SME Think Tank : ดร.เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม

ผมเพิ่งกลับจากการไปติดต่อธุรกิจที่ เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เมื่อเร็วๆนี้ ทุกครั้งที่ไปกัมพูชาในระยะหลังผมจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเสมอ แบบว่าพัฒนาได้รวดเร็ว ดูผิดหูผิดตาทุกครั้ง

ผมอยากจะเล่าสู่กันฟังถึงผู้บริโภคชาวเขมรวันนี้

ประเทศกัมพูชาประกอบด้วยคนสามรุ่นตั้งแต่ รุ่นที่อยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส รุ่นสงครามกลางเมือง (ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) และรุ่นปัจจุบัน แต่ละรุ่นมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยต่างกันตามสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ แต่ทั้งสามรุ่นก็ใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมปัจจุบันแตกต่างกันตามพื้นฐานความเป็นมาของแต่ละคนแต่ละช่วงชีวิต

หนุ่มสาวเขมรรุ่นใหม่นิยมแบรนด์ต่างประเทศ อย่างร้านขายกาแฟอเมซอนของไทยที่เป็นที่ชื่นชอบและเป็นเครื่องแสดงสถานะความเป็นคนทันสมัย

หากจะพูดกันตามความเป็นจริง (ที่ไม่เข้าข้างตนเองแล้ว) พฤติกรรมแบบนี้ก็เหมือนพี่ไทยเราหรืออีกในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาช้ากว่าชาติตะวันตก

 

หนุ่มสาวเขมรรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาดี ชนชั้นระดับบนนิยมส่งบุตรธิดาไปศึกษาในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เด็ก เรียกว่าไปเติบโตในประเทศเหล่านั้น เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ภาษาต่างประเทศดีกว่าภาษาเขมรที่เขาพูดได้แต่อ่านเขียนไม่ได้ ผมได้พบกับหนุ่มเขมร 2-3 คนที่สื่อสารกันด้วนภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว แต่ภาษาเขมรอ่อนแอเพราะพ่อแม่ส่งไปเติบโตในยุโรป

คนในระดับกลางๆ ส่วนใหญ่มาเรียนหนังสือในไทย สิงคโปร์ ระยะหลังมีไปศึกษาในจีน ซึ่งเริ่มเข้ามาอิทธิพลมากในหลายๆ ด้าน คนกลุ่มนี้และคนรุ่นหลังสงครามกลางเมืองคือลูกค้าสำคัญสำหรับสินค้าไทย

ผมจำได้ดีว่าสมัยที่กัมพูชาเปิดประเทศใหม่ๆ หลังสงครามกลางเมืองเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ผมเข้าไปค้าขายสมัยนั้น เงินบาทยังใช้จับจ่ายใช้สอยได้ ภาษาไทยสามารถใช้ติดต่อสื่อสารได้ทั่วไป เพราะเขมรดูรายการโทรทัศน์และสื่อต่างๆ จากประเทศไทย สินค้าแบรนด์ไทยเป็นที่นิยมมาก

ปัจจุบันอิทธิพลของไทยลดลงมาก เงินบาทใช้แทบไม่ได้ ต้องใช้อเมริกันดอลล่าร์หรือเงินเรียลของเขมรเองเป็นส่วนใหญ่ แต่คนเขมรส่วนใหญ่ยังพอจะสื่อสารกับเราโดยใช้ภาษาไทยได้บ้าง

สาเหตุหนึ่งที่อาจจะมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคเขมรมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์สินค้าสูง เพราะฉลากสินค้าส่วนใหญ่ไม่มีภาษาเขมร เพราะตลาดมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มพอที่จะผลิตฉลากเฉพาะภาษาเขมร เพราะฉะนั้นคนเขมรเกือบทั้งหมดจึงจดจำสัญลักษณ์ โลโก้ รูปแบบตัวหนังสือของแบรนด์ สีสัน ลักษณะภาชนะบรรจุ หากใช้ได้ดีก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ แม้แต่คนในระดับกลางและระดับล่างที่เป็นกำลังสำคัญในการหารายได้ให้ครอบครัว แม้แต่คนงานในโรงงานต่างๆ ที่ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว พ่อแม่ใช้ในต่างจังหวัด ต่างก็มีอิทธิพลในการเลือกซื้อแบรนด์สินค้า

หากจะดูส่วนแบ่งการใช้จ่ายของครอบครัวชาวเขมร เกือบ 50% ใช้จ่ายสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 20% เป็นสินค้าอุปโภคที่ใช้ในบ้าน ที่เหลือเป็นการใช้จ่ายสินค้าอื่นๆ ซึ่งประมาณ 10% เป็นการใช้จ่ายเพื่อการสื่อสารและการเดินทาง

 

ในกรุงพนมเปญเริ่มมีรถประจำทางให้บริการ (จีนลงทุนให้ทั้งหมด) และสร้างสะพานลอยข้ามสี่แยกที่สำคัญๆ แต่การจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนยังติดแบบสาหัสเพราะพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนแบบตามใจเขมร ใครจะซอกแซก แซงซ้ายขวา หน้าหลัง อย่างไร ว่ากันไปตามใจชอบ อีกอย่างถนนส่วนใหญ่ค่อนข้างแคบ

แต่อย่างไรก็ตามได้มีการสร้างเมืองใหม่ (ขยายจากตัวกรุงพนมเปญในปัจจุบัน) ที่ถนนหนทางดีและคงจะใช้เป็นเมืองหลวงใหม่ในอนาคต (ผมคิดเอาเองนะครับ)

กัมพูชาเป็นประเทศที่เปิดรับการช่วยเหลือจากต่างประเทศมานาน เพราะฉะนั้นหากไม่พูดถึงพฤติกรรมของคนเหล่านี้ คงทำให้บทความตอนนี้ไม่ให้ภาพที่ชัดเจนพอ

ชาวต่างชาติหลักๆ คือพวกยุโรป ฝรั่งเศส มากหน่อยที่ส่วนใหญ่ทำงานให้กับองค์กร NGO  ต่างๆ หลายคนเกษียณแล้วก็ใช้เงินบำนาญหรือรัฐสวัสดิการจากประเทศของตนมาใช้ชีวิตที่กัมพูชา คนกลุ่มนี้นิยมแบรนด์ตะวันตก หรือแบรนด์ไทย แต่ใช้จ่ายไม่มากเพราะรายได้ (ก็) ไม่มาก

พวกฝรั่งที่มาทำงานจากบริษัทใหญ่พวกนี้รายได้ดี ใช้สินค้าแบรนด์ตะวันตกและมักจะเดินทางกลับไปซื้อสินค้าที่ประเทศบ้านเกิด หรือเมื่อเวลามาไทยหรือประเทศใกล้เคียงแถบนี้

ส่วนชาติในเอเชียที่อยู่กันมากในกัมพูชาคือชาวเวียดนาม ที่สมัยหนึ่งเกือบจะกลืนชาติเขมร ด้วยการเร่งแพร่พันธุ์ชนชาติตนเองในเขมร เพราะฉะนั้นลึกๆ แล้วคนเขมรรุ่นกลางคนขึ้นไปไม่ชอบชาวเวียดนาม ส่วนชาติอื่นๆ ที่อาศัยอยู่มาลงทุนทำธุรกิจในกัมพูชา เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย คนกลุ่มนี้อาจจะมีจำนวนเกือบแสนคนในปัจจุบัน หรือเข้าๆ ออกๆ ประเทศ เพราะฉะนั้นเป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ท่านจะเห็นร้านอาหาร แบบตะวันตก ฟาสต์ฟู้ด แบรนด์ดังๆ ในกรุงพนมเปญมากมาย

 

ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนี่งคือ นักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเพราะเขมรมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่าง นครวัดนครธม ที่เมืองเสียมเรียบ และปราสาทต่างๆ อีกมากมาย หากมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้สะดวกและปรับรูปแบบ คุณภาพการบริการก็จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศมากกว่านี้ นักท่องเที่ยวเหล่านี้ใช้จ่ายมาก แม้แต่ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีก็เติบโต อย่างผู้ประกอบการรายใหญ่ในวงการนี้ของโลก DFS (Duty Free Shopper) ยังเปิดร้านค้าปลอดภาษีในเมืองเสียมเรียบ

ส่วนเรื่องช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้า ยังเป็นรูปแบบเดิมๆ คือ ผู้นำเข้า หรือบริษัทตัวแทนจากต่างประเทศนำเข้าสินค้าแล้วกระจายสู่ร้านค้าส่ง และกระจายต่อสู่ร้านค้าปลีก จนถึงมือผู้บริโภค แม้ว่าในกรุงพนมเปญจะมีการเปิดห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

 

เขมรวันนี้เปลี่ยนไปมากแล้ว และเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะกล้าจับจ่ายและใช้เงินอเมริกันดอลล่าร์เป็นส่วนใหญ่ในการซื้อขายสินค้าและบริการ เพราะฉะนั้นหากบริหารงานให้ดี กำไรจะมากครับ

อย่าเอาเรื่องผิดใจกันในอดีตหรือปัญหาการเมืองทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มาเป็นอุปสรรคการค้าขายระหว่างกัน ทำใจเปิดกว้าง อาศัยความเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง การค้า ระหว่างไทยเขมรก็จะราบรื่นเติบโตขึ้นครับ 

 

ตลาดกัมพูชา


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online