ครั้งหนึ่งอาจเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ถ้ายังเดินหน้าต่อไปอีกถึงสอง สาม และตามมาอีกมากมาย แสดงว่าต้องมีนัยสำคัญ พร้อมความน่าสนใจ เหมือนที่หนังรักเอเชียสองเรื่องคือ Crazy Rich Asians ครองแชมป์หนังทำเงินในสหรัฐฯ มาแล้ว 3 สัปดาห์ ส่วน To All the Boy I ‘ve Loved Before ที่มีให้ชมบน Netflix ก็กระแสตอบรับดีมาก

ความน่าสนใจของปรากฏการณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้คนเอเชียนี้ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะบนจอใหญ่ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษของหนังที่มีนักแสดงและทีมงานแทบทั้งหมดเป็นคนจากซีกโลกตะวันออก ส่วนบนจอเล็กและอีกหลายจอที่สามารถดูได้ตามความสะดวก หมายความถึงการเจาะตลาด Video Streaming ใหญ่สุดในโลก

ความดังครั้งประวัติศาสตร์ที่ ‘เอเชียชัด’ มาตั้งแต่เริ่ม  

แม้แยกไปดังบน Platform ต่างกันแต่ Crazy Rich Asians และ To All the Boy I ‘ve Loved Before ก็มีความเหมือนกันอยู่หลายด้าน เริ่มด้วยเป็นหนังสร้างจากนิยายแนว Romantic Comedy โดยเรื่องแรกแต่งโดย Kevin Kwan นักเขียนชาวอเมริกันเชื้อสายสิงคโปร์

ขณะที่เรื่องหลังมาจากนิยายของ Jenny Han นักเขียนจากอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ซึ่งนิยายทั้งสองเล่มต่างเป็นปฐมบทของไตรภาค ซึ่งแน่นอนว่าตัวเอกและตัวละครส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียที่มีพื้นเพมาจากเอเชียตะวันออกหรือตะวันออกเฉียงใต้ตามผู้แต่ง

จุดร่วมอีกอย่างที่สำคัญของหนังทั้งสองเรื่องคือผู้แต่งยืนกรานว่านักแสดงนำในเรื่องต้องเป็นชาวเอเชียเท่านั้น โดย To All the Boy I ‘ve Loved Before ประนีประนอมกับ Overbook Entertainment บริษัทภาพยนตร์ของ Will Smith ที่ซื้อบทประพันธ์ไป ให้เปลี่ยนบรรดาหนุ่มที่นางเอกหลงรักให้เป็นคนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่เอเชีย แต่ไม่ยอมเปลี่ยนให้นางเอกรับบทโดยนักแสดงผิวขาว ซึ่งที่สุดก็ลงตัวที่ Lana Condor นักแสดงสาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม ห่างจากบทประพันธ์ไปไม่มากที่นางเอกเป็นสาวลูกครึ่งอเมริกัน-เกาหลีใต้

ส่วน Crazy Rich Asians ไปไกลกว่านั้น โดยทั้งนักแสดงและทีมงานส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียหรือเป็นชาวเอเชียเลย เริ่มจาก Henry Golding และ Constance Wu พระ-นางในเรื่องที่เป็นชาวมาเลเซียและอเมริกันเชื้อสายไต้หวันตามลำดับ สมทบด้วย Michelle Yeoh และ Ken Jeong นักแสดงเชื้อสายเอเชียซึ่งคอหนังทั่วโลกรู้จักดี

ขณะที่ Jon M-Chu ผู้กำกับก็พื้นเพเป็นชาวเอเชียเช่นกัน นอกจากนี้เพลงประกอบส่วนใหญ่ยังเป็นเพลงสากลที่เปลี่ยนเนื้อให้เป็นภาษาจีนอีกด้วยด้วย เช่น Yellow เพลงดังของวง Coldplay ตอน End Credit ที่ร้องโดย Katherine Ho หนึ่งในผู้เข้ารอบ The Voice America Season 10 

Kevin Kwan กล่าวว่าเขาและผู้กำกับต่างปฏิเสธข้อเสนอจาก Netflix เพราะเห็นตรงกันว่าหนัง ‘เอเชียชัด’ เรื่องนี้ต้องปรากฏสู่สายตาคนในสหรัฐฯ และคนทั่วโลกครั้งแรกในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เหมือนที่ The Joy Luck Club ทำไว้เมื่อ 25 ปีก่อน

ด้าน Ken Jeong ซึ่งโด่งดังมาจากบท “อาเฉา” นักเลงชาวจีนจอมแสบใน The Hangover ทั้ง 3 ภาค ซึ่งมารับบทพ่อมหาเศรษฐีของเพื่อนสาวของนางเอกใน Crazy Rich Asians กล่าวว่า “กองถ่ายหนังเรื่องนี้ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน”

สองหนังรักเอเชียรสชาติกลมกล่อมที่เจาะตลาดสหรัฐฯ ได้สำเร็จ

Crazy Rich Asians เข้าฉายในสหรัฐฯ เมื่อ 15 สิงหาคม ครองแชมป์หนังทำเงินได้ทันที ด้วยตัวเลขรายได้ 26.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 874.5 ล้านบาท) ซึ่งถือเป็นหนัง Romantic Comedy ที่เปิดตัวอันดับ 1 ในสหรัฐฯ เรื่องแรกในรอบ 3 ปีถัดจาก Trainwreck และยังรั้งแชมป์ไว้ได้ในอีก 3 สัปดาห์ถัดมา พร้อมตัวเลขรายได้ทั่วโลกล่าสุด (ณ วันที่ 3 กันยายน 2018) ที่กว่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวเกือบ 4,300 ล้านบาท) มากกว่าทุนสร้างเกือบ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3,300 ล้านเหรียญบาท) 

ขณะที่ To All the Boy I ‘ve Loved Before ซึ่ง Streaming ในสหรัฐฯ เวลาไล่เลี่ยกัน ก็ได้กระแสตอบรับดีจากสมาชิก Netflix และคำชื่นชมจากเหล่านักวิจารณ์

สองหนังรักเอเชีย Book 2

 วิเคราะห์กันว่าความสำเร็จของหนังรักเอเชียทั้ง 2 เรื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งการใส่ตัวละครและความเป็นเอเชียลงในเรื่องรักระหว่างชนชั้น-ต่างฐานะ (Crazy Rich Asians) และ รักวัยเรียน (To All the Boy I ‘ve Loved Before) ซึ่งมีความเป็นสากลในทุกชาติทุกภาษาได้อย่างลงตัว

ขณะเดียวกันยังชูความเป็นเอเชียให้เป็นจุดเด่นขึ้นมา จนเรียกได้ว่าดันเอกลักษณ์ดังกล่าวเพื่อสร้างความแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ อย่างชัดเจน และยกระดับหนังที่ได้รับความนิยมในระดับทวีปให้ดังในระดับสากล (Local to Global)

นอกจากนี้ยังมีความร่วมสมัย โดยใน Crazy Rich Asians หรือในชื่อไทยว่า “เหลี่ยมโบตั๋น” คือการฉายภาพให้เห็นมหาเศรษฐีชาวเอเชียที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วน To All the Boy I ‘ve Loved Before ที่ใช้ชื่อไทยว่า “แด่ชายทุกคนที่ฉันเคยรัก” คือความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่ขอลิขิตชีวิตตัวเอง โดยนางเอกเดินเข้าไปเคลียร์กับหนุ่มๆ ที่ได้รับจดหมายของเธอโดยบังเอิญทุกคน

 ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ หนังรักเอเชียทั้งสองเรื่องเจาะตลาดสหรัฐฯ ได้สำเร็จ โดยเฉพาะในส่วนของ Crazy Rich Asians คือเพราะในสหรัฐฯ มีคนเชื้อสายเอเชียอยู่ไม่น้อย และ 44% ของผู้ชมหนังเรื่องนี้ในสัปดาห์แรกก็คือผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ซึ่งยังครองสัดส่วนถึง 27% จากการฉายในสัปดาห์ที่ 2

จับตาดู Asian Content และสิงคโปร์ต่อจากนี้ 

หนังรักเอเชีย Book 1

 ‘ความปัง’ ของ Crazy Rich Asians และ To All the Boy I ‘ve Loved Before คงทำให้มีหนัง Romantic Comedy หรือหนังแนวอื่นๆ จากนิยายที่มี ‘กลิ่นเอเชีย’ ออกมาอีก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ China Rich Girl Friend ภาคต่อของ Crazy Rich Asians ที่เริ่มมีการพัฒนาบทแล้ว  และ To All the Boy I ‘ve Loved Before ก็มีแนวโน้มที่ดีเพราะหนังแนว Romantic Comedy เป็นหนึ่งใน Content ยอดนิยมของ Netflix 

 ขณะเดียวกันอานิสงส์จากความสำเร็จของหนังทั้ง 2 เรื่อง อาจเปิดโอกาสให้นักแสดงเอเชียขยับจากนักแสดงสมทบหรือบทรองๆ ขึ้นมาเป็นบทนำมากขึ้น มีนักแสดงเอเชียรับบทชาวเอเชียตรงตามบทประพันธ์มากขึ้น ต่างจากหลายปีที่ผ่านมาซึ่งมักให้นักแสดงผิวขาวรับบทชาวเอเชีย จนถูกวิจารณ์อยู่เนืองๆ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กับ Ghost in The Shell ที่ Scarlett Johansson รับบทเป็นตำรวจญี่ปุ่นในโลกอนาคต  

 ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ต้องจับตามองคือยอดนักท่องเที่ยวในสิงคโปร์ เนื่องจาก Crazy Rich Asians ถ่ายทำในชาติเล็กพริกขี้หนูของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้ชมในสหรัฐฯ และทั่วโลกได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ และความเจริญก้าวหน้าของประเทศนี้มากมาย ไม่ต่างจากหนังโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชั้นดี / qz, washingtonpost, forbes, hollywoodreporter ,wikipedia 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online