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ชัดเจนที่สุดเราใช้ MRI ในการตรวจ ในกรณีที่คนไข้มาช้ากว่า 4 ชม. หรือไม่รู้เวลาเกิดอาการที่แน่นอน รวมถึงการที่เรามีเครื่องไบ-เพลน ดีเอสเอ เครื่องเอกซเรย์ 2 ระนาบทำให้สามารถวินิจฉัย และรักษาโรคของหลอดเลือดในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราใช้วิธีการรักษาแบบ “ลากก้อนเลือด” ซึ่งใช้วิธีนี้มานานกว่า 8 ปี ในขณะที่รพ.อื่นๆ เพิ่งเริ่มได้ไม่กี่ปี เรามี Stroke Unit หน่วยดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสองเฉียบพลันโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแรกของเอกชนที่มีหน่วยนี้ จะคล้ายกับ ICU แต่ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยเฉพาะ เพื่อให้พยาบาลผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด

“เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมดูแล 24 ชม. ไม่ว่าคุณมาเวลาไหนก็แล้วแต่จะได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานเหมือนกัน เราไม่ปล่อยให้ชีวิตผู้ป่วยขึ้นอยู่กับดวง”

ในขณะที่บางคนที่บางคนเป็นโรคหลอดเลือดสมองแต่ไม่แสดงอาการ กล่าวคือมีก้อนเลือดอุดตันแต่อยู่ในจุดที่ไม่อันตราย ที่รพ.พญาไท 1 ก็มีโปรแกรมตรวจสมองก่อนเป็นอัมพาต โดยใช้หลักการตรวจหาปัจจัยเสี่ยง ทั้งการตรวจพื้นฐานอย่าง ตรวจเลือด ตรวจความดัน เบาหวาน ไขมัน ตรวจคลื่นหัวใจเพื่อดูว่าหัวใจเต้นพลิ้วหรือไม่ และรวมถึงการตรวจ MRI

ถ้าเกิดคุณมีปัจจัยเสี่ยง อายุเยอะ และไม่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองเลย ก็ลองมาตรวจดูว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือมีโอกาสเป็นหรือเปล่า เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าหลอดเลือดของเราแข็งแรงดีไหม ถ้าไม่ตรวจดู ยกตัวอย่างตึกๆ หนึ่งอายุ 10 กว่าปี คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าภายในท่อน้ำของตึกนี้มีสนิมจับ ในเมื่อน้ำยังไหลปกติ ร่างกายก็เช่นกัน เราถึงต้องใช้เครื่อง MRI ตรวจดูว่าเส้นเลือดภายในของเรามันตีบหรือยัง มีไขมันอุดตันไหม เพื่อที่จะป้องกันรักษาได้ทัน

คนไข้ที่เป็นโรคนี้ สมองจะซ่อมแซมตัวเอง บางคนเสียหายไม่มากก็สามารถซ่อมแซมจนกลับไปเดินได้ บางคนสมองเสียหายเยอะก็จะเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต คนที่เคยป่วยแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ยังต้องป้องกันต่อไป เพราะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก” คุณหมอสุรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

การป้องกันไม่ให้เกิดโรคคือแนวทางที่ดีที่สุด แต่หากเกิดเหตุไม่คาดคิด “เวลา” เป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่การเลือกโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยี และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อม คือการเพิ่ม “โอกาส” เรียกคืนชีวิตให้กลับมาเป็นปกติเช่นกัน

 

 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online