หลังจากขายสารพัดธุรกิจที่คิดว่าไม่มี “อนาคต” เพื่อนำเงินมาระดมทุนในธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” ก็ดูจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ Grammy มีลมหายใจบนหน้าจอทีวี ทำให้ต้องเติมถัง “ออกซิเจน” ด้วยการ “ขายหุ้น” ทั้ง 2 ช่องเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ช่อง ONE ถูก “กลุ่มปราสาททองโอสถ” เจ้าของ PPTV ชอปปิ้งด้วยเงิน 1,900 ล้านบาท จนได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด ส่วน GMM 25 ทายาทเบียร์ช้างอย่าง “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ควักเงิน 1,000 ล้านบาท จนได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ถึง Grammy จะมีการระดมทุนหนักหน่วง แต่สถานการณ์ในการทำธุรกิจทีวี ก็ยังไม่พบเจอกับคำว่า “กำไร”

 

Grammy ปลี่ยนเกม…แต่ก็ยังขาดทุน 

ขณะที่ข้อมูลล่าสุดภาพรวมธุรกิจทั้งหมดของ Grammy ไตรมาสแรกปี 2018 ยังขาดทุน 38 ล้านบาท และแน่นอนธุรกิจที่ก่อให้เกิดการขาดทุนครั้งนี้ก็ยังคงเป็น “ทีวีดิจิทัล”

แม้ก่อนหน้านี้ในปี 2017 ที่ผ่านมา Grammy จะประกาศว่าจะหันมาเป็นผู้ผลิตรายการหรือที่เรียกว่า content provider ป้อนให้ทีวีช่องอื่นๆ และทางออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นใน Line TV และ Youtube แม้จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม แต่บวกลบแล้วผลลัพธ์ทางธุรกิจกลับขาดทุนหนักกว่าเดิมเสียอีก

สะท้อนจากตัวเลขรายได้ปี 2017 Grammy มีรายได้จาก 2 ช่องทีวีดิจิทัลคือ 1,421 ล้านบาทเติบโตถึง 25% แต่เชื่อไหมว่ากลับขาดทุนถึง 1,136 ล้านบาท มากกว่าปี 2016 ที่ขาดทุนอยู่ 885 ล้านบาท

นั่นแปลว่าวิธีการหารายได้ช่องทางใหม่อย่างการเป็น Content Provider ในภาพรวมของธุรกิจ Grammy ยังไม่มากพอที่จะมาทดแทนเม็ดเงินโฆษณาที่เข้ามาน้อยลง

ช่อง ONE ละครที่ต้องแข่งดุ

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บอกว่าช่อง ONE มีเรตติ้งเติบโตต่อเนื่องกลายเป็น 1 ใน 5 ช่องทีวีที่ได้รับความนิยมสูงสุด ณ ปัจจุบัน มียอดคนดูเฉลี่ย 4.3 ล้านคนต่อนาที 

“จุดขาย” ช่อง ONE คือเลือกใช้ “ละคร” ที่เป็น Content อันดับ 1 ที่ผู้ชมชื่นชอบ แต่นี่ก็คือ Content ที่มีต้นทุนในการผลิตสูงเป็นอันดับ 1 เช่นกัน ที่สำคัญช่อง 7 และ ช่อง 3 เองก็มีฐานแฟนคลับละครหลังข่าวที่เหนียวแน่น

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พฤติกรรมผู้ชมเองก็มีทางเลือกการรับชม Content มากขึ้นกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช่องทีวีดิจิทัลที่มีถึง 24 ช่อง และสุดท้ายคือในออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นในคลิปใน Youtube และใน Facebook

เมื่อเรตติ้งถูกแชร์ไปในหลายๆ ช่องทางอื่นๆ กลุ่มทีวีดิจิทัลจึงต้อง “ลด แลก แจก แถม” ในการขายโฆษณา ช่อง One เองก็เช่นกัน ที่ในปีที่แล้วก็มีการทำโปรโมชันลดราคาเวลาโฆษณา 30-40 % และในปี 2018 ก็เช่นกันที่ยังมีการลดราคาโฆษณาแต่ยังไม่มีข้อมูลระบุชัดเจนว่าลดจำนวนเท่าไร

GMM 25 เปลี่ยนตั้งแต่ผู้บริหารยันวิธีคิด

ในขณะที่อีกหนึ่งช่องของ Grammyอย่าง GMM 25 ที่มีฐานกลุ่มผู้ชมอายุ 15-34 ปี เป็นคนรุ่นใหม่คนทันสมัย หรืออาจจะเป็นคนที่อายุมากกว่า 34 ปี แต่ยังชอบชมรายการวัยรุ่น ไลฟ์สไตล์

แต่นับตั้งแต่ทายาทเบียร์ช้างอย่าง “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน GMM 25 ก็มีการปรับโครงสร้างมากมาย และมีการโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหารภายใน

เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจ เป้าหมายคือต้องการให้ช่อง GMM 25 ขยายฐานผู้ชมให้ Mass มากขึ้นกว่าเดิม

เพราะ “จุดอ่อน” ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารรุ่นเก่า คือที่ผ่านมาไม่สามารถมีตัวเลขเรตติ้งสูงๆ เพื่อนำไปสร้างรายได้ให้แก่บริษัท

ก้าวแรกในการแก้ไขคือการใช้ “จุดแข็ง” ของตัวเองที่มีช่องทางหลากหลาย ผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า “Expand” นำเสนอ Content ผ่าน 3 ช่องทางคือ

On Air ทีวีช่อง GMM 25 และคลื่นวิทยุ Green Wave, EFM และวิทยุออนไลน์ Chill Online

Online ที่มีทั้ง GMM25 Application, A time Online Application

On Ground ที่มีทั้งจัดคอนเสิร์ต บริษัททัวร์ A time Traveler

ทำให้วิธีการขายโฆษณาหารายได้นั้น GMM 25 จะขายเป็นแพ็คเกจ เพื่อเสนอความคุ้มค่าให้แก่แบรนด์สินค้าและเอเจนซี่ที่ซื้อโฆษณามากกว่าขายนาทีโฆษณาทีวีอย่างเดียว

เพราะนี้คือทางออกของ GMM 25 ที่มีเรตติ้งอยู่ที่อันดับ 14-15 ของสนามทีวีดิจิทัล และต้องยอมรับว่าเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวี ณ วันนี้ไปกระจุกตัวรวมกันอยู่แค่ในกลุ่ม Top 5 ที่มีเรตติ้งสูงสุด

 นอกนั้นช่องอื่นๆ ที่เหลือการจะได้รายได้จากการขายโฆษณาต้องลุ้นกันเหนื่อยเลยทีเดียว ทำให้ GMM 25 ต้องหาวิธีเสิร์ฟความคุ้มค่าเพื่อให้แบรนด์สินค้าซื้อโฆษณาช่องตัวเอง

ถึงอย่างไรเรื่องการทำธุรกิจทีวีให้กำไรก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ในอนาคตจะต้องทำให้ GMM 25 เข้าไปถึงกลุ่มเป้าหมาย Mass ทุกเพศ ทุกวัย

เพราะนี่คือช่องที่ผู้ถือหุ้นใหญ่คือทายาท บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มีแบรนด์สินค้าอยู่ในมือมากมาย และยังมีธุรกิจอสังหาทรัพย์อีกเยอะ

แล้ว GMM 25 ที่มีสื่อครบครันอยู่ในมือ จึงถือเป็นอาวุธการตลาดอีกชิ้นของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่จะใช้สื่อสารสินค้าของตัวเองไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ

การใช้เงิน 1,000 ล้านบาทเพื่อแลกกับการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีอำนาจในการตัดสินใจใน GMM 25

หากมองในระยะยาวไม่ว่าจะเหลี่ยมไหน ก็คุ้มค่าต่อการลงทุน 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online