ปัจจุบันประเทศไทยได้เดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ด้วยนโยบาย Thailand 4.0 ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเดินหน้านำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้งานมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่งาน “หัตถกรรมไทย” ที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในหลายด้าน

SACICT สร้างหัตถกรรมไทย ให้รู้จักในวงกว้าง

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICTกล่าวว่า “ในปี 2561 นี้ SACICTได้ดำเนินงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเชื่อมโยงให้แก่กลุ่มเครือข่ายและพันธมิตร เพื่อต่อยอดให้งานหัตถกรรมไทย ได้รับการรู้จักและนิยมในวงกว้าง โดยจะมีแนวทางดังนี้”

  • จัดทำสำมะโนสมาชิกผู้ผลิตหัตถกรรมจักสาน
  • Craft Knowledge Exchange Program จัด Workshop ในประเทศ โดยมีครูช่างจากต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้เชิงทักษะ และสร้างสรรค์ เช่น ครูจากญี่ปุ่น เป็นต้น
  • Cross Cultural Crafts สร้างสรรค์และพัฒนาชิ้นงานรูปแบบใหม่ๆ โดยให้ครูช่างและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เดินทางไปศึกษาดูงานหัตถกรรมของต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์
  • Co-Creation เชื่อมโยงให้ไปถึงชุมชน ผู้ประกอบการในธุรกิจระดับประเทศ และระดับโลก

นอกจากนี้ทาง SACICTได้เริ่มพูดคุยกับทาง King Power และ Modern Trade ต่างๆ ในการนำสินค้าหัตถกรรมของสมาชิก SACICTไปวางขาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแก่ผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงจะขยายการจัดงานแสดงสินค้าหัตถกรรมไทยไปตามภูมิภาคต่างๆ ให้มากขึ้นอีกด้วย

ช่องทางออนไลน์เพื่อการเข้าถึงที่มากกว่า

สำหรับในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคแห่ง “ดิจิทัล” สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการขายสินค้าต่างๆ คือ ช่องทางออนไลน์ ดังนั้น SACICTจึงได้เดินหน้าพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้เข้าถึงสินค้าหัตถกรรมไทยได้ง่ายขึ้น

“ปัจจุบัน SACICTได้มีเว็บไซต์เพื่อนำเสนอข้อมูลและประชาสัมพันธ์เพียงเท่านั้น แต่ในปลายปี 2561 หรือประมาณเดือน พฤศจิกายน 2561 นี้เราจะเพิ่มช่องทางการขายสินค้าหัตถกรรมเข้าไปด้วยการนำสินค้าของสมาชิกเข้ามาขายผ่านหน้าเว็บไซต์ของSACICT” อัมพวัน พิชาลัย กล่าว

SACICT จะนำสินค้าหัตถกรรมต่างๆ จำนวน 3,000 ชนิด จาก 300 ชุมชนที่เป็นสมาชิกเข้ามาขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะมีการหมุนเวียนชนิดสินค้ากันตามเทรนด์ของตลาด เช่น กระเป๋า, ผ้าทอ, งานแกะสลัก เป็นต้น โดยบางงานเช่นงานไม้แกะสลักหรืองานที่มีความยากในการทำจะเปิดให้สั่งเป็น Make to Order

ด้านช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงช่องทางออนไลน์ของ SACICT จะทำในรูปแบบ Pop Up ผ่านเว็บไซต์พันธมิตรต่างๆ และจะมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Facebook ของSACICT

สำหรับการทำตลาดระหว่างประเทศ ปัจจุบัน SACICTมีหน้าร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไทยอยู่ในประเทศไต้หวัน โดยมีแผนจะขยายหน้าร้านเพิ่มไปสู่ประเทศเกาหลี, ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่มีความชอบในงานหัตถกรรมของไทย

จะเห็นได้ว่า SACICTมีความพร้อมและความมุ่งมั่นในการดำเนินงานพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างช่างหัตถศิลป์ของไทย กับช่างหัตถศิลป์ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ร่วมกันพัฒนาต้นแบบงานหัตถศิลป์ใหม่ๆ และช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ผลิตไทยสามารถแข่งขันได้ในอนาคต


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online