ต้องบอกว่าตลาดฟาสต์แฟชั่น ในเมืองไทย ได้เปลี่ยนจาก “Blue Ocean” เป็นพื้นที่ “Red Ocean” อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

ใครๆ ก็อยากเข้ามา

คำพูดนี้ไม่ได้เกินจริงเลย เพราะ เวลานี้ตลาดฟาสต์แฟชั่นมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท และในช่วง 4-5 ปีมานี้ “Inter Brand” ต่างพาเหรดเข้ามาไม่น้อยกว่า 10 แบรนด์แล้ว

ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ทำเงินเฉลี่ย 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือน้อยที่สุดก็อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท

ทำไมใครๆ ก็อยากเข้ามาในตลาดเมืองไทย? เหตุผลหลักๆ เป็นเพราะพฤติกรรมของคนไทย ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้งดซื้อเสื้อผ้าหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น เห็นได้จากภาพรวมของตลาดสินค้าแฟชั่นมูลค่า 150,000 ล้านบาท ที่เติบโตทุกปีเฉลี่ย 5-6%

อย่างเมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมาไมเนอร์ กรุ๊ปได้เปิดตัว “OVS (โอวีเอส)” อย่างเป็นทางการหลังจากได้ซุ่มทดลองตลาดมาตั้งแต่ปลายปี 2017 โดย OVS เป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นที่ว่ากันว่า เป็นอันดับหนึ่งในอิตาลี ด้วยจำนวน 1,300 สาขาทั้งในอิตาลีและต่างประเทศ มียอดขายรวมสูงถึง 43,738 ล้านบาทในปี 2015

ไมเนอร์ กรุ๊ปวางแผนที่จะขยาย OVS ให้ได้ 6 สาขาในปีนี้ ภายใต้งบลงทุน 200 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 300 ล้านบาท ส่วนปีถัดไปวางแผนจะขยายปีละ 3-5 สาขา

ที่สำคัญภายใน 3 ปี ไมเนอร์ กรุ๊ปฝันใหญ่ถึงขนาดตั้งเป้าให้ OVS เข้าอยู่ในตำแหน่ง Top 3 ของตลาดฟาสต์แฟชั่น ที่ในวันนี้มี “Uniqlo-ZARA-H&M” ครองตำแหน่งอยู่

ตลาด Fast Fashion

โอกาสที่มาพร้อมเกมราคารุนแรง

แต่ถึงฟาสต์แฟชั่นจะมีโอกาสมากมาย หากมาพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของราคา

ถ้าสังเกตให้ดีคำว่า “Sale” ไม่เคยหายไปจากร้านฟาสต์แฟชั่น อยู่ที่ว่าใครจะลดราคาเท่าไหร่ ซึ่งก็มีตั้งแต่ 30-70% และจุดนี้แหละที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่า ผู้บริโภคจะเลือกเดินเข้าร้านไหน?

แต่ก็ใช่ว่าทุกแบรนด์จะตั้งราคาที่โดนใจ จนมีลูกค้าเดินเข้าออกไม่ขาดสาย เพราะที่สุดแล้ว Inter Brand บางรายที่พกความมั่นใจออกมาจากบ้าน ว่าจะสามารถกอบโกยยอดขายในเมืองไทย

ก็สู้ไม่ไหวจนต้องขนของกลับบ้านไป อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ “Forever 21” ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติอเมริกา ที่ปิดสาขาสุดท้ายไปเมื่อกลางปีนี้เอง หลังจากเข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2008

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดคำถามตามมา คือ ขนาด “Inter Brand” ที่มีเงินทุนหนาและประสบความสำเร็จ จนสามารถขยายสาขาไปทั่วโลกยังอยู่ไม่ได้ แล้วอย่างนี้ “Thai Brand” จะอยู่ในสงครามฟาสต์แฟชั่นนี้อย่างไร?

ทางออกของ “Thai Brand”

“Jaspal คือ ฟาสต์แฟชั่นแบรนด์ไทยที่อยู่ในตลาดมา 50 ปีแล้ว ถึงจะมีการแข่งขันที่รุนแรง หากตลาดแฟชั่นที่เติบโตเรื่อยๆ จึงถือว่ายังมีโอกาสอีกมากสำหรับ Jaspal”

ในส่วนของการแข่งขัน จะให้ความสำคัญในเรื่องของความเร็วมากกว่า เช่น การออก Collection ใหม่จากเดิมใช้เวลา 6 เดือนก็เหลือ 2 เดือน รวมถึงการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในสินค้านั้นๆ ส่วนเกมราคา ปกติแล้วจะลดปีละ 2 ครั้ง ช่วงเปลี่ยนฤดูจากร้อนไปหนาวและหนาวมาร้อน จะไม่เล่นมากไปกว่านี้ ยศเทพ สิงห์สัจจเทศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยัสปาล จำกัด ฉายให้เห็นถึงกลยุทธ์ของ Jaspal ท่ามกลางสงครามฟาสต์แฟชั่นที่ร้อนแรง

ตลาด Fast Fashion

แบรนด์เยอะคือข้อได้เปรียบ

ไม่ใช่แค่นั้นอีกหนึ่งเกมที่ Jaspal เลือกใช้คือการมีแบรนด์ที่อยู่ในพอร์ตจำนวนมาก ปัจจุบันมีทั้งหมด 16 แบรนด์ ได้แก่ Royal Ivy Regatta, Jaspal, LYN, Cheap Monday, Misty MYNX, CC double O, LYN Around, Footwork, Jelly Bunny, Shoe Bar, Footwork Noir, Quinn, V Eyewear, Jelly Dreams, Fred Perry และ CPS Chaps

โดย 90% จะเป็น House brand และอีก 10% เป็นแบรนด์ที่ซื้อสิทธิ์มาจากต่างประเทศ

ลึกๆ แล้วการที่มีแบรนด์จำนวนมากอยู่ในมือไม่ได้ทำให้ Jaspal กังวลว่าจะมาแย่งชิงลูกค้ากันเองแต่อย่างใด เพราะแต่ละแบรนด์ก็จะมีสินค้าและฐานลูกค้าที่ต่างกันไปอย่างชัดเจน เช่น LYN ก็จะขายกระเป๋าและรองเท้าเป็นหลัก ส่วน LYN Around จะเพิ่มเสื้อผ้าเข้ามา และจับกลุ่มลูกค้าที่เด็กกว่า เป็นต้น

การมีแบรนด์เยอะถือเป็นการเติมช่องว่างของตลาดมากกว่า ถ้า Jaspal เห็นแบรนด์ไหนที่ตอบโจทย์ก็จะนำเข้ามา ส่วนแบรนด์ที่มีอยู่แล้วจะมีการบริหารที่แยกกันชัดเจน ทั้งดีไซเนอร์ และ Brand Manager เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ไว้ไม่ให้เหมือนกัน

แค่เมืองไทยไม่พอ ต้องไปต่างประเทศด้วย

ในขณะเดียวกันการขยายสาขาเป็นอีกหนึ่งจุดที่ Jaspal ใช้สร้างความได้เปรียบจากแบรนด์อื่นๆ เพราะ Jaspal เลือกจะขยายสาขาแบบติดกันหลายๆ แบรนด์ ในทำเลที่เป็น ​Prime Area ปัจจุบันรวมทุกแบรนด์มีประมาณ 400 สาขา

พร้อมกันนี้ได้วางแผนบุกต่างประเทศอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป โดยเน้นที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยไป จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง

ตลาด Fast Fashion

ก่อนหน้านี้ Jaspal ได้ ทดลองขยายไปต่างประเทศตั้งแต่ 10 ปีก่อนที่มาเลเซีย โดยเอาแบรนด์ Jaspal ไปเป็นแบรนด์แรก ซึ่งวันนั้นหลายๆ อย่างไปไม่ได้ แต่ต้องการทดลองตลาดก่อน หากปีนี้เป็นจุดเริ่มที่มองตลาดต่างประเทศได้ชัดเจนขึ้น นั่นคือมีการวางแผนธุรกิจอย่างจริงจัง และมีผู้บริหารที่ชัดเจน

ยศเทพให้เหตุผลที่เพิ่งวางแผนอย่างเป็นทางการ เป็นเพราะในช่วงหลังๆ เริ่มมีลูกค้าที่หลากหลายขึ้น นอกจากคนไทยที่มีอยู่ราว 70% อีก 30% เป็นชาวต่างชาติ เช่น คนเวียดนาม คนจีน อีกทั้งมี Data จาก Facebook และ Instagram เข้ามาเสริมด้วย

ในต่างประเทศจะเริ่มจากการเปิด 1 สาขาก่อน เพื่อทดลงก่อนว่ามีผลตอบรับอย่างไร ถ้าขยายดีก็ค่อยวางแผนขยายต่อไป ส่วนเกมการตลาดเน้นใช้สื่อออนไลน์อย่าง Facebook และ Instagram ซึ่งเชื่อว่าภายใน 1 เดือน จะทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักแบรนด์และมาเป็นลูกค้าได้ จะสำเร็จหรือไม่นั้นวัดจากยอดขาย 1-2 เดือนแรกก็รู้แล้ว

ปัจจุบัน Jaspal มีสาขาในต่างประเทศ 40 สาขาในทุกแบรนด์ อีก 3-5 ปีวางแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 100-150 สาขา โดยเชื่อว่าจะสร้างรายได้ 3,000-5,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 30% ของยอดขายโดยรวม จากวันนี้ที่มีอยู่ราว 10% ส่วนรายได้ของ Jaspal ก็คาดว่าจะเติบโตไปอยู่ที่ระดับ 15,000 ล้านบาท


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
WebsiteMarketeeronline.co / Facebookwww.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online