สตาร์ทอัพหลายคนเริ่มต้นธุรกิจจากPain Point ส่วนตัว“อีเวนท์ บานาน่า”(Event Banana ) ก็เหมือนกัน

“ตอนนั้นแนนกำลังหาที่จะแต่งงาน เราก็แบบเอ๊ะเขาแต่งที่ไหนกันบ้าง เริ่มต้นเราก็ถามเพื่อน  ก็จะได้ชื่อสถานที่มากลุ่มหนึ่งซึ่งชื่อจะซ้ำๆกัน ประมาณว่ากลุ่มเพื่อนๆเราเขาแต่งกันที่นี่นะ   พอมีที่ที่เราอยากได้ก็โทรไปติดต่อถามราคาแพ็กเกจ  ได้มาก็จดๆไว้  แล้วค่อยมานั่งสรุปข้อมูลกันเอง สร้างเป็นเอ็กเซล เปรียบเทียบราคาแต่ละแห่ง เลยรู้สึกว่าทำไมยากจังเลย”

“ณัฐนิช ทองไกรแสน” (แนน) ซีอีโอและ ผู้ร่วมก่อตั้ง อีเวนท์ บานาน่า เริ่มต้นเล่าถึงเหตุผลหนึ่งของการตัดสินใจมาทำ อีเวนท์ บานาน่า แพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือนเป็น กูเกิล สำหรับผู้ที่ต้องการ “ค้นหาสถานที่จัดงาน”

อีเวนท์ บานาน่า เป็น 1 ใน 11ทีมของ ดีแทค แอคเซอเลอเรท ทีมที่ได้รับการคัดเลือกร่วมโครงการปีที่ 6 จากงาน Pitch Day จากทีมที่เข้ารอบทั้งหมด 25 ทีม

จะหาสถานที่จัดงานแต่ละที ยุ่งยากมาก

สิ่งที่เธอรู้สึกแปลกใจในวันนั้น คือมีเว็บจองห้องพัก  จองตั๋วเครื่องบิน  ขายรถมือสอง  แต่ทำไมไม่มีเครื่องมือหรือเว็บที่มาช่วยค้นหาสถานที่จัดงานเพื่อสามารถดูรูปสถานที่ในเบื้องต้นและเปรียบเทียบราคาได้ เพื่อให้คนสามารถได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดตามที่เขาต้องการ

แต่เหตุผลเพียงแค่นี้ คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องยอมทิ้งงานประจำในบริษัทที่ปรึกษาใหญ่ข้ามชาติ

“ก่อนหน้านั้นงานของแนนต้องเดินทางเยอะมากเพราะมีโปรเจ็คในประเทศต่างๆที่ต้องบินไปดูแลเช่นในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่ององ  ชีวิตก็ต้องเดินทางตลอด บางช่วงอาจจะต้องบินทุกอาทิตย์  และมีช่วงหนึ่งที่กำลังจะแต่งงาน ก็เลยคุยกันว่าออกมาหาอะไรทำกันเองดีกว่า”

แฟนของแนนคือ พิสิฐ เยาวพงศ์ศิริ” (เอ็ดดี้) ที่ทำงานด้าน IT ที่อเมริกาอยู่พักหนึ่งก่อนที่จะเดินทางกลับมาไทย แต่ยังรับทำงานให้กับบริษัทในอเมริกา

“ด้วยความที่ว่าแฟนมีความรู้ด้านIT และแนนก็ทำเกี่ยวกับด้านที่ปรึกษาให้บริษัทต่างๆ ก็เลยคิดว่าเราทำเทคสตาร์ทอัพดีกว่า เพราะเป็นอะไรที่กำลังบูมแล้วก็ไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไรที่เยอะมาก”

แต่จะเป็นธุรกิจอะไรดี เพราะความคิดนี้เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งกระแสสตาร์ทอัพบ้านเรากำลังมาแรง  มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นหลายธุรกิจที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ก็มีคนเข้าไปจับจองทำไปเกือบหมดแล้ว

ในระหว่างมองหาธุรกิจของตัวเอง เธอยังไม่ได้ลาออกจากบริษัทเดิมแต่โชคดีที่ว่าเป็นบริษัทที่อนุญาตให้พนักงานที่ต้องการหาอะไรใหม่ๆในชีวิตลาออกไปทำได้ โดยไม่ได้รับเงินเดือน แต่ยังคงสถานะเป็นพนักงานไว้ในระยะเวลา 6 เดือน และสามารถต่อได้อีก 6 เดือน ถ้าไม่โอเคก็กลับมา

หนึ่งในแอเรียที่อยากทำในตอนนั้นคือ Food Delivery เหมือนที่ไลน์แมนทำในปัจจุบัน เพราะเมืองไทยมีร้านดังๆเยอะแต่หลายร้านไม่ได้อยู่ในโลเคชั่นที่เข้าไปได้ง่ายๆ

“ตอนนั้นไลน์แมนก็ยังไม่มี ก็ชั่งใจอยู่ว่าเราจะทำดีไหม คือบางทีรู้สึกว่าน่าสนใจมากๆแต่ว่าด้วยศักยภาพหรือเงินทุนของเราในตอนนั้นก็คิดว่าถ้าไม่มีแบ็คที่แข็งจริงๆ ไม่มีนายทุนใหญ่ๆมาซัพพอร์ต ถ้าทำไปแล้ว มีรายใหญ่กว่ามาทำแข่งเราก็ไปไม่รอดอยู่ดี  ก็เลยมาคิดทำอะไรที่อาจจะไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น แต่ว่ามีตลาดมีที่ต้องการแล้วพยายามโตในรูปแบบของเรา”

ในที่สุดมาลงตัวกับ อีเว้นท์ บานาน่า

เธอบอกว่าก่อนที่จะเริ่มทำโปรเจ็คนี้  มีการทำข้อมูลแบบสอบถาม คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดงานต่างๆ และพบคำตอบว่า ส่วนใหญ่ยังใช้วิธิค้นหาแบบเดิมหรือใช้สถานที่ที่มีฝ่ายขายของแต่ละโรงแรม หรือสถานที่ที่ได้เคยมาติดต่อไว้ โดยไม่รู้ว่ามีทางเลือกที่มากกว่า มีความเหมาะสมกว่าอีกมากมาย

ในขณะเดียวกันจากการสอบถามไปยังเจ้าของเจ้าของสถานที่ด้วย ก็พบว่างยังมีห้องต่างๆที่ยังไม่ใช้งานในแต่ละเดือนอยู่เป็นจำนวนมาก

รวมทั้งมีการศึกษามูลค่ารวมตลาดของการจัดงานประชุม งานอีเวนท์  และMice ในปี 2015 ซึ่งพบว่ามีประมาณ 5,000 USD เป็นของตลาดในประเทศประมาณ 30% เป็นของตลาดต่างประเทศที่เข้ามาประมาณ 70%  ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีมากเพราะประเทศไทยเองเป็นทอป 3 ของโลเคชั่นในการจัดงานของเอเชียอยู่แล้ว แต่ในเบื้องต้น อีเวนท์ บานาน่าจะโฟกัสตลาดในประเทศเป็นหลัก

พร้อมๆกับทำการศึกษาแพลตฟอร์มธุรกิจแบบเดียวกันที่มีในยุโรปและอเมริกา รวมไปถึงในประเทศญี่ปุ่นเพื่อเอามาเปรียบเทียบปรับแต่งแก้ไขให้เหมาะกับบ้านเรา

 

อีเว้นท์ บานาน่า  เริ่มต้นจากการสร้างฐานข้อมูล มีการทำรีเสิร์ชของสถานที่ๆน่าสนใจ     แล้วใช้โมเดลให้เจ้าของสถานที่มาสร้างโปรไฟล์ในเว็บไซต์ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย  แต่ถ้าสนใจอยากจะโปโมทตัวเองเพิ่มขึ้น ลงเนื้อหาและมีรูปเพิ่มขึ้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเหมือนกัน

ในเรื่องรายได้เริ่มแรกเรามองว่าเป็นค่าคอมมิชชั่นจากฝั่งซัพพลายแต่สุดท้ายมันก็ไม่เวิร์คต่างกับโมเดลของต่างประเทศถ้าเป็นแพลตฟอร์มแบบเราส่วนใหญ่จะเป็นค่าคอมมิชชั่น แต่พฤติกรรมคนไทยไม่จองสถานที่ออนไลน์ บางทีเขาดูจากเว็บเราแต่ก็ไปติดต่อกับทางโรงแรมโดยตรง”

อย่างไรก็ตามประมาณกลางปีที่ผ่านมา มีดีลแบบคิดคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้นด้วยเฉพาะกับสถานที่ๆต้องการให้ อีเว้นท์ บานาน่า เป็นเซลล์เอเยนต์ให้

ปัจจุบันอีเวนท์ บานาน่ามีสถานที่จัดงานให้ลูกค้าได้เลือกมากถึง 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ  ลูกค้าที่เข้ามาในเว็บสามารถพิมพ์บนเสิร์ชบาร์ได้ว่า ต้องการสถานที่แบบใด อยู่ในทำเลไหน ประเภทของงานเป็นอย่างไร  และอยู่ภายในงบประมาณเท่าไหร่

มากที่สุดจะเป็นกลุ่มโรงแรมประมานครึ่งหนึ่ง อันดับ 2 จะเป็น Co working Space กับร้านอาหารและยังมีอีกกลุ่ม ที่เรียกว่า Unique Space  เช่นสปอร์ตคลับ  Art Gallery   ห้องสมุด หรือสตูดิโอถ่ายภาพ   ความหลากหลายที่เกิดขึ้นจะช่วยให้คนได้เจอสถานที่ที่ตรงใจ และตรงกับงบประมาณที่มีได้มากขึ้น

ทั้งคู่มาจากองค์กรใหญ่ ที่มีความพร้อมมีการทำงานที่เป็นระบบ แต่เมื่อต้องมาเริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเองทุกอย่างไม่ได้ง่าย ต้องอาศัยการเรียนรู้ ลองผิด ลองถูก บางครั้งยอมมั่ว และที่สำคัญต้องมีความชอบ (Passion)ที่จะทำ

สร้าง Big data เพื่อต่อยอดธุรกิจ

เธอยอมรับว่าตอนนี้อีเว้นท์ บานาน่า ยังมีคนเข้ามาใช้งานไม่เยอะ ต้องการตัวเลขที่สูงกว่านี้ อีกตัวเลขหนึ่งคือการโตขึ้นของยอดหรือมูลค่างานที่มีคนขอผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งตรงนี้ตัวเลขยิ่งสูงจะกลายเป็น  big data  ที่ทำให้รู้ถึงความต้องการ ของลูกค้าในเรื่องต่างๆ และสามารถเอาไปต่อยอดทำอะไรได้อีกหลายๆอย่างๆ  เป็นวันสต็อบเซอร์วิส ที่เริ่มจากสถานที่ก่อน จากนั้นจะมีเรื่องเซอร์วิสอื่นๆ ตามมาเช่นอาหาร การแสดง วงดนตรี  กลายเป็นออแกไนซ์เซอร์ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

จากข้อมูลที่มีอยู่ อีเว้นท์ บานาน่า ยังสามารถรวบรวมนำมาเขียนบทความประกอบการตัดสินใจไว้อย่างน่าสนใจ เช่น  รวม 8 ที่จัดงานแต่งสุดเก๋ ไม่ต้องง้อโรงแรมก็แต่งได้,รวม Co-Working สำหรับ Hard Worker, รวมฮิตที่จัดงานกลางแจ้ง

“คอนเทนต์แบบ 5 สถานที่จัดปาร์ตี้บายเนียร์ก่อนจบแบบกระเป๋าไม่ฉีก เป็นเรื่องที่ปีที่ผ่านมานักศึกษาก็แชร์กันเยอะมาก”

สำหรับการทำการตลาด จะทำแบบออนไลน์มากกว่ามีการทำ Google Ads ในส่วนของคอนเทนต์ และพยายามสร้าง SEO ให้มันมีตำแหน่งที่ดีในออร์แกนิกเสิร์ช

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือไม่อยากให้คนเข้าใจว่าอีเว้นท์ บานาน่า เอาไว้ดูอย่างเดียว ดูเสร็จโทรไปหาสถานที่พวกนั้นเอง

“เราอาจจะยังไม่มี Communication Power ที่มีความน่าเชื่อถือที่เพียงพอ ก็พยายามบอกว่าขอราคาผ่านเราไม่แพงกว่าหรือบางครั้งเรามีดีลพิเศษจากบางสถานที่ด้วยซ้ำ”

วิถีของสตาร์ทอัพ ก็หนีไม่พ้นเรื่องการระดมทุน เพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดด  เพราะเธอเองก็ต้องการขยายสเกลให้มันใหญ่ขึ้น

“ถ้าเราโตเร็วกว่านี้โอกาสที่จะขยายไปยังประเทศต่างๆในแถบอาเซี่ยนก็ง่ายขึ้น  เพราะยังไม่พบว่ามีสตาร์ทอัพแบบนี้เกิดขึ้น หรือถ้ามีก็ยังไม่ใช่เจ้าใหญ่”

เธอกล่าวทิ้งท้ายว่าอนาคตของอีเว้นท์ บานาน่ามีแน่นอนแต่เธอและทีมงานต้องโฟกัส และพยายามให้มากขึ้นยอมแพ้ไม่ได้

 

 

อ่านคอนเทนต์การตลาด อ่าน MarketeerOnline.co

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 

 

 

 

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online