เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “เราไม่สามารถทำอะไรหลายอย่างให้ทุกอย่างออกมาดีพร้อมกันได้ หากอยากประสบความสำเร็จ จงใช้เวลาที่มีทั้งหมดโฟกัสไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วทำมันออกมาให้ดีที่สุด” และดูเหมือนว่าเรื่องราวของคนบันดาลใจที่เรากำลังจะเล่าให้ทุกคนได้อ่านด้านล่างนี้ จะยิ่งตอกย้ำให้คำพูดข้างต้นเป็นจริงเข้าไปอีก เขาคือ เชฟโบ๊ท-วชิรวิชญ์ ก้องภพจิรพัฒน์

แม้คุณจะคุ้นหน้าเชฟโบ๊ทจากสื่อต่างๆ มากมาย หรือล่าสุดกับการเป็นผู้ชนะในรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย แต่อย่าเพิ่งปิดบทความนี้ทิ้ง เพราะการพูดคุยระหว่างเราและเชฟโบ๊ทในครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่รสชาติความหวานบนจานขนมเหมือนอย่างที่คนอื่นได้เคยเล่าไป

แต่ยังรวมไปถึงเส้นทางก่อนที่จะมาเป็นเชฟที่ต้องผ่านรสชาติหวานปนขม ผสมกับความพยายามและความกล้าตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนชั้นนำของไทยที่พูดชื่อไปใครๆ ก็รู้จักตอน ม.4 ด้วยเหตุผลที่เชฟโบ๊ทบอกกับเราว่า

“ถ้ายังอยู่ที่เดิมต่อไปอีก 2 ปี มันก็คงจะไม่มีอะไรใหม่ ไม่ได้เป็นเชฟเหมือนอย่างที่ตั้งใจสักที”

และความกล้าตัดสินใจของเชฟโบ๊ทในครั้งนั้นก็ส่งผลให้ทุกวันนี้ เขาคือเชฟขนมหวานที่คว้ารางวัลจากทั้งในและนอกประเทศมาแล้วมากมาย

เป็นเจ้าของโรงงานผลิตเค้กที่ทำ OEM ให้แบรนด์ดังหลายเจ้าตั้งแต่อายุแค่ 21

และเป็นเจ้าของ SHUGAA ร้านขนมหวานสัญชาติไทย ที่มีพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศมาดีลธุรกิจเพื่อขอนำแบรนด์ไปเปิดที่ต่างแดน

พ่อบอกเสมอว่าการย้ายที่เรียนครั้งนี้ ไม่ใช่ย้ายที่กินเหล้านะ

หลายคนมองว่าภาพลักษณ์ของเด็กที่ลาออกจากโรงเรียนตอนอยู่ชั้น ม.4 ก็คงหนีไม่พ้นเหตุผลของความเกเร แต่การลาออกตอนอยู่ชั้น ม.4 ของเชฟโบ๊ทกลับไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเขาออกมาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.82

แต่เกรดที่สูงลิ่วกลับไม่ได้เติมเต็มชีวิตวัยรุ่นของเชฟโบ๊ทเหมือนอย่างที่เด็กมัธยมหลายๆ คนปรารถนาอยากจะได้มันมาเพื่อเป็นเส้นทางสู่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย

นั่นอาจเป็นเพราะความขบถที่มีในตัวมาตั้งแต่เด็ก ที่ตัวเขาเองรู้สึกว่า ถ้าอยู่แบบนี้ไปอีกสองปี มันก็คงจะไม่ได้ทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบเร็วขึ้น เชฟโบ๊ทจึงตัดสินใจขอที่บ้านลาออก เพื่อไปเรียนต่อและหาประสบการณ์ที่ต่างประเทศ และด้วยความที่เป็นคนที่ใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นได้อย่างคุ้มค่า พ่อของเชฟโบ๊ทจึงบอกก่อนที่เขาจะย้ายไปเรียนที่นิวซีแลนด์ว่า

“ย้ายที่เรียนครั้งนี้ ไม่ใช่ว่าย้ายที่กินเหล้านะ”

จุดเริ่มต้นจากขนมไทยของคุณยาย

ความรักในขนมหวานของเชฟโบ๊ทคือสิ่งที่มีอยู่ในตัวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ด้วยการซึบซับมาจากคุณยายซึ่งชอบทำขนมไทยให้ทานเป็นประจำ

และไม่ใช่แค่ขนมไทย แต่เด็กชายโบ๊ทในตอนนั้นก็มักจะเฝ้ารอให้วันสำคัญของทุกปีวนมาถึงไวๆ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่เขาจะได้รับขนมเค้ก ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนแห่งความสุข ที่เชฟโบ๊ทบอกกับเราว่า

“ถึงแม้จะมีเรื่องอะไรวุ่นวายมากขนาดไหน แต่พอมีเค้ก เรื่องทุกอย่างแม่งจบ ทุกคนแฮปปี้ เราก็แฮปปี้” เขาจึงคิดว่าจะทำยังไงให้ความสุขวนมาถึงไวๆ สักที และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เชฟโบ๊ทรักขนมหวานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ไปเรียนรู้ Mindset การเป็นเชฟ ไม่ใช่วิธีการทำขนม

แม้การย้ายที่เรียนจากไทยไปนิวซีแลนด์จะไม่ใช่การเรียนเชฟโดยตรง แต่เขาก็เลือกที่จะอยู่กับโฮสต์ที่เป็นเชฟด้วยเหตุผลที่อยากจะเรียนรู้ว่าคนเป็นเชฟนั้นมีวิธีการคิดยังไง มีระบบ mindset เป็นยังไง ไม่ใช่เพื่อไปเรียนรู้วิธีการทำอาหาร

“ถ้าเราเรียนรู้วิธีคิด โยนอะไรมาก็ทำได้หมด

กลับกัน หากเราเรียนรู้แต่วิธีทำ แต่ถ้าเกิดมันมีอะไรผิดไปนิดหน่อย

นั่นเท่ากับว่าเราดิ้นไปทางอื่นแทบไม่เป็นเลย”

ซึ่งคำตอบที่ได้จากการเรียนรู้ในตอนนั้น ก็คือเบื้องหลังของขนมบนจานที่สวยงามที่หลายคนกินกันอย่างเอร็ดอร่อย นั้นต้องแลกมาด้วยการฝึกฝน การทำงานอย่างหนักหน่วง ที่ไม่ได้ง่ายและสวยหรูอย่างที่คนภายนอกคิดกัน

แต่ถึงจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องที่นักหนาขนาดนั้น เมื่อกลับมาถึงเมืองไทย เขาก็ยังตั้งใจที่จะเป็นเชฟอย่างที่เคยฝันไว้อยู่ดี

กลับมาเรียนไทยปีแรก ก็ได้เป็นตัวแทนไปแข่งต่างประเทศ

เมื่อกลับมาถึงไทย เชฟโบ๊ทเลือกจะสานต่อความฝันของตัวเองด้วยการเรียนต่อที่ Le Cordon Bleu ที่เมื่อเข้าไปเรียนได้แค่ปีแรก ก็ตัดสินใจลงแข่งในลีกที่ไม่จำกัดชั้นปีของนักศึกษา ไม่ว่าจะปีหนึ่งหรือปีสี่ ก็มีสิทธิ์ลงแข่งในรายการนี้ทั้งนั้น

และด้วยความที่ทุกสนามจะมีตัวเก็งอยู่ อาจารย์คนหนึ่งจึงเดินเข้ามาเตือนเขาในเชิงเย้ยหยันว่า “ถ้าใครไม่ไหวก็ออกไปก่อนยังไม่ต้องแข่งก็ได้”

แต่สุดท้ายเขาก็ได้ที่ 1 มาครอบครอง ซึ่งเป็นชัยชนะที่มาจากการฝึกซ้อมแบบตั้งใจผิดพลาด เพราะรู้ว่าที่หน้างานจะต้องมีปัญหา หากซ้อมตามสเต็ปมากเกินไปเมื่อมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมา ก็อาจทำให้เขารับมือไม่ไหว

และความเป็นที่ 1 ในครั้งนั้น ก็กลายเป็นใบเบิกทางที่พาให้เชฟโบ๊ทได้เป็นตัวแทนออกไปแข่งแบบทีมที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยตัวเขาเองรับหน้าที่ทำขนมหวาน ซึ่งก็สามารถคว้ารางวัลที่ 2 กลับมาได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาภูมิใจ เพราะตัวเขาเองรวมถึงคนรอบข้างต่างก็บอกว่า ถ้าไม่ใช่โบ๊ท ทีมก็คงจะได้ที่ 1 ไปแล้ว

“ตอนนั้นอีโก้ที่เคยมีถูกตบยัดใส่กระป๋องไปเลย เราเคยคิดว่าตัวเองเก่งเพราะแค่ลงแข่งครั้งแรกก็ได้ที่ 1 เอาชนะรุ่นพี่ปีอื่นได้แล้ว

แต่ครั้งนั้นทีมแพ้เพราะเราจริงๆ ก็บอกกับตัวเองว่า ยังอีกไกลเลยว่ะโบ๊ท ยังต้องฝึกอีกมาก และมีอะไรหลายๆ อย่างที่เราต้องเรียนรู้อีกมากด้วยเช่นกัน”

ถึงเวลาต้องย้ายไปลีกที่ใหญ่ขึ้น

เมื่อลดอีโก้เพื่อเปิดใจเรียนรู้ ผลที่ได้รับก็คือรางวัลจากการเป็นแชมป์ในเวทีต่างๆ มากมายที่ถ้าหากจะให้บอกว่ามีอะไรบ้างก็คงจะอธิบายไม่หมด

จนเมื่ออยู่ปี 3 เชฟโบ๊ทก็มีความรู้สึกว่า “จะต้องก้าวขึ้นไปในลีกที่ใหญ่ขึ้น” และลีกที่ว่าก็คือการใช้รางวัลและวิชาที่สะสมมาทั้งหมดไปแลกเปลี่ยนเป็นเงิน ด้วยการไปเป็นเบื้องหลังให้กับร้านขนมแบรนด์ดัง ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นทั้งเชฟทำขนมและคนคิดไอเดียเมนูต่างๆ

จนเมื่อชื่อของเชฟโบ๊ทเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็เริ่มมีแบรนด์ดังมากมายมาติดต่อให้เขาไปเป็นที่ปรึกษาและช่วยทำ OEM ให้

ตรงนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนห้องเก็บของเก่าๆ ที่มีอยู่ให้กลายเป็นโรงงานผลิตขนมที่สะอาดและได้มาตรฐาน เพื่อผลิตขนมส่งให้กับแบรนด์ดังทั้งหลาย

มีห้องเย็นอย่างที่ใจอยาก ที่ทำให้เขาไม่ต้องเจอกับปัญหาตู้เย็นเต็มอีกต่อไป

และสุดท้ายมันก็กลายเป็นโรงงานที่เจ้าของมีอายุเพียงแค่ 21 เท่านั้น

ถึงเวลาถ่ายทอดความเป็นตัวของตัวเองผ่านขนม

การทำ OEM ให้กับแบรนด์ดังต่างๆ ของเชฟโบ๊ทไม่ได้มีแค่เหตุผลในเรื่องของเงินเท่านั้น เพราะเขายังมองว่ามันคือการฝึกซ้อม เพื่อจะพาตัวเองก้าวขึ้นไปสู่ลีกที่ใหญ่ขึ้น

ซึ่งเมื่อทำเบื้องหลังให้กับแบรนด์ต่างๆ ได้สักพัก คราวนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เขาจะได้สะท้อนความเป็นตัวตนผ่านการทำร้านขนมหวานเป็นของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า SHUGAA

ความแปลกของ SHUGAA ไม่ได้มีแค่รสชาติหวานละมุน หรือหน้าตาของขนมที่ไม่เหมือนใคร แต่ยังรวมไปถึงลูกค้ากว่า 80% ของร้านที่เป็นชาวต่างชาติที่พวกเขาต้องแวะมาถ่ายรูปเช็คอินเมื่อมาเที่ยวประเทศไทย จนทำให้มีชาวต่างชาติหลายรายมาดีลธุรกิจเพื่ออยากจะเอาแบรนด์ SHUGAA ไปเปิดที่ต่างประเทศอยู่บ่อยๆ ที่เชฟโบ๊ทยังแอบเล่าแบบติดตลกให้เราฟังว่า

“จริงๆ SHUGAA มีสาขา 2 ที่มาเลเซียนะ คือเขามาร้านเรา มาถ่ายรูปทุกซอกทุกมุมของร้านเลย แล้วก็เอาไปก๊อบ เปลี่ยนชื่อร้านเปลี่ยนโลโก้นิดหน่อย แต่ก็นั่นแหละ ถ้าของเราไม่ดีจริงก็คงไม่มีใครอยากมาก๊อบปี้หรอกจริงไหม” (หัวเราะ)

เชฟที่มีส่วนผสมของความเป็นนักการตลาด

เพราะการทำโรงงานหรือร้านขนมให้ประสบความสำเร็จไม่ได้มีแค่เหตุผลในเรื่องของรสชาติ แต่ยังรวมถึงการบริหารคน การจัดการ รวมถึงการตลาดที่แม้จะไม่ได้จบด้าน Marketing มา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขามีแนวคิดในการทำการตลาดที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

เพราะเชฟโบ๊ทรู้ดีว่า SHUGAA นั้นเป็นร้านที่มีลักษณะคล้ายกับ Character Café ที่คนส่วนใหญ่จะมาเพื่อกินและถ่ายรูปเพียงแค่ไม่กี่ครั้ง เขาจึงต้องหาอะไรใหม่ๆ เพื่อทำให้ร้านน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา

ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวิร์กช้อปทำเค้กในร้าน หรือกับการทำ Collapse Project กับแบรนด์ต่างๆ

รวมไปถึงการทำตลาดในต่างประเทศเพื่อให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น และอาจนำไปสู่การที่ SHUGAA กลายเป็นอีก Destination เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทย

และล่าสุดกับทำรายการบน youtube ซึ่งถือเป็นการก้าวออกจาก Comfort Zone ของความเป็นเชฟ ที่ช่วยให้ผู้คนรู้จักแบรนด์ SHUGAA มากขึ้นนั่นเอง

การทำขนมในมุมมองของหลายคนคือสิ่งที่ต้องทำตามสูตรเป๊ะๆ ไม่สามารถดิ้นได้ทั้งวิธีในการทำและส่วนผสม

แต่เชฟโบ๊ทกลับคิดต่าง เพราะเขามองว่าขนมหลายอย่างที่ทั่วโลกรู้จักก็เกิดจากความผิดพลาด หรือเกิดจากการใส่ส่วนผสมที่ลงตัวลงไปอย่างไม่ได้ตั้งใจ

มันก็คงเหมือนชีวิตของเขาที่ไม่ได้เป็นไปตามสูตร และกล้าที่จะลองผิดลองถูกในทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา แม้มันจะมีรสชาติขมปนเข้ามากับความหวานบ้าง

เพราะเขารู้ว่า “การที่ได้ลองไปทำอะไรแต่ละอย่าง มันจะทำให้ตัวของเขาเองเฉียบขึ้น และชาร์ปขึ้นในทุกๆ วัน”

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online