ขนส่งแบบ Door to Door คืออะไร

คือการขนส่งที่พนักงานไปรับสินค้าถึงมือเจ้าของแล้วจัดส่งถึงผู้รับ ซึ่งหากจำกัดแค่กฎเกณฑ์นี้จะมีหลายเจ้าให้เลือกใช้บริการทั้ง Grab, La La move, Kerry Express และอีกหลายๆ ราย

แต่ถ้าเพิ่มออปชั่นมาเป็น “สินค้าน้ำหนัก 20 กิโลอัพ ส่งด่วน” จะเหลือตัวเลือกน้อยลงในทันที เพราะนี่คือบริการที่เป็น Niche market

แต่ปัจจุบันกำลังค่อยๆ เป็น Niche ที่มีความต้องการสูงมากขึ้นเเรื่อยๆ

เพราะการขายสินค้า E-commerce ที่กำลังเติบโตต่อเนื่องทั้งผู้ขายที่เป็น SMEs และพ่อค้าธรรมดาทั่วไป ได้พัฒนาสเต็ปการขายจากสินค้าชิ้นเล็กๆ อัพเกรดไปสู่การขายสินค้าชิ้นใหญ่ราคาแพง ทั้งของเล่นขนาดใหญ่, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

แล้วใครคือแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลในตลาดนี้ คงไม่ใช่ ไปรษณีย์ไทย เพราะถึงจะมีบริการ LogisPost รับส่งของน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ถือเป็นบริการที่ดี และปลอดภัย แต่ก็มี “จุดอ่อน” คือไม่ตอบโจทย์ความสะดวกเพราะลูกค้าต้องไปรับของที่ทำการไปรษณีย์เอง

ขณะที่บริษัท Logistics รายอื่นๆ ก็เริ่มค่อยๆ ขยับมาสู่บริการนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่จดจำของผู้บริโภคมากนัก

เพราะฉะนั้นบริการส่งสินค้าขนาดใหญ่น้ำหนักเยอะที่รับสินค้าถึงต้นทาง-ส่งถึงปลายทาง และส่งเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเหลือแค่ 2 Logistics ที่ถูกลูกค้าเรียกใช้บริการประจำนั้นคือ Nim express กับ La la Move

ส่งของ 20 กิโล

Lala Move สนามกรุงเทพฯ ขอให้บอก

Lala Move ทำตลาดในเมืองไทยนาน 3 ปี มีบริการหลากหลายทั้งส่งอาหาร, รับฝากซื้อสินค้า, รวมไปถึงการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ย้ายบ้าน Lala Move ก็มีบริการพร้อมเสิร์ฟ

อีกทั้งยังมีรถให้เลือกใช้อย่างหลากหลายตั้งแต่รถ 5 ประตูจนไปถึงระกระบะขนาดใหญ่ ให้ลูกค้าได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมในการส่งของหรือขนย้ายสินค้าขนาดใหญ่ในแต่ละครั้ง 

ความแข็งแกร่งของ Lala Move นั้นคือการวางระบบธุรกิจที่ไม่แตกต่างจาก Grab หรือ Uber นั้นคือตัวเองเป็นคนวางระบบหลังบ้านทั้งหมดแล้วเปิดบริการผ่าน Application จากนั้นก็หาคนมาทำงานให้ นั่นคือคนขับรถที่มีรถเป็นของตัวเอง จากนั้นก็มาแบ่งรายได้กัน

Lala Move จึงเสมือนผู้จับเสือมือเปล่าโดยที่ตัวเองไม่ต้องลงทุนซื้อรถและจ้างคนขับรถ หน้าที่ของ Lala Move นอกจากสร้างระบบหลังบ้านให้สมบรูณ์แล้วนั้น ก็แค่สร้าง Branding ให้ลูกค้าใช้บริการ พร้อมกับหาวิธีตอบโจทย์ลูกค้าตัวเองให้มากที่สุด

ความยากเพียงอย่างเดียวคือต้องทำให้บรรดาคนขับรถกระบะและรถ 5 ประตู จำนวนประมาณ 1,700 คนที่เป็นพาร์ตเนอร์ (มอเตอร์ไซค์มากกว่า 10,000 ราย) เข้าใจในนโยบายในการบริการลูกค้าของตัวเอง แล้วเดินไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะ “จุดขาย” คือการขนย้ายสินค้าขนาดใหญ่ภายใน 1 ชั่วโมง (ในพื้นที่กรุงเทพฯ)

เพราะสนามการแข่งขันขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มีน้ำหนักมาก นอกจากเรื่องราคาและบริการของพนักงานแล้วนั้น Point ที่จะสร้างความประทับใจอีกอย่างนั้นคือ “ความรวดเร็ว” ในการขนส่ง เป็นเรื่องที่ทุกรายรู้ดี

และดูเหมือน 3 ปีที่ผ่านมา Lala Move จะทำได้ดีเกินคาดโดยในปี 2017 ที่ผ่านมามียอดดาวน์โหลด Application มากกว่า 200,000 ราย และเมื่อถึงสิ้นปี 2018 ตั้งเป้าไว้ที่ 300,000 รายเลยทีเดียว ทั้งหมดก็มาจากการสร้างแบรนด์ให้เติบโตในใจคนกรุงเทพอย่างรวดเร็ว

สิ่งเดียวที่เป็น “จุดอ่อน” ของ Lala Move ในวันนี้คือข้อกำจัดการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ของบริษัทตัวเองที่อยู่แค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และนั่นก็ทำให้ลูกค้าของตัวเองถูกตีกรอบแคบลงไปโดยอัตโนมัติ

แต่เชื่อได้เลยอีกไม่นาน Lala Move ก็ต้อง Move ไปสร้างโมเดลธุรกิจ Sharing Economy ด้วยการหาคนขับรถในพื้นที่ต่างจังหวัดโดยอาจจะเริ่มในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มี Demand รอให้ตัวเองไปกวาดรายได้

Nim express ผู้ทรงอิทธิพลในตลาดภูธร 

แต่สิ่งที่ทำให้ต้องกังวลใจแล้วลังเลในพื้นที่ต่างจังหวัดก็คือคู่แข่งอย่าง Nim express เพราะนี่คือบริษัทขนส่งสัญชาติไทยที่แข็งแกร่งในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้วอยู่ในตลาดมานานกว่า 40 ปี

จากบริษัทที่เริ่มต้นธุรกิจค้าผลไม้ในตลาดวโรรส และต่อมาได้รับจ้างขนส่งผลไม้จนอัพเลเวลมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่ขยายกิจการขนส่งสินค้าประเภทน้ำหนักเยอะครอบคลุมทั้วประเทศ

ที่น่าสนใจ Nim express สามารถขนส่งสินค้าน้ำหนักมากขนาดใหญ่แบบข้ามจังหวัดได้ ซึ่งยังไม่มีคู่แข่งในตลาดอย่างเป็นทางการ จะมีก็แต่คู่แข่งทางอ้อมที่เป็นบริษัทเล็กๆ หรือคนทั่วไปที่รับฟรีแลนซ์ในการขนสินค้าขนาดใหญ่

ทำไม Nim express ถึงทำได้ในขณะที่คู่แข่งยักษ์ใหญ่ต่างชาติทำไม่ได้?

เพราะตลอด 40 ปี Nim express สร้างศูนย์กระจายสินค้าครอบคลุมในจังหวัดใหญ่ๆ ในทุกภาคถึง 200 จุด และต้องการเพิ่มเป็น 400 จุดในอนาคตอันใกล้

และด้วยการทำธุรกิจมานานจากช่วงเริ่มต้นมีรถขนส่งในบริษัทไม่กี่คัน ก็เริ่มมีเจ้าของรถบรรทุกขนาดใหญ่มารับจ็อบหารายได้เสริม เพราะเชื่อมือในการหาลูกค้าของ Nim express เลยมาเสนอตัวขอนำรถเข้ามาวิ่งอยู่ในเครือข่าย

การมีรถขนาดใหญ่อยู่ในมือตัวเองทำให้ Nim express กล้าที่จะประกาศว่าสินค้าที่มีน้ำหนักมากๆ 20-100 กิโลกรัมก็มีบริการรับสินค้าจากหน้าบ้านผู้ส่ง

แต่ “จุดอ่อน” ก็คือหากสินค้านั้นหนักเกิน 100 กิโลกรัมผู้รับสินค้าต้องเดินทางมาที่ DC ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท

ถึงข้อเสียเปรียบในตลาดขนส่งสินค้ามีน้ำหนักขนาดใหญ่นั้นคือจำนวนลูกค้าไม่ได้มีมหาศาลหากเทียบการขนส่งสินค้าแบบธรรมดาทั่วไปไม่ว่าจะเป็นส่ง EMS ข้ามวัน, ส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง ฯลฯ

แต่หากสังเกตกันดีๆ การแข่งขันในกลุ่มขนส่ง Mass กำลังเดินเข้าสู่เกมเชือดเฉือนราคากันสุดฤทธิ์ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเจ้าตลาดอย่างไปรษณีย์ไทยเองก็เพิ่งประกาศลดราคา EMS เมื่อเดือนที่แล้วแบบถาวร

โดยเริ่มตั้งแต่การส่งที่มีพิกัดน้ำหนัก 3 กก. ถึง 20 กก. ราคาปรับลดเริ่มต้น 5-115 บาท

แต่การขนส่งของหนักเมื่อมีแบรนด์ให้เลือกใช้น้อย เกมราคาจึงไม่ต้องกดปุ่มลดราคาแบบ “เร้าใจ”

บริการต่อเที่ยวกำไรเป็นเนื้อก้อนโตมากกว่าขนส่งแบบทั่วไป


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online