สินค้าฮาลาลไม่ได้จำกัดเฉพาะอาหาร และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมฮาลาลได้ขยายไปสู่การผลิตสินค้าสาขาอื่นด้วย อาทิ เภสัชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เครื่องอาบน้ำ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการบริการ เช่น การขนส่ง การเงิน การธนาคาร การท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม

ตลาดอาหารฮาลาล ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก และครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดด้วยสัดส่วน ร้อยละ 61 ของมูลค่าตลาดฮาลาลโลก

อาหารฮาลาล ยังเป็นที่ยอมรับสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากอาหารฮาลาลเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง สะอาด ปลอดภัย และมีระบบการผลิตถูกต้องตามหลักจริยธรรม ดังนั้นตลาดอาหารฮาลาลถือเป็นตลาดสินค้าเกิดใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยในช่วงระหว่างปี 2553-2558 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 8 ต่อปี

ในขณะที่โลกมีประชากรมุสลิมอยู่กว่า ร้อยละ 28.3 หรือกว่า 2,000 ล้านคน จึงถือว่าความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลมีอยู่สูงมาก และคาดว่ากลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ ร้อยละ 60 ของจำนวนมุสลิมทั้งหมดทั่วโลก จะเป็นกลุ่มฐานผู้บริโภคมุสลิมขนาดใหญ่ในปี 2573

เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลกส่วนใหญ่ไม่ใช่ประเทศที่เป็นมุสลิม แต่เป็นประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เนเธอร์แลนด์ จีน และเยอรมนี ในขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 10 ของโลก

โดยสินค้าอาหารฮาลาลที่ประเทศไทยส่งออก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล ขนมปังกรอบ เนื้อไก่ ปลาแช่แข็ง กุ้ง ทูน่ากระป๋อง น้ำผัก ผลไม้ ผลไม้แปรรูป เครื่องปรุงรส เป็นต้น

 

สถาบันอาหาร ตระหนักว่า

อาหารฮาลาลเป็นตลาดอาหารที่มีศักยภาพ ทั้งในเรื่องขนาดตลาดและการเติบโต เนื่องจากจำนวนผู้บริโภคชาวมุสลิมที่มีมากเกือบ 2,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก ล่าสุดในปี 2557 กลุ่มประเทศมุสลิม (Organization of Islamic Cooperation : OIC) ที่มีจำนวนสมาชิก 57 ประเทศ มีการนำเข้าอาหารมูลค่าสูงถึง 164,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูงถึงร้อยละ 16 ต่อปีในช่วง 5 ปีหลัง ซึ่งสูงกว่ามูลค่าตลาดอาหารโดยรวมที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีเท่านั้น

ด้วยศักยภาพด้านวัตถุดิบการเกษตร ความพร้อมของผู้ประกอบการไทย มีองค์กรศาสนาที่เข้มแข็งและมีเอกภาพในการทำหน้าที่ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล  รวมทั้งแรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นปัจจัยที่ทำให้เราสามารถยกระดับสินค้าอาหารฮาลาลไปสู่การเป็นผู้นำในระดับโลกได้ ล่าสุดในปี 2557 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารไปยังประเทศมุสลิมอันดับที่ 10 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านบาท หรือประมาณ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสัดส่วนราวร้อยละ 22 ของมูลค่าส่งออกอาหารโดยรวม และมีอัตราขยายตัวร้อยละ 8 ต่อปีในช่วง 5 ปีหลัง

และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 สถาบันอาหาร โดย นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดย พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย สถาบันอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการ ด้านมาตรฐานกิจการฮาลาล และด้านการวิจัยและพัฒนา อันจะเสริมสร้างอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในประเทศไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มประเทศมุสลิมและนานาประเทศ


อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online