ในที่สุดก็มีข่าวออกมาค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า เดือนพฤศจิกายนปีนี้ จะถึงวัน “ดี-เดย์” ได้ฤกษ์เปิดไอคอนสยามแล้ว หลังจากที่ติดตามกันมาหลายปีกับโครงการที่เขาเรียกกันว่าอภิมหาโครงการเมืองแลนด์มาร์กของไทยริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการที่เขาว่ากันว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจับตามอง

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นยังมีอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งน่าสนใจมาก นั่นคือมุมมองและแนวคิดของผู้พัฒนาโครงการที่มีมูลค่าถึง 55,000 ล้านบาท หากย้อนกลับไปในการแถลงข่าวเมื่อปี 2557 ไอคอนสยามได้ประกาศการบุกเบิกความร่วมมือระดับชาติ “แผนแม่บทวิสัยทัศน์แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ที่จะรวมพลังกับภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 30 โครงการ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ 10 กิโลเมตร เนรมิตแม่น้ำสายนี้ให้เป็น New Global Destination จุดมุ่งหมายแห่งใหม่ของคนจากทั่วโลก และในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวในสื่อต่างๆ ที่มีคนในหลายวงการออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปิดของไอคอนสยามที่จะก่อให้เกิด Ripple Effect การส่งต่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นให้แผ่กระจายไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งธุรกิจริมแม่น้ำตลอดสายและผู้คนในชุมชนโดยรอบ

จึงอาจวิเคราะห์ได้ว่าหลักการดำเนินโครงการนี้เป็นแนวคิดใหม่ในการทำธุรกิจที่ไม่ใช่การลงทุนเพียงเพื่อการค้าหรือมุ่งหวังประโยชน์ของฝ่ายตนเองแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำโครงการแบบ Win Win ที่สมประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่าย เป็นการลงทุนเพื่อ Share Value กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม และอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำพาธุรกิจให้เดินหน้าไปสู่ความความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่ร้อนแรง

และนี่คือแนวคิดที่อาจวิเคราะห์ได้ว่าน่าจะอยู่เบื้องหลัง 7 สิ่งมหัศจรรย์ของไอคอนสยาม

1. River Park–แนวคิดที่ให้ชุมชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ในโครงการ

นี่คือการต่อยอดจากโลเคชั่นที่ได้เปรียบในเรื่องของทัศนียภาพที่สวยงาม มาสู่การสร้างพื้นที่ Community Space ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตารางเมตรที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ทุกวัน ทั้งพักผ่อนหย่อนใจและสัมผัสกับความงดงามของบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ถือเป็นการเอื้อประโยชน์โดยการผูกมิตรกับผู้คนในชุมชนโดยรอบ และผูกมิตรกับผู้คนจากที่ต่างๆ ที่รักแม่น้ำเจ้าพระยาและชื่นชอบบรรยากาศริมน้ำ

2. ระบำสายน้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้–แนวคิดเรื่องการสร้าง Iconic Attraction ระดับโลกในกรุงเทพฯ

เมื่อริเริ่มโครงการ ไอคอนสยามได้ประกาศว่าจะก้าวข้ามการแข่งขันในประเทศไทยไปสู่การแข่งขันกับโครงการใหญ่ๆ ในเวทีระดับโลก วันนี้การสร้าง Iconic Attraction เป็นปัจจัยที่ต้องมีในโครงการใหญ่ๆ ที่อยู่ริมน้ำในเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น London Eye ที่กรุงลอนดอน Gardens by the Bay ที่ Marina Bay Sand สิงคโปร์  กรุงเทพฯ ก็ควรต้องมี Iconic Attraction เพื่อเป็นแม่เหล็กสำคัญที่ไม่เพียงแค่ดึงดูดคนจากทั่วโลกและจากทั่วประเทศไทยให้มาเยี่ยมชมเท่านั้น แต่เป็นการจุดประกายการท่องเที่ยวทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเป็นปรากฏการณ์ ตอกย้ำตำแหน่งที่หนึ่งในใจที่คนทั้งโลกเคย vote ให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งไอคอนสยามเองก็จะดูดคนเข้าโครงการได้ทุกวัน และวงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยโดยรวมก็ได้ประโยชน์มหาศาลด้วย

3. สุขสยาม–แนวคิดเรื่อง Co-Creation การผนึกกำลังสร้างเวทีธุรกิจแบบใหม่ เพื่อกระจายประโยชน์สู่ชุมชนทุกจังหวัด

Highlight สำคัญของไอคอนสยาม คือคอนเซ็ปต์ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งของผู้ประกอบการรายย่อยจากชุมชนระดับท้องถิ่น ตัวจริงเสียงจริงจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ วิสาหกิจท้องถิ่น ศิลปินจากทุกภาค องค์กรภาครัฐ มาช่วยกันสร้างเมืองที่จะนำเสนอสินค้ายอดนิยมและวัฒนธรรมที่เป็นความภาคภูมิใจของทุกจังหวัด สร้างงานสร้างรายได้และนำเสนอคุณค่าของสิ่งขึ้นชื่อของประเทศไทยได้อย่างเข้าถึงใจคน สุขสยามจะเป็น Platform ที่จะนำข้อมูลการค้าขายในเมืองนี้มาต่อยอดการพัฒนาสินค้าของแต่ละชุมชนให้ดียิ่งขึ้น และจะเป็นเวทีในการเรียนรู้กลไกการค้าปลีกและค้าส่ง สู่ต่างประเทศ การตลาดในรูปแบบใหม่อย่างครบวงจร (Omni Channel) ถือเป็น Commercial Ecosystem ที่มีการบริหารจัดการสินค้าโดยมีผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศและรับประโยชน์ในวงกว้าง ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ ในการนำนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น

4. ทรูไอคอน ฮอลล์–แนวคิดเรื่องการส่งต่อธุรกิจให้กับผู้ประกอบการริมแม่น้ำเจ้าพระยา

กลยุทธ์ win-win สำหรับทุกภาคส่วนโดยรอบ ถูกนำมาใช้ในการสร้างศูนย์ประชุมพร้อมนวัตกรรมล้ำยุคแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่สามารถรองรับการจัดงานประชุมระดับชาติ และจัดแสดงโชว์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติ สนับสนุนอุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทย อีกทั้งส่งผลประโยชน์ไปถึงกลุ่มธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ทุกโรงแรมก็จะมีคนมาเข้าพักมากขึ้น ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือจะมีลูกค้ามากขึ้น รวมทั้งบริษัททัวร์ท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา ทราบมาว่าขณะนี้โรงแรมต่างๆ และองค์กรภาครัฐได้เริ่มต้นทำงานกับทรู ไอคอน ฮอลล์ เพื่อจัดแพ็กเกจ นำไป Pitch งานประชุมนานาชาติมาสู่เมืองไทยกันแล้ว

5. รถไฟฟ้าสายสีทอง–แนวคิดเรื่องการสร้าง Integrated Infrastructure ที่ส่งผลดีต่อส่วนรวม

เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เอกชนผู้พัฒนาโครงการใหญ่สนับสนุนการสร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรที่อาจเกิดตามมาในพื้นที่ยาวเกือบ 2 กิโลเมตรขนานไปกับแม่น้ำ ซึ่งที่จริงแล้วเป็นวิถีปฏิบัติของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ๆ ในหลายประเทศ  นอกจากนี้ ไอคอนสยามยังสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ถึง 4 ท่าในโครงการเพื่อเชื่อมโยงการสัญจรทางรถ ราง เรือ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ อำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งไอคอนสยามเองก็ย่อมจะได้ประโยชน์ในการขนคนเข้าโครงการ แต่ในขณะเดียวกันคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะดีขึ้นทัดเทียมใจกลางเมืองด้วย อีกทั้งได้ส่งผลให้ราคาที่ดินแถบนั้นพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่าในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หลายๆ ค่ายพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็จับจองสร้างโครงการใหม่ ทั้งนี้รัฐบาลอาจนำเอาโมเดลของรถไฟฟ้าสายสีทองไปใช้กับผู้พัฒนาโครงการใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้

6. พิพิธภัณฑ์ระดับโลก–แนวคิดเรื่อง Cultural Space ใน Commercial Project

นี่คือการจับกระแสอนาคตได้อย่างเด็ดขาดก่อนใคร การสร้างพื้นที่พิพิธภัณฑ์มาตรฐานระดับสากลครั้งแรกในเมืองไทยที่สามารถรองรับการจัดแสดงงานศิลปะล้ำค่าที่จะหมุนเวียนมาจัดแสดงจากทั่วโลก เพราะที่นี่จะมี Facility ที่ทัดเทียมพิพิธภัณฑ์ชื่อดังทั่วโลก โดยแหล่งข่าวกล่าวว่าไอคอนสยามได้สร้าง Networking กับพิพิธภัณฑ์ไม่ต่ำกว่า 10 แห่งในหลายประเทศที่จะส่งผลงาน Master Pieces มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และที่สำคัญจะเป็น Cultural Space ที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงและเรียนรู้งานศิลปะจากทั่วโลกได้ง่ายขึ้น เป็นพื้นที่เชิงศิลปวัฒนธรรมที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคม

7. ปรากฏการณ์รวมโลกในรอยไทย–การเป็นเวทีแห่งความภาคภูมิใจ นำเสนองานศิลปะจากยอดฝีมือ

ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าสิ่งมหัศจรรย์เรื่องที่ 7 ที่นี่คืออะไร แต่จากแหล่งข่าวได้ทราบมาว่า ปรากฏการณ์รวมโลกในรอยไทยน่าจะเป็นการรวมผลงานที่ยอดเยี่ยมของศิลปินทุกแขนงกว่า 100 คน จากศิลปินท้องถิ่นทุกภาค ไปจนถึงศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งศิลปินระดับโลกหลายประเทศมาสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกเพื่อไอคอนสยามโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนใน Commercial Project ในประเทศไทย เป็นการต่อยอดความสำเร็จของวงการศิลปะไทยสู่เวทีโลก

นอกจากนี้ในช่วงตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ถ้าติดตามโครงการ CSR ของไอคอนสยามจะเห็นว่าได้เริ่มทำมาตั้งแต่ก่อนการเปิดโครงการและทำอย่างต่อเนื่องมาตลอด เช่น โครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ที่ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและประชาชนผู้อยู่อาศัยริมคลอง 7 คลองในฝั่งธนบุรี เพื่อช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์คลองให้สะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการก่อสร้าง “ศูนย์ชุมชนย่านกะดีจีน-คลองสาน” ที่ทำงานร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และชาวบ้านในชุมชน เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์และเป็นประตูสู่ย่านสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงวิถีในการสร้าง CSR ให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ยังไม่เปิดโครงการ น่าจะเป็นแนวคิดในการทำธุรกิจที่ว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรจะต้องกระทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการ

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามกันต่อไปจนถึงเวลาเปิดโครงการอีกไม่นานเกินรอว่า Ripple Effect ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะส่งผลรุนแรงและกระจายวงกว้างเพียงใด ต้องรอพิสูจน์กันว่าในแต่ละภาคส่วนที่ว่าจะได้รับประโยชน์มากน้อยขนาดไหน และต้องจับตาดูว่าไอคอนสยามจะสามารถเปลี่ยน landscape ของการค้าขายและย่านธุรกิจจากใจกลางเมืองไปสู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยหากเป็นไปตามนี้ได้จริง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะแนวคิดการทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ดังที่ว่านี้ น่าจะส่งผลให้ธุรกิจของไอคอนสยามและผู้ที่อยู่โดยรอบเจริญเติบโตร่วมกันไปอย่างยั่งยืน ซึ่งก็น่าจะเป็นวิถีทางที่สร้างเทรนด์ในการทำธุรกิจสู่ความสำเร็จที่มั่นคง



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online