สำหรับคนไทยวัย 35 ปีขึ้นไป เมื่อตอนเป็นเด็กเวลาก่อน 18.00น  ได้ยินเสียงเพลง ติง ติ่ง ติ้ง ติ๊ง ติง ติ๊ง ติง ติ่ง ติ๊ง ติ้ง ติ่ง ติง ติ๊ง……ที่มาพร้อมกับภาพและข้อความคำสอนของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

“คนเราทุกวันนี้ ดีแต่ส่องกระจกด้านหน้า แต่เพียงด้านเดียว ให้เอากระจกหกด้านมาส่องเสียบ้าง แล้วจะเห็นเอง”

ก่อนที่จะตัดไปยังรายการที่พากย์ด้วยเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ให้เสียงที่นุ่ม ทุ้ม เรียบ กังวาน แต่ฟังแล้วสบายหู ซึ่งเป็นเสียงคุณป้า สุชาดี มณีวงศ์ จะรู้ได้เลยว่ารายการกระจกหกด้าน ทางช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณมาแล้ว

ตอนนั้นเราอายุไม่ถึง 10 ขวบ เวลาเจอเพลงนี้ทีไร จะเปลี่ยนช่องทุกที ไม่ก็เปิดทีวีไว้แต่ไปทำอย่างอื่น เพราะรู้สึกว่าเป็นรายการที่เป็นทางการ น่าเบื่อ

ทั้งๆ ที่รายการกระจกหกด้าน เป็นรายการสารคดีที่ย่อยความรู้ที่ถูกต้องให้เสพแบบง่ายๆ และสามารถนำไปต่อยอดก็ตาม

มาในวันนี้รายการกระจกหกด้านก็ยังอยู่ และเป็นรายการที่ดำเนินรายการมากว่า 37 ปี ทางช่อง 7 สี ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ทั้งเจอการปรับผังออกอากาศจากในช่วงแรกที่ออกอากาศทุกวันก่อนเคารพธงชาติ ไปเป็นช่วงต่างๆ ตามเวลาผังใหม่ๆ ที่ช่อง 7 กำหนด

และในตัวของรายการเองก็ได้มีการปรับวิธีการนำเสนอใหม่ เป็นกระจกหกด้านบานใหม่ที่มีความร่วมสมัย มีการนำเสนอเรื่องราวเชิงสารคดีต่างๆ ที่ดูแล้วสนุก อย่างเช่นตอนเน็ตไอดอล หรือฟรีแลนซ์ เพื่อขยายฐานคนดูไปยังคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อไม่ให้รายการนี้หายไปกับกาลเวลา

แต่รายการกระจกหกด้านก็ยังคงเอกลักษณ์เสียงพากย์ของคุณป้า สุชาดี มณีวงศ์ เจ้าของบริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด ผู้ผลิตรายการกระจกหกด้านเหมือนเดิม

เมื่อรายการกระจกหกด้านมีการปรับเสมอ เสียงคุณป้าสุชาดีที่ใครหลายคนรู้จัก ก็เลยขอปรับตัวเอง จากเจ้าของเสียงพากย์กระจกหกด้านที่อยู่เบื้องหลังมาตลอด มาปรากฏเสียงและตัวตนในเบื้องหน้ากับเขาบ้างเหมือนกัน ในรายการ ไชโย โอป้า ซึ่งเป็นรายการออนไลน์ที่นำเสนอเป็นตอนๆ ออกอากาศทุกวันจันทร์ทาง Facebook, Youtube และ Website mirror6 เท่านั้น

ซึ่งการปรากฏตัวเบื้องหน้าของคุณป้าสุชาดี เป็นการที่เรารู้สึกว่าพีคสุดๆ เพราะที่ผ่านมาลุคเสียงของคุณป้าสุชาดี จะเป็นลุคที่มีความเป็นผู้ใหญ่ เนี้ยบๆ คงวิชาการ เหมือนอาจารย์ที่สอนหนังสือเด็กๆ 

แต่มาในรายการ ไชโย โอป้า ป้าสุชาดี (ที่ในรายการเรียกว่าโอป้า) ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ความเป็นเจ้าของเสียงทรงวิชาการ มาพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ เป็นตอนๆ สั้น พร้อมปล่อยมุกเด็ดๆ ที่เข้ากับยุคสมัยคนรุ่นใหม่ กับแขกรับเชิญที่อยู่ในกระแสของคนรุ่นใหม่ ที่ดูแล้วสนุก มีสาระสอดแทรก และปิดท้ายรายการด้วยการสรุปหลักคำสอนใจที่เกี่ยวกับเรื่องที่นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

อย่างเช่นตอนสอนภาษาไทยให้กับ ไฮโซโซเฟีย ลา ที่พูดไทยไม่ชัด หรือการให้เบนซ์อาปาเช่ สอนโอป้าในการใช้โซเชียล หรือแม้แต่การไหว้วานลูกสาวขาร็อก อรอรีย์ไปซื้อของที่ อตก. ที่มาพร้อมสไตล์การต่อราคาแบบโอป้าสุดๆ เป็นต้น

ซึ่งเรามองว่ารายการ ไชโย โอป้า เป็นรายการที่ช่วยต่อยอดการนำเสนอคอนเทนต์เชิงสารคดีในรูปแบบใหม่ๆ ของทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด ได้เป็นอย่างดี

เมื่อพูดถึงบริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จะขอเล่าความเป็นมาของบริษัทนี้สักหน่อย

ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ เป็นบริษัทผู้ผลิตรายการกระจกหกด้าน และรายการสารคดีอื่นๆ เช่น ร้อยเรื่องเมืองไทย, รูปสวยรวยรส และเป็นผู้รับผลิตรายการสารคดีให้กับผู้สนใจ ส่วนรายการไชโย โอป้า เป็นรายการแรกของบริษัทที่ออกอากาศเฉพาะออนไลน์

โดยบริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ เป็นบริษัทที่คุณป้า สุชาดี เป็นผู้ก่อตั้ง

ในปัจจุบันบริษัทนี้เป็นการทำงานระหว่างคุณป้าสุชาดี และลูกๆ ทั้ง 3 จากลูกทั้งหมด 4 คนของคุณป้า ได้แก่ จุฬาพิช มณีวงค์, อลงค์กร จุฬารัตน์ และลูกสาวคนเล็ก อรอรีย์ จุฬารัตน์ นักร้องเพลงแนวกรันจ์ ที่เด็กอินดี้ยุคเก่ารู้จักกันดี ทำให้รูปแบบการนำเสนอรายการกระจกหกด้านในยุคใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ พร้อมรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี

กระจกหกด้านรายได้เท่าไร 2556 47,180,785.69 2557 48,250,717.97 2558 49,670,688.69 2559 59,524,721.06 2560 66,762,466.56 ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ รายได้จาก บริษัท ทริลเลี่ยนส์ แอนด์ ทรีไลอ้อนส์ จำกัด

 

Marketeer FYI

รายการกระจกหกด้านออกอากาศครั้งแรก 1 สิงหาคม 2526 โดยชื่อรายการมาจากคำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เรื่องกระจกหกบาน

เพลงประกอบรายการกระจกหกด้านมาจากเพลง Dancing Flames-Mannheim Steamroller ที่คุณป้านำมาปรับให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

 

รายการกระจกหกด้านเคยเป็นรายการที่มีเรตติ้งผู้ชมสูงสุดในกลุ่มรายการสารคดี ด้วยเรตติ้ง 4

ตลอด 37 ปีที่ผ่านมา รายการกระจกหกด้านได้ออกอากาศไปแล้วหมื่นกว่าตอน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online